ขรก.เฮ ใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกันเงินกู้ได้



ข้าราชการเฮ ใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกันเงินกู้ได้ตั้งแต่ ส.ค.นี้ หลังกรมบัญชีกลางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว


เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มีรายงานข่าวจากกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าวันที่ 4 ก.ค.นี้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) โครงการกู้เงินกับสถาบันการเงิน โดยนำสิทธิในบำเหน็จตกทอด ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง คาดว่าเมื่อลงนามกับสถาบันการเงินแล้ว จะสามารถใช้บำเหน็จตกทอดดังกล่าว เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ไม่เกินเดือนส.ค.นี้เป็นต้นไป

ขณะนี้กรมบัญชีกลาง ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องระบบการตรวจสอบสิทธิ การตรวจสอบข้อมูล ระหว่างกรมบัญชีกลาง ส่วนราชการ และธนาคารเรียบร้อยแล้ว โดยกรมบัญชีกลางจะออกหนังสืออนุมัติรับรองสิทธิวงเงินบำเหน็จตกทอด ส่งให้ผู้รับบำนาญตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ เพื่อนำไปใช้เป็นเอกสารประกอบการขอกู้เงินกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ตามกฎหมายจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดจำนวน 30 เท่า ของบำนาญรายเดือนให้กับทายาทเมื่อผู้รับบำนาญเสียชีวิต แต่ได้แก้กฎหมาย โดยแบ่งเงินดังกล่าวให้ผู้รับบำนาญนำมาใช้ก่อน 15 เท่าของเงินบำนาญ เมื่อตอนออกจากราชการ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ถ้าเกิน ส่วนที่เกินจะไปขอรับได้อีกครั้งเมื่ออายุ 65 ปีบริบูรณ์ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 400,000 บาท เงินส่วนนี้ เรียกว่า เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินส่วนที่เหลืออีก 15 เท่า จะเป็นเงินบำเหน็จตกทอดที่เหลือไว้ให้กับทายาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะนำไปเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ที่เรียกกันว่า บำเหน็จค้ำประกัน นับเป็นประโยชน์กับผู้รับบำนาญ เพราะโดยปกติผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะไม่ได้รับอนุมัติให้ทำนิติกรรมทางการเงิน เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคาร

“กรมบัญชีกลางได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับคือพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 สำหรับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 สำหรับผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. รวมทั้งออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ เป็นหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ และเงื่อนไข ในการนำบำเหน็จตกทอด ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน โดยประกาศกฎกระทรวงออกไปแล้ว 1 ฉบับ สำหรับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. ส่วนอีกฉบับสำหรับผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. กำลังพิจารณาเพื่อจะประกาศออกเป็นกฎกระทรวงเช่นเดียวกัน”

สำหรับธนาคารทั้ง 13 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)



ที่มา - เดลินิวส์ออนไลน์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=420&contentID=148325  

โพสต์เมื่อ 30 มิ.ย. 2554 อ่าน 30369 | 5 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2719]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1086]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5663]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2435]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)