การเทียบตำแหน่งและวิทยฐานะบุคลากรทางการศึกษากับข้าราชการพลเรือน



คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การเทียบตำแหน่งและวิทยฐานะบุคลากรทางการศึกษากับข้าราชการพลเรือน


ศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.

ครั้งก่อนได้พูดถึงเรื่อง ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงไปแล้ว ในวันนี้จะขอพูดถึงการแต่งตั้งประธานกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะ ซึ่งตามกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 ข้อ 3 กำหนดให้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้แต่งตั้งจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการฝ่ายพลเรือน และกำหนดให้ประธานกรรมการต้องดำรงตำแหน่งและมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่า หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถือว่าหลักการนี้เป็นสาระสำคัญ หากมีการแต่งตั้งโดยไม่ถูกต้องตามที่กำหนด จะมีผลทำให้การสอบสวนทางวินัยทั้งหมดนั้นเสียไปและต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ถูกต้อง

เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งประธานกรรมการสอบสวน เป็นไปอย่างถูกต้องและมีความชัดเจนในทางปฏิบัติที่ ก.ค.ศ.ได้มีมติเทียบตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการทางวินัย ดังนี้

1.ตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ได้แก่ ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ประเภทบริหารระดับสูง และตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ประเภทวิชาการ ระดับศาสตราจารย์ ประเภทบริหาร ระดับอธิการบดี

2.ตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ได้แก่ ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทบริหารระดับต้น และตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ประเภทวิชาการ ระดับรองศาสตราจารย์ ประเภทบริหาร ระดับรองอธิการบดี

3.ตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ได้แก่ ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ ประเภทอำนวยการระดับต้น และตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ประเภทวิชาการ ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์

4.ตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการ ได้แก่ ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค.(2) และตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการระดับชำนาญการ

เมื่อได้ทราบกันอย่างนี้แล้ว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแต่งตั้งประธานกรรมการสอบสวนวินัย กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่เกิดปัญหาข้อผิดพลาดในทางปฏิบัติในภายหลัง และการเทียบตำแหน่งดังกล่าวเป็นการเทียบเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการทางวินัย ตามกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวน พิจารณา พ.ศ.2550 เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถนำไปเทียบเพื่อขอรับเงินวิทยฐานะเพื่อสิทธิประโยชน์อื่นแต่อย่างใด พบกันใหม่วันจันทร์หน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

โพสต์เมื่อ 26 มี.ค. 2555 อ่าน 23104 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)