กรมอนามัย ย้ำ องุ่นไชน์มัสแคทยังคงปลอดภัย แนะเลือกกินผลไม้หลากหลายตามฤดูกาล ล้างผัก ผลไม้ตามคำแนะนำ มั่นใจทุกคำ ลดเสี่ยงสารพิษ

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวการตรวจพบสารตกค้าง “องุ่นไชน์มัสแคท” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวล และกระทบต่อพ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายองุ่นไชน์มัสแคท ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ประชาชนบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำ แต่อย่าลืมล้างผักผลไม้ให้สะอาดทุกครั้ง เพราะนอกจากจะช่วยลดสารเคมี หรือการตกค้างของยาฆ่าแมลง ยังช่วยทำความสะอาดลดการปนเปื้อนคราบดิน โคลนได้ด้วย การล้างผัก ผลไม้ 3 วิธี ดังนี้ 1) ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที (เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนน้อย) 2) แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาด 3) แช่ในโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ในอัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาด (เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนมาก) ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ จะช่วยลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง และเชื้อโรคในผัก ผลไม้ได้

ทั้งนี้ กรมอนามัยแนะนำให้ประชาชนบริโภคผลไม้อย่างหลากหลายและเลือกผลไม้ตามฤดูกาล สำหรับองุ่นนั้นมีหลายชนิดและหลายสี แต่ละชนิดมีคุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น องุ่นเขียว มีสารพฤกษเคมีที่เป็นแอนติออกซิแดนท์ อาทิ คาเทชิน (Catechin) และ เทอโรสติลบีน (Pterostilbene) ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และโรคหัวใจ องุ่นแดง มีสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและมะเร็ง อีกทั้ง ยังมีสารซาโปนิน (Saponin) ที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ป้องกันเนื้องอก และลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล ส่วนองุ่นดำ ช่วยเสริมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด มีการศึกษาพบว่าน้ำองุ่นดำช่วยเพิ่มระดับสารแอนติออกซิแดนท์ในเลือดและลดอนุมูลอิสระ

นอกจากนี้ กรมอนามัยยังแนะนำให้เลือกผลไม้ตามฤดูกาลอื่นๆ เช่น ฝรั่ง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะละกอ และกล้วยน้ำว้า เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน และควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารตามวิถีชีวิตปกติใหม่ (SAN & SAN Plus) เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา กรมอนามัย 26 ตุลาคม 2567 

โพสต์เมื่อ 29 ต.ค. 2567 อ่าน 356 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ