การแถลงผลงาน 2 ปีของรัฐบาล (ด้านการศึกษา)

ทำเนียบรัฐบาล - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งคณะรัฐมนตรี ร่วมงาน "นายกรัฐมนตรีพบปะสื่อมวลชน" เนื่องในโอกาสแถลงผลงาน 2 ปีของรัฐบาล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2559 ณ ตึกสันติไมตรี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวแถลงผลงานรัฐบาล รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีทุกท่านร่วมชี้แจงผลการดำเนินงานในกลุ่มงานที่รับผิดชอบ

 
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า การบริหารงานของรัฐบาลในช่วงปีที่ 2 ที่ผ่านมา เป็นการขับเคลื่อนงานต่อจากปีแรก ซึ่งต้องเผชิญกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยรัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหาและบริหารงานตามหลักการบูรณาการ พร้อมกำหนดมาตรการในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งถือได้ว่าที่ผ่านมา มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ระยะต่อจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมแผนงานเพื่อเดินตาม Roadmap ระยะที่ 2 ที่จะเป็นช่วงของการปฏิรูป จึงขอให้คนไทยปรับตัวและรู้เท่าทันสถานการณ์โลก พร้อมขอให้ประชาชนช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่ออนาคต 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง 6 ท่าน ได้ร่วมแถลงผลงานตามลำดับกลุ่มที่รับผิดชอบ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้แถลงผลงานด้านการศึกษารอบ 2 ปี ซึ่งได้ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาใน 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ มีโครงการสำคัญคือ
  • โครงการนักเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี ซึ่งในปี 2559 สามารถดำเนินการปรับลดจำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จาก 11.60% เหลือ 3.94% และจะทำให้เหลือ 0% ในปี 2560
  • โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในปี 2558 ได้ดำเนินการในโรงเรียนนำร่องจำนวน 4,100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งพบว่านักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีค่าเฉลี่ยผลการทดสอบในภาพรวมสูงขึ้น ในส่วนปี 2559 จะมีการขยายผลอีก 19,997 แห่ง และขยายผลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 2560
  • การบูรณาการการสอนและการเรียนรู้ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM Education) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงบวก ซึ่งในปี 2559 ได้ดำเนินการในโรงเรียน 2,495 แห่ง และจะขยายผลให้ครบทุกโรงเรียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2564
  • การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนรู้ ซึ่งเดิมใช้เวลาเรียนภาษาอังกฤษเพียง 1 คาบ/สัปดาห์ ขณะนี้ได้ขยายเวลาเรียนเป็น 5 คาบ/สัปดาห์ โดยเน้นภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และจัดทำแอพพลิเคชันกว่า 260 เรื่องบรรจุลงในสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
  • โรงเรียนประชารัฐ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม 69 หน่วยงาน โดยมีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ 7,424 แห่ง โดยในระยะแรกดำเนินการแล้ว 3,312 แห่ง ส่วนโรงเรียนที่เหลือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560
2) การผลิตและพัฒนาครู มีโครงการสำคัญคือ
  • การปรับเกณฑ์อัตรากำลัง ให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
  • การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มุ่งเน้นจัดการโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนลงมา จำนวน 827 แห่ง เพื่อให้เด็กได้เรียนรวมกันในโรงเรียนที่ดีและอยู่ใกล้บ้าน ภายใต้ชื่อโครงการ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน” โดยปี 2559 มีแผนจะดำเนินการในโรงเรียน 421 แห่ง และปี 2560 ในโรงเรียนอีก 406 แห่ง
  • การเกลี่ยอัตรากำลังครู จำนวน 68,000 อัตรา จะดำเนินการเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่เกินไปให้โรงเรียนที่ขาดให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2559
  • การจัดทำแผนอัตรากำลัง 10 ปี เพื่อทดแทนอัตราครูที่เกษียณอายุราชการ
  • โครงการครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน โดยสรรหาครูเกษียณอายุราชการแล้ว ที่เป็นครูเก่ง มาปฏิบัติการสอนในสาขาวิชาที่ขาดแคลนในโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วในปี 2559 จำนวน 1,097 อัตรา และปี 2560 จำนวน 5,400 อัตรา
  • โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาวิชาเฉพาะและดึงคนเก่งมาเป็นครู โดยในปี 2559 มีแผนที่จะบรรจุให้เป็นข้าราชการครู 4,079 อัตรา และในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะมีดึงนักศึกษาที่เก่งให้มาเป็นครูไม่น้อยกว่า 44,200 อัตรา
  • การพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp English) เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างครูวิทยากร โดยการพัฒนาความรู้ สร้างทักษะ และเทคนิคการสอน เพื่อนำไปเผยแพร่และขยายผลให้กับครูอื่นในสังกัด ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาแล้วในช่วงแรก 6,000 คน ช่วงที่สอง 7,500 คน ทำให้ภายในปี 2561 มีครูภาษาอังกฤษที่ผ่านการอบรม 13,500 คน
  • ปรับระบบการอบรมและพัฒนาครู ซึ่งเดิมดำเนินการโดยส่วนกลาง แต่ได้มีการปรับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการวิเคราะห์ในเขตพื้นที่และพิจารณาประเด็นการอบรมเฉพาะเรื่อง ให้ตรงกับเป้าหมาย โดยส่วนกลางให้การสนับสนุนงบประมาณลงไปในพื้นที่เท่านั้น
3) การพัฒนาระบบการทดสอบ ประเมิน และประกันคุณภาพการศึกษา มีโครงการสำคัญคือ
  • การปฏิรูประบบทดสอบ โดยปรับลดการสอบ O-NET จากกลุ่มสาระการเรียนรู้จาก 8 กลุ่ม เป็น 5 กลุ่ม พร้อมปรับให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน การสอบปลายภาค และการสอบ O-NET ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • การเฉลยข้อสอบ O-NET ได้มีการเฉลยข้อสอบ O-NET พร้อมวิเคราะห์ผลการสอบในแต่ละสาระการเรียนรู้และแต่ละโรงเรียน เพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน
4) การผลิตและพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ มีโครงการสำคัญคือ
  • อาชีวศึกษาทวิภาคี ปัจจุบันมีสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วมจำนวน 426 แห่ง ร่วมกับผู้ประกอบการ จำนวน 13,686 แห่ง ซึ่งตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ทุกสถานศึกษาของ สอศ. จะร่วมจัดหลักสูตรอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างน้อย 1 สาขา
  • สหกิจศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ร่วมกับภาคเอกชน 14,428 บริษัท เพื่อส่งนักศึกษา 37,472 คน จากสถาบันอุดมศึกษา 127 แห่ง เข้าไปฝึกงานเพื่อได้รับประสบการณ์จริง โดยจะมีความร่วมมือกับโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เน้นการจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและความต้องการกำลังคน, การจัดตั้ง Excellent Model School สถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศด้านอาชีพ
  • Re-Profile สถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0
  • ปรับระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น โดยปรับให้ผู้เรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพสามารถเรียนข้ามสายได้ เช่น จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้, จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงได้ เป็นต้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น
  • ระบบทวิวุฒิ เป็นหลักสูตรเรียนร่วมระหว่างไทยกับต่างประเทศ เมื่อเรียนจบแล้วจะได้ทั้งวุฒิการศึกษาของไทย-ต่างประเทศ เพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการ เช่น โครงการร่วมไทย-ญี่ปุ่น, โครงการร่วมไทย-เกาหลี เป็นต้น
5) ICT เพื่อการศึกษา มีโครงการสำคัญคือ
  • ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ศธ.ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ต้องการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับทุกโรงเรียน โดยได้กำหนดเป้าหมายการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน 8,396 แห่งที่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง รวมทั้งโรงเรียนประชารัฐเฟสแรก 3,312 แห่ง ซึ่งมีโรงเรียนที่ยังขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีก 349 แห่ง ดังนั้น คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำร่วมกับภาคเอกชน ดำเนินการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้เสร็จต่อไป
  • จัดทำฐานข้อมูลกลางของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษา เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา
6) การบริหารจัดการ มีโครงการสำคัญคือ
  • การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เพื่อการดำเนินงานจัดด้านการศึกษาในระดับพื้นที่, การย้ายครู ผู้บริหาร ข้าราชการ, การให้ทุกส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมมีส่วนร่วมจัดการศึกษา, การจัดกระบวนการศึกษาของจังหวัด และเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การจัดการศึกษาให้กับเด็กตกหล่น ประเทศไทยได้รับเกียรติจากยูเนสโกให้เป็นเจ้าภาพ เพื่อการจัดทำ บันทึกปฏิญญาอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กตกหล่น ได้เตรียมการเพื่อติดตามเด็กตกหล่นให้กลับเข้ามารับการศึกษา ซึ่ง ศธ.ได้ส่งมอบ Model ให้ กศจ.นำไปปรับใช้แล้ว
  • การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา แก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และจัดสรรงบประมาณปี 2560 จำนวน 39,900 ล้านบาท สำหรับเด็กไทยจำนวน 7 ล้านคน
  • การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อแก้ปัญหา
  • การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2574) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเข้าถึงการศึกษา ความเท่าเทียม คุณภาพ ประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
 
 

นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น : ถ่ายภาพ
15/9/2559

 
ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก กระทรวงศึกษาธิการ 15 ก.ย.2559

 

โพสต์เมื่อ 17 ก.ย. 2559 อ่าน 131,894 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ