รศ.พญ.สุชาดา อินทวิวัฒน์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลายคนสงสัย จะก้าวเข้าสู่วัยทองอย่างมีคุณภาพ ต้องทำอย่างไร มีคำตอบมาฝากค่ะ
วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศที่สร้างจากรังไข่ ส่วนใหญ่จะเกิดกับสตรีช่วงอายุ 45 – 55 ปี ซึ่งมักมีอาการต่างๆ เตือนคุณผู้หญิง ที่พบบ่อยคือ
- เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ขี้ร้อน บางรายอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่วัยใกล้ หมดประจำเดือน เพราะช่วงนี้การทำงานของฮอร์โมนเพศลดลง เนื้อเยื่อของช่องคลอดขาดความยืดหยุ่นและขาดความชุ่มชื้น กระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบและหย่อนตัวลง ทำให้มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายปัสสาวะ อาการเหล่านี้สามารถใช้ฮอร์โมนวัยทองช่วยได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าสตรีวัยทองทุกคนต้องได้รับฮอร์โมนเพิ่มนะคะ ขึ้นอยู่กับอาการและการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ว่า ควรได้รับฮอร์โมนหรือไม่ และต้องใช้แบบใด มากน้อยเพียงใด
- การที่ฮอร์โมนเพศเพศลดลง อาจทำให้สตรีวัยทองมีผิวหนังแห้ง ขาดความยืดหยุ่นและขาดความชุ่มชื้น ดังนั้นสตรีวัยนี้จึงควรเลือกสบู่อ่อน ๆ อาบน้ำ แล้วใช้ครีมหรือน้ำมันทาผิว เพื่อช่วยลดการระเหยแห้งของน้ำที่ผิวหนัง และคงความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้ส่วนหนึ่ง
- กระดูกอาจเปราะบาง หลังหมดประจำเดือนไปแล้ว คุณผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูก พรุน ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้กระดูกบางลง เช่น การกินอาหารเค็มและมีโปรตีนสูงเป็นประจำ มาปรับพฤติกรรมเปลี่ยนการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง ประเภทผักใบเขียว งาดำ เต้าหู้ หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง รวมถึงหมั่นออกกำลังกายในช่วงเช้าเพื่อเพิ่มวิตามินดี ที่ใช้ในการดูดซึมแคลเซียมไปสะสมที่กระดูก
เรื่องของสตรีวัยทอง ยังมีอีกมากมายหลายอาการ ขึ้นอยู่กับสุขภาวะทางด้านร่างกายและจิตใจของแต่ละคน บางคนอาจมีอาการทางกายเหงื่อออกมาก ขี้ร้อน หงุดหงิด นอนไม่หลับ หลงลืมง่าย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกาย และบางส่วนอาจเกิดจากความไม่เข้าใจของคนใกล้ชิดร่วมด้วย
การปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง จะช่วยให้ชีวิตวัยทองดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและมีความสุข ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนะคะ เพียงแค่เราสร้างความกระฉับกระเฉงให้กับตนเอง เปิดใจรับรู้สิ่งต่าง ๆ ให้ทันสถานการณ์ มีการพบปะทางสังคม และร่วมทำกิจกรรมในครอบครัว ก็จะช่วยให้วัยทอง เป็นวัยที่สดใสไม่แพ้วัยใด ๆ ค่ะ
ขอบคุณที่มาจาก ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โพสต์เมื่อ 28 ต.ค. 2567 อ่าน 683 ครั้ง
จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)