ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP. 1

สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP. 1 ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย

 
วนกลับมาถึงฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันอีกครั้ง ช่วงเวลาที่เด็กทุกคนต้องใช้ความพยายามทั้งหมดตลอดปีการศึกษาของตัวเองในการติวเข้ม เพื่อเข้าสู้ในสนามสอบแข่งขันสู่คณะและมหาวิทยาลัยที่ฝันไว้ ถือเป็นก้าวแรกของการสอบครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต ทั้งความฝันของตัวเองและความคาดหวังของผู้ปกครองที่ส่งเสียให้เรียนพิเศษมากมาย ในบางประเทศถือเป็นวาระแห่งชาติ วันตัดสินชะตาชีวิตต่อจากนี้และอนาคตการทำงานที่แบ่งระดับจากมหาวิทยาลัยที่สอบผ่านกันเลยทีเดียว แต่ละที่ทั่วโลกเป็นแบบไหนบ้าง วันนี้ขอยกตัวอย่าง 6 ประเทศมาสรุปให้ครับ
 
 
 
เริ่มต้นที่บ้านเรากันก่อนอย่างประเทศไทยที่มีประเด็นอ่อนไหวเรื่องการสอบ โควิด-19 เข้ามาเป็นอุปสรรคจนทำให้เด็กที่โชคร้ายป่วยเป็นโควิดหมดสิทธิ์เข้าสอบกันเลย ซึ่ง ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสมัครสอบ TCAS65 ให้เหตุผล 3 ข้อว่า
  • ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคปี 58 กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือมีโรคติดต่อจะไม่สามารถออกมาจากสถานที่กักตัวได้ เพื่อลดการติดต่อ
  • การจัดการสนามสอบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ฉะนั้นการจัดสอบในโรงพยาบาลจึงไม่อาจจัดให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงไม่สามารถนำข้อสอบที่ปนเปื้อนเชื้อโควิดไปบริหารจัดการได้
  • การใช้ข้อสอบคนละชุด ในกรณีหากมีการจัดสอบรอบ 2 จะทำให้มีความได้เปรียบ-เสียเปรียบ เนื่องจากเวลาอ่านหนังสือไม่เท่ากันและข้อสอบคนละชุดกัน อาจไม่โปร่งใส
 
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้ที่ขาดสอบสามารถเลือกคณะต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้คะแนนสอบได้มากกว่า 1,600 เงื่อนไข หรือ นักเรียนอาจต้องรอสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้านั่นเอง โดยประเทศไทยของเรามีระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ชื่อว่า TCAS เข้ามาดูแลการต่อระดับอุดมศึกษาของเด็กไทยทั่วประเทศรวมมหาวิทยาลัยไว้ทั้งหมด 82 แห่ง ดำเนินการภายใต้ระบบ myTCAS ในการจัดการสิทธิ์การสมัครทั้ง 4 รอบ โดยในรอบ TCAS65 นี้เด็กนักเรียนต้องเข้าสอบผ่านระบบสอบกลาง คือ GAT PAT วิชาสามัญและวิชาเฉพาะก่อนที่จะนำคะแนนมาใช้ยื่นในแต่ละรอบตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนดทั้ง 4 รอบได้แก่
 
1. Portfolio เป็นรอบความสามารถพิเศษ ยื่นตรงกับมหาวิทยาลัยใช้แฟ้มสะสมผลงาน, GPAX (เกรดเฉลี่ย) 4 หรือ 5 ภาคเรียน (บางโครงการ) ,สอบสัมภาษณ์ และมีการทำข้อสอบในบางคณะ
 
2. Quota โควตาตามกฎเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น โควตาโรงเรียนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โควตาเรียนดี / มีความสามารถพิเศษ, โควตาเขตพื้นที่, โควตากระจายโอกาสให้เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือโควตารูปแบบต่าง ๆ ใช้คะแนนสอบกลาง (GAT, PAT, วิชาสามัญและวิชาเฉพาะ) อาจมีการใช้ GPAX (เกรดเฉลี่ย) แฟ้มสะสมผลงานและมีการทำข้อสอบในบางคณะ
 
3. Admission รอบรับตรงร่วมกันเปิดพร้อมกันทุกมหาวิทยาลัยกว่า 82 แห่ง โดยยื่นผ่านโดยประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ใช้เพียงคะแนนสอบกลาง (GAT, PAT, วิชาสามัญและวิชาเฉพาะ) ให้มหาวิทยาลัยพิจารณาก่อนส่งให้ ทปอ. ประมวลและประกาศผล
 
4. Direct Admission รอบเก็บตกสุดท้ายเปิดบางมหาลัยเกณฑ์และเงื่อนไขขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย
 
ภาพจาก hallyukstar.com
 
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้ระบบสอบกลางวันนี้ ยกตัวอย่างประเทศที่เคร่งเครียดกับการสอบที่ทั้งประเทศให้ความสำคัญอย่าง เกาหลีใต้ ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติทั้งประเทศในวันสอบห้างสรรพสินค้าและตลาดหลักทรัพย์จะเปิดช้ากว่าปกติ 1 ชั่วโมง ในช่วงการทดสอบการฟังภาษาอังกฤษจะห้ามเครื่องบินบินผ่านเพราะเสียงเครื่องบินอาจจะรบกวนการสอบได้ รวมถึงระบบขนส่งมวลชนในประเทศจะคอยบริการรับ-ส่งนักเรียนให้ทันช่วงเวลาสอบ แถมสำนักข่าวทุกช่องจะคอยรายงานข่าวการสอบทั้งวัน ระบบสอบกลางนั้นคือ College Scholastic Ability Test (CSAT) หรือที่หลายคนรู้จักว่า “ซูนึง (수능)” เป็นการสอบพร้อมกันทั้งประเทศจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 เดือนพฤศจิกายนของทุกปีใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมง โดยวิชาที่จัดให้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ วิชาภาคบังคับได้แก่ ภาษาประจำชาติ คณิตศาสตร์ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์เกาหลี และวิชาเลือก ได้แก่ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์และอาชีวศึกษา สามารถเลือกสอบได้มากที่สุดหมวดละ 2 วิชา และภาษาต่างประเทศ แบ่งออกเป็น ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษารัสเซีย ภาษาอาหรับ ภาษาเวียดนามพื้นฐาน และ อังจา (อักษรจีน-เกาหลี) โดยนักเรียนจะต้องเลือกสอบ 1 วิชา หลังสอบจะประกาศผลทันที และให้เด็กนำคะแนนไปยื่นตามมหาวิทยาลัยที่ต้องการสามารถยื่นได้ทั้งรัฐบาลและเอกชน เด็กเกาหลีต้องสอบซูนึงทุกคนเนื่องจากทุกมหาวิทยาลัยใช้คะแนนซูนึงเป็นหลักประกอบหากสอบไม่ผ่านสามารถสอบได้ใหม่ในปีหน้า ไม่จำกัดอายุในการสอบ เห็นได้ชัดว่าการสอบและการเรียนของเด็กเกาหลีถือว่าหนักหน่วงมาก เด็กเกาหลีส่วนมากเริ่มติวการสอบซูนึงตั้งแต่เรียนมัธยมต้น และยังมีโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมตัวสอบซูนึงตั้งแต่ระดับอนุบาล หากติดมหาวิทยาลัยในกลุ่ม SKY ที่เป็นสุดยอดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของเกาหลี ซึ่งได้แก่ Seoul National University, Korea University และ Yonsei University ได้จะเป็นก้าวแรกที่สดใสในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย
ประเทศต่อมาที่เข้มข้นไม่แพ้กันอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ใช้ระบบสอบกลางเช่นกันคือ The National Higher Education Entrance Examination หรือ Gaokao (อ่านว่า เกาเข่า) การสอบจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 7-8 มิถุนายนของทุกปี จัดสอบทั้งหมด 2 วันสำหรับวิชาที่จำเป็นต้องสอบมีทั้งหมด 4 วิชาแบ่งเป็นวิชาบังคับ วิชาภาษาจีน วิชาคณิตศาสตร์ ​วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาเลือกสอบอย่างวิชาทางสายศิลป์ สอบวิชาภูมิศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ และวิชาการเมืองการปกครองของประเทศจีน และสายวิทย์ คือ วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี และวิชาชีวะ จะมีการสอบพิเศษเกี่ยวกับภาษาที่จัดสอบในอีกวันหนึ่งจัดสอบเพียงบางแห่งเท่านั้น เช่น วิชาภาษามองโกล ภาษาเกาหลี ฯลฯ การสอบ Gaokao มีคะแนนรวม 750คะแนน ถ้าคะแนนสูงก็มีโอกาสที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ 5 อันดับ ได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติจีน มหาวิทยาลัยจงซาน และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ส่วนภาควิชาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากสถิติการค้นหา 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิศวกรรมหุ่นยนต์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิศวกรรมด้านฐานข้อมูลใหญ่ (Big Data) และเอกวิชาทางด้านการแพทย์ การเตรียมตัวสอบของโรงเรียนในจีนเข้มมากเนื่องจากการแข่งขันเรื่องหน้าตาทางสังคม และการจัดอันดับโรงเรียนทำให้ในช่วงปีสุดท้ายของมัธยมอาจารย์ประจำชั้นจะติดตามนักเรียนทุกคนอย่างใกล้ชิด มีการติวในโรงเรียนอย่างหนักหลังจากเลิกเรียนแล้วบางโรงเรียนยังจัดให้นักเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายต้องอยู่โรงเรียนเพื่ออ่านหนังสือและจัดติวหลังเวลาอาหารเย็น โดยปัญหาการแข่งขันสูงในจีนทำให้มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่พอมีฐานะตัดสินใจส่งลูกหลานตัวเองไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงความกดดันจากการสอบส่งผลให้เกิดภาวะสมองไหลเกิดขึ้นในจีนอย่างมาก
 
ประเทศต่อมาที่ขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีที่สุดติดอันดับโลกอย่าง ฟินแลนด์ก็มีการสอบผ่านระบบกลางเช่นกัน โดยจัดสอบ 2 ครั้งใน 1 ปี คือ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง มีระบบการสอบที่ชื่อว่า Matriculation Examination จะจัดให้สอบทั้งหมด 4 วิชาแบ่งเป็นวิชาบังคับ 3 ตัว คือ ภาษาฟินแลนด์และภาษาสวีเดน ภาษาต่างประเทศ 1 ภาษา วิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งภาษาต่างประเทศและคณิตศาสตร์สามารถเลือกระดับความยากในการสอบได้เอง และวิชาเลือกให้เลือก 13 วิชา สามารถเลือกสอบกี่ตัวก็ได้อย่างน้อย 1 ตัว ส่วนมากเป็นวิชาเกี่ยวกับคณะที่สนใจศึกษาต่อ ข้อดีของการสอบคือหากผลคะแนนออกมาไม่ดียังมีเวลาให้แก้ตัวอีก 2 สนาม ในฤดูกาลหน้าและเลือกผลคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ในการสมัคร
 
 
นอกจากระบบกลางแล้วยังมีบางประเทศใช้มาตรฐาน A-Level เป็นตัวสอบจบการศึกษาเพื่อนำคะแนนสอบไปยื่นเข้ามหาลัย A-Level มีชื่อเต็มว่า The General Certificate of Education Advanced Level Certificate – GCE A Level โดยให้เลือกเรียน 3-4 วิชาจากจำนวนที่หลากหลายวิชาของ A-Level ที่โรงเรียนเปิดสอนซึ่งวิชาเหล่านี้จะต้องเกี่ยวข้องกับคณะที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาจึงต้องตรวจสอบก่อนว่าสาขาและมหาวิทยาลัยที่อยากเข้าศึกษาต่อกำหนดไว้อย่างไร และจะมีการสอบวัดผลคะแนนออกมาเป็นเกรด A* A B C D E ในมหาวิทยาลัยชั้นนำจะกำหนดเกรดไว้หากอยากติดมหาลัยดี ๆ ต้องได้เกรด A ทุกวิชา ข้อดีคือสามารถขอสอบใหม่ได้จนกว่าจะได้เกรดที่ต้องการ
 
ยกตัวอย่างให้ดูกันกับประเทศอังกฤษที่ใช้ A-Level เป็นคะแนนหลักในการยื่นศึกษาต่อปริญญาตรี โดยขั้นต่ำจะพิจารณาคะแนน A-Level ที่เกรด C ขึ้นไปรวมกับ ใบรับรองผลการเรียน ใบรับรองจากสถาบันการศึกษา ผลคะแนน IELTS/TOEFL (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง) จดหมายแนะนำจากอาจารย์หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ เรียงความที่จะทำให้กรรมการผู้คัดใบสมัครรู้จักเรามากขึ้นและ Resume จากนั้นยื่นความประสงค์ศึกษาต่อผ่านระบบ Universities and Colleges Admissions Service หรือที่เรียกว่า “UCAS” สามารถเลือกมหาลัยที่ต้องการศึกษาต่อได้ 5 แห่ง UCAS จะส่งข้อมูลให้มหาลัยพิจารณาและส่งจดหมายตอบรับกลับมา หากติดมากกว่า 1 ที่นักเรียนมีสิทธิ์เลือกได้ว่าอยากได้ที่ไหนมากที่สุด
 
ประเทศสุดท้ายขยับเข้ามาใกล้บ้านเรามากขึ้นอย่างสิงคโปร์ที่ใช้ระบบ A-Level มาเป็นคะแนนในการยื่นตรงกับมหาวิทยาลัยเช่นกัน แต่ที่พิเศษกว่าคือ ระดับการศึกษาภาคบังคับของสิงคโปร์จะให้เรียนเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น และจะมีทางแยกให้เลือกว่าต้องการไปต่อ 2 สาย ได้แก่ 4 Year Normal ที่จะศึกษาต่อในระดับสายอาชีพ หลังจบ 4 ปีจะต้องสอบ N-Level เพื่อเรียนต่อ 1 Year Foundation หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคและอีกอย่างหนึ่งคือ 4 Year Express จะเป็นการเรียนต่อเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยโดยหลังจากจบ 4 ปีต้องสอบ O-Level เพื่อเข้าศึกษาต่อ Junior College อีก 2 ปี เทียบเท่ากับการเรียน A-Level ในประเทศอังกฤษ วิชาที่เรียนจะเป็นวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อในคณะต่าง ๆ หลังจากเรียนจบแล้วเข้าสอบประมาณเกรดด้วยระบบ A-Level และนำคะแนนนี้ไปยื่นตรงกับมหาวิทยาลัยที่ต้องการศึกษาต่อ
 
ยังมีอีกหลายรูปแบบในบางประเทศที่ใช้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่แตกต่างกันไป จริง ๆ แล้วระบบการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นตัวสะท้อนสังคมออกมาจากแนวคิดการศึกษาของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี บางประเทศให้ความสำคัญกับอันดับของมหาวิทยาลัยว่าถือเป็นหน้าตาและฐานะทางสังคมส่งผลต่อความเครียดและสุขภาพจิตเด็กในประเทศอย่างมาก สะท้อนความเหลื่อมล้ำอีกมากมายเช่นองค์ความรู้ของมหาลัยท็อประดับประเทศดีกว่ามหาลัยทั่วไปอย่างนั้นหรือ? บางครอบครัวที่ฐานะดีเด็กก็ได้รับการเรียนพิเศษที่ติวเข้มมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ หรือในบางประเทศให้ความสนใจในการปูพื้นฐานเพื่อวิชาชีพตั้งแต่ชั้นมัธยมเพื่อการเรียนต่อในมหาลัยอย่างมีพื้นฐาน ระบบเหล่านี้ทำให้เรามองย้อนกลับไปหาคำตอบว่าเราพยายาม ทุ่มเท สอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเนื่องจากเหตุผลใดนอกจากการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และทำไมระบบการศึกษาถึงยังคงไม่เท่าเทียมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
อ้างอิง
https://www.smartmathpro.com/update-tcas65/
https://www.trueplookpanya.com/tcas/article/detail/87856
https://mgronline.com/china/detail/9630000073563
https://www.dek-d.com/studyabroad/45803/
https://www.dek-d.com/studyabroad/49778/
https://www.ylioppilastutkinto.fi/en/matriculation-examination/the-examination/structure-of-the-examination
http://www.si-englishbkk.com/study-guide/a-level-for-study-in-uk/
https://www.ucas.com/undergraduate/applying-university/ucas-undergraduate-when-apply
 
ขอบคุณข้อมูลจาก www.attanai.com
 

 

โพสต์เมื่อ 6 ก.ค. 2565 อ่าน 6,521 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ