กว่าจะเป็นครู : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.2

กว่าจะเป็นครู : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.2
 
ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ครูไทยทั่วประเทศกำลังสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกันอย่างขะมักเขม้น กว่าจะเป็นครูไม่ง่ายเลยจริง ๆ แล้วประเทศอื่น ๆ มีการคัดเลือกครูแบบไหนกันบ้าง?
 
จากผลสำรวจตามการจัดอันดับระบบการศึกษาของโครงการ The World Top 201 Project เลือก 5 อันดับแรกมาที่ระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกของปี 2022 เราคัดมาให้ดูกันว่าประเทศที่การศึกษาดีขนาดนี้เขาคัดเลือกครูกันยังไง? สรุปมาให้อ่านกันครับ
 
อันดับ 1 เป็นของใครไปไม่ได้นอกจากฟินแลนด์ที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษามายาวนาน ด้วยคะแนนเฉลี่ยทุกด้านเกือบสูงที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิก OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ที่ร่วมการประเมิน PISA การศึกษาของฟินแลนด์นั้นเต็มไปด้วยคุณภาพในการเลือกสรร และอาชีพครูได้รับการเคารพอย่างสูงในสังคม การสมัครเข้าศึกษาต่อในระบบคณะศึกษาศาสตร์ของฟินแลนด์มีผู้สมัครเข้าเรียนถึง 20,000 คนต่อปี รับเพียง 4,000 คนเท่านั้น ถือเป็นอัตรา 1 ต่อ 5 เลยทีเดียว ในสาขาวิชาประถมศึกษาต้องร่วมสอบ VAKAVA หรือการทดสอบระดับประเทศ โดยต้องตอบคำถามจากบทความวิจัยจำนวนห้าถึงแปดบทความโดยให้อ่านบทวิจัยหกสัปดาห์เพื่อวิเคราะห์ก่อนร่วมการทดสอบและเลือกมหาวิทยาลัย 1 ใน 8 แห่งสำหรับการศึกษาต่อ หลังจากสอบวิเคราะห์ผ่านแล้วต้องทำการสอบสัมภาษณ์แบบรายบุคคลและเข้าสอบสัมภาษณ์แบบกลุ่มที่ต้องทำการจัดการเรียนการสอนและทำงานเป็นทีมกับกลุ่มที่ได้รับเพื่อพิจารณาเข้าเรียนในคณะต่อไป ครูของฟินแลนด์ต้องจบปริญญาโท ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์เป็นหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโทต้องเรียน 5 ปี ฟินแลนด์ให้ความสำคัญแก่การวิจัยและการสืบเสาะหาความรู้ของครู ผู้เรียนจำนวนมากจึงศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ต่อไป ตลอดจนการฝึกอบรมครูของฟินแลนด์นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายและเป็นอาชีพที่รายได้สูงอีกด้วย
 
 
อันดับที่ 2 เกาหลีใต้ ได้สร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ มุ่งพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเป็นสังคมแห่งความรู้ (Knowledge-based Society) สร้างสภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลและประชาชนในประเทศให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากทำให้การแข่งขันในเกาหลีสูงมาก การคัดเลือกครูจึงสูงตามไปด้วย เริ่มตั้งแต่คัดเข้าเรียนจากเด็กหัวกะทิที่เก่งที่สุดจากคะแนนสอบสูงสุด 5% เท่านั้นที่มีสิทธิเข้าศึกษาในสถาบันผลิตครู ซึ่งแบ่งออกเป็นวิทยาลัยครู 4 ปี ผลิตครูประถมศึกษาไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดการเรียนแต่หลังจากเรียนจบแล้วต้องเข้าสอนใช้ทุนโรงเรียนประถมอย่างน้อย 4 ปี และวิทยาลัยวิชาการศึกษาสำหรับสอนเด็กมัธยม ใช้หลักสูตร 4 ปี เช่นกัน อีกทั้งยังมี Korea National University of Education มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการศึกษาที่ฝึกอบรมครูและนักวิชาการศึกษาออกมาโดยเฉพาะอีกด้วย ในการเข้าสอนของครูทุกคนจะมีการประเมินคุณภาพเทอมละ 2 ครั้งจากครูใหญ่และเพื่อนร่วมงานอย่างน้อย 3 คน อีกทั้งยังพิจารณาผลสำรวจจากนักเรียนและผู้ปกครองร่วมด้วย
 
ภาพจาก : https://www.instagram.com/qjawe/
 
 
#showads 
อันดับที่ 3 เดนมาร์ก อาจเป็นประเทศที่ไม่ได้ค่อยได้ยินชื่อเสียงด้านการศึกษามากเท่าประเทศอื่น แต่ก็ถือว่าเป็นผู้นำด้านการศึกษาด้วยอัตราการรู้หนังสือ 99% ของคนในประเทศทำให้อาชีพครูในเดนมาร์กก็ได้รับความนิยมเช่นกัน การเป็นครูในเดนมาร์กต้องใช้เวลาในการศึกษาสี่ปีในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต โดยจะเข้าศึกษาได้นั้นต้องมีคะแนนเฉลี่ยตอนจบมัธยมสูงกว่า 7.0 จะสามารถเข้าโควตาในรอบแรกได้ ในโควตารอบที่สองนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยจะมีการสอบสัมภาษณ์และปรับพื้นฐานของคุณสมบัติทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในตอนที่เข้าศึกษาจะให้เลือกวิชาที่ต้องการสอน 3 วิชา แบ่งเป็นวิชาหลัก คือ ภาษาเดนมาร์ก คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ วิชารองให้เลือกได้ 2 วิชา คือ เยอรมัน ดนตรี ชีววิทยา พลศึกษา อังกฤษ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศึกษา งานฝีมือและการออกแบบ และศาสนา สำหรับครูที่ต้องการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะมีเกณฑ์การคัดเลือกพิเศษ แบ่งระดับชั้นที่ต้องการสอนออกเป็นเกรด 1-6 และ เกรด 4-10 โดยครูประถมและมัธยมตอนต้นจะเรียนและฝึกงานทั้งหมดสี่ปีกับมหาวิทยาลัยและจบปริญญาตรี แต่หากเป็นครูมัธยมตอนปลายจะต้องสำเร็จหลักสูตรระดับปริญญาตรีสามปีและหลักสูตรระดับสูงกว่าปริญญาตรีสองปีเป็นการศึกษาเพิ่มเติมในด้านวิชาที่ตัวครูเลือกสอนแล้วสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นครูได้
 
อันดับที่ 4 ฮ่องกง ถือว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าครูที่มีคุณภาพจะทำให้ประชากรของฮ่องกงมีคุณภาพและพัฒนาไปอย่างมั่นคง รัฐบาลเริ่มพัฒนาครูจากการเพิ่มเงินเดือนของครูและให้สวัสดิการมากมาย ทั้งปัจจัยในการดำรงชีพ ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถ เงินเดือนเริ่มต้นของครูในฮ่องกงเริ่มที่ 19,000 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 85,000 บาทไทย) ทำให้คนจำนวนมากต้องการเป็นครูการแข่งขันคัดเลือกครูจึงสูง ธรรมชาติคัดสรรคนเก่งที่ต้องการสมัครเรียนศึกษาศาสตร์หลังจากเข้าเรียนและฝึกอบรมครูในหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และมีความประสงค์จะสอนในโรงเรียนจะต้องทำการลงทะเบียนครูก่อนเพื่อได้รับใบประกอบวิชาชีพรับรองคุณภาพการสอน และกำหนดว่าผู้ที่จะลงทะเบียนครูได้จะต้องผ่านการฝึกสอนและสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาด้านการศึกษาขึ้นไปหลังจากลงทะเบียนครูแล้วจึงจะสามารถเข้าไปสอนในโรงเรียนได้ และในปัจจุบันครูในฮ่องกงที่ต้องการเข้าสอนในโรงเรียนของรัฐจะต้องสอบด้านกฎหมายซึ่งเป็นข้อสอบของราชการในฮ่องกง การทดสอบปัจจุบันเป็นเอกสารสองภาษาที่ประกอบด้วยคำถามแบบปรนัย 15 ข้อ เป็นการทดสอบความรู้ของผู้สมัครเกี่ยวกับกฎหมายพื้นฐาน ผู้สมัครจะต้องได้คะแนนขั้นต่ำ 53 จาก 100 (หรืออย่างน้อย 8ใน 15) จึงจะผ่าน ผลการสอบผ่านเป็นแบบถาวรและสามารถใช้สมัครงานราชการทั้งหมดในฮ่องกงได้ โดยผู้ที่ถูกกำหนดให้สอบคือครูที่จบการศึกษาใหม่และมีการย้ายงานในปีนี้ และในปีต่อ ๆ ไปทุกปี ครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 1,000-2,000 คน ต้องเข้ารับการทดสอบ และในอนาคตจะมีการขยายมาตรการให้ครอบคลุมครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนอนุบาลต่อไป
 
ภาพจาก : https://undubzapp.com/
 
อันดับสุดท้ายที่ 5 กับ สหราชอาณาจักร ที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาติดอันดับโลกมาตลอด กว่าจะเป็นครูต้องผ่านการทั้งการเรียน การฝึกอบรมและการสอบ Qualified Teacher Status – QTS เพื่อรับใบวิชาชีพครู โดยจะแบ่งเป็น 2 ทางหลัก ๆ คือหากเป็นครูประถมจะต้องเข้าเรียนหลักสูตรครู 4 ปีจากคณะศึกษาศาสตร์ และเข้าฝึกอบรมครูในโปรแกรม Initial Teacher Training (ITT) โดยจะให้ฝึกสอนเป็นเวลา 1 ปี ตามโรงเรียน 3 แห่ง ที่ละ 6-8 สัปดาห์ ได้ฝึกทำหน้าที่ครูจริง และมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาระหว่างฝึกอบรม แต่หากอยากสอนในระดับมัธยมศึกษาส่วนมากจะต้องเรียนในคณะวิชานั้นโดยตรง เช่นหากต้องการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในมัธยมปลายการเรียนคณะเคมีในระดับปริญญาตรีก่อนที่จะศึกษาต่ออีก 1 ปีเพื่อรับประกาศนียบัตรบัณฑิตด้านการศึกษา (PGCE) และเข้าฝึกอบรมครูในโปรแกรม Initial Teacher Training (ITT) ก่อนจะสอบใบประกอบวิชาชีพ Qualified Teacher Status – QTS เพื่อเข้าสอนเป็นครูในโรงเรียนของสหราชอาณาจักร อีกทั้งในบางรัฐของอังกฤษเช่น สกอตแลนด์ คุณครูที่ประสงค์จะสอนในสกอตแลนด์จะต้องลงทะเบียนกับ General Teaching Council for Scotland (GTCS) ดำเนินการโดยไม่ขึ้นกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการสร้างและทบทวนมาตรฐานการศึกษาและมาตรฐานการฝึกอบรมสำหรับครู ครูทุกคนในสกอตแลนด์ต้องลงทะเบียนกับ GCTS เพื่อให้เป็นครูที่ถูกต้องตามกฎหมายและในแต่ละรัฐของอังกฤษนั้นมีเงื่อนไขอื่น ๆ แตกต่างไปเล็กน้อยตามนโยบายการศึกษาของรัฐต่าง ๆ แต่เส้นทางเป็นครูยังเป็นมาตรฐานเดียวกันกับรัฐบาลกลาง
 
ไทยเราเองก็มีมาตรฐานในการสอบคัดเลือกครู จากสถิติยอดสมัครเข้าสอบของปี 2564 พบว่ามีผู้สมัครสอบกว่า 1.7 แสนคน แต่รับเพียง 1.1 หมื่นคนทั่วประเทศไทยเท่านั้น และในหลายพื้นที่ยังขาดแคลนครู ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ทั้งที่มีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก อ้างอิงจากผลสำรวจของเด็กมัธยมปลายที่ยื่นสมัครต่อมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS63 พบว่าคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ไม่ติด 1 ใน 5 อันดับคณะยอดนิยมที่นักเรียนอยากเรียนทั้ง ๆ ที่ผลสำรวจอาชีพในฝันของเด็กอายุ 7-14 ปีของปี 2564 พบว่าครูเป็นอาชีพในฝันอันดับที่ 2 ของเด็กไทย เป็นคำถามที่ทำให้ฉุกคิดได้ว่า ครูในเมืองไทยถูกให้ความสำคัญไม่มากพอเมื่อเทียบกับต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาคนที่จะเป็นอนาคตของชาติหรือไม่?
 
อ้างอิง
https://ngthai.com/cultures/37841/childrendream/
https://www.bangkokbiznews.com/social/941960
https://www.matichon.co.th/education/news_2772915
https://xscholarship.com/th/top-10-education-systems-in-the-world/
https://www.edb.gov.hk/en/teacher/qualification-training-development/qualification/teacher-training-qualifications/index.html
https://www.edb.gov.hk/en/teacher/qualification-training-development/qualification/teacher-registration/index.html
https://www.scmp.com/yp/discover/article/3156722/hot-topics-new-hong-kong-teachers-required-pass-basic-law-test
http://backoffice.onec.go.th/uploads/Book/604-file.pdf
https://th.wukihow.com/wiki/Become-a-Teacher-in-the-UK

ขอบคุณข้อมูลจาก www.attanai.com

  

โพสต์เมื่อ 6 ก.ค. 2565 อ่าน 4,391 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ