"เพลงอีแซว" การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง

เพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านประจำท้องถิ่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี มีกำเนิดและเป็นที่ยอมรับกันว่าเพลงนี้เกิดในถิ่นสุพรรณบุรีโดยตรง แพร่หลายในเขตจังหวัดสุพรรณ บุรีและใกล้เคียง เพลงอีแซวมีความเป็นมาที่ยาวนาน มากกว่า ๑๐๐ ปี โดยในช่วงแรกๆ นั้นมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ (เพลงโต้ตอบ) ที่ หนุ่มสาวใช้ร้องยั่วเย้า เกี้ยวพาราสีกันอย่างง่ายๆ สั้นๆ เพลงอีแซว แต่ก่อนเรียก เพลงยั่วเพราะร้องยั่วกัน คล้ายเพลงกลองยาว ต่อมามีผู้เอาแคนไปขายที่สุพรรณ ก็เอาแคนมาเป่าประกอบด้วย เรียกกันว่า เพลงแคน เวลาร้องใช้มือตบ เป็นจังหวะบางคนจึงเรียก เพลงตบแผละ จากนั้น ทำนองและเนื้อร้องก็ค่อย ๆ มีแบบเป็นของตัวเองขึ้น จึงมาเรียกเพลงอีแซว มีการยืมเนื้อจากเพลงฉ่อยทางอ่างทองมาร้องเป็นเรื่องยาวขึ้น เหตุที่เรียกเพลงอีแซวนั้น ก็สันนิษฐานกันไป ที่น่าเชื่อก็คือ พ่อบัวเผื่อน สันนิษฐานว่า "เพราะยืนร้องแซวกันทั้งคืน" กระทั่งเมื่อ ๖๐ - ๗๐ ปีที่ผ่านมาจึงได้พัฒนาเป็นเพลงปฏิพากย์ยาวคือมีเนื้อเพลงที่ใช้ร้องในแต่ละครั้งยาวมากขึ้น พร้อมกับมีการดัดแปลงทำนองและลักษณะการร้องรับของลูกคู่ นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาเสื้อผ้าของผู้แสดง โดยจะนุ่งโจงกระเบนทั้งฝ่ายชายและหญิง ส่วนเสื้อนั้น ฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลมหรือ คอเหลี่ยมกว้าง ฝ่ายชายมักจะ ใส่เสื้อแขนสั้นคอกลม สร้าง สรรค์ความสะดุดตาด้วยสี ที่ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดใจผู้ชม ด้วยความนิยมในเพลงอีแซวทำให้สามารถแสดงได้เกือบทุกสถานที่และทุกโอกาสเพียงแต่ จะไม่มีการแสดงในงานแต่งงาน วงอีแซวจะไม่มีข้อกำหนดเรื่อง จำนวนผู้แสดง แต่ในวงหนึ่งๆ จะมีการจัดสรรแหน่งหน้าที่ ของผู้แสดงประกอบด้วย พ่อเพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายชาย) แม่เพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง) คอต้น (ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก) คอสอง , คอสาม (ผู้ร้องคนที่สองและ สาม) และ ลูกคู่ (จำนวนไม่จำกัด มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน)

เพลงอีแซวมีจะดำเนินการแสดงโดยมีเนื้อหาเรียงลำดับ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ และจบท้ายด้วยบทจาก หรือบทลา

๑. บทไหว้ครู เป็นบทกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้มีพระคุณ ได้แก่ พระรัตนตรัย เทวดา ภูตผี พ่อแม่ ครูอาจารย์ ( ครูเพลงของอีแซวจะมีสองแบบ “ ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ ” เช่นพระนารายณ์ ฤาษีหรือพ่อแก่ และครูอีกประเภทคือ “ ครู เพลงที่เป็นมนุษย์ ” นอกจากครูเพลงทั้งสองแบบแล้ว ก็มี “ครู พักลักจำ” ซึ่งหมายถึงครูที่ผู้ร้องไม่ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ แต่ได้ แอบจดจำเพลงหรือลีลา ) การร้องบทไหว้ครูจะต้องนั่งกับพื้นร้อง โดยมี “พาน กำนล” หรือพานไหว้ครูวางไว้ข้างหน้า หรือยกถือไว้ในขณะร้อง โดยพ่อเพลงจะร้องก่อน ตามด้วยแม่เพลง

๒. บทเกริ่น เป็นบทร้องของฝ่ายชายและหญิงก่อนที่จะ มาพบกันตามเหตุการณ์ที่สมมุติไว้ บทเกริ่นเริ่มต้นภายหลังจาก บทไหว้ครูจบลง ผู้แสดงทั้งหมดจะลุกขึ้นยืนร้อง “เพลงออกตัว” มีเนื้อหาทักทายกัน แนะนำตัว ฝากตัวกับผู้ชม ตามด้วย “เพลง แต่งตัว” หากสมมุติเหตุการณ์เป็นการชักชวนกันไปเที่ยวบ้าน สาวๆ พอมาถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้วจะร้อง “เพลงปลอบ” ซึ่งเป็น เพลงที่ชักชวนให้ฝ่ายหญิงออกมาร้องเพลงโต้ตอบกัน

๓. เพลงประ หมายถึงการร้องปะทะคารมกันของทั้งสอง ฝ่าย เพลงประของวงอีแซวมีหลายแบบ ได้แก่ แนวรัก ( การเกี้ยว พาราสี ) แนวประลอง ( การทดสอบฝีปากหรือทดสอบภูมิปัญญา ) และแนวเพลงเรื่อง ( ดำเนินเรื่องราวตามเรื่องของ นิทาน นิยาย หรือวรรณกรรม )

๔. บทจาก หรือ บทลา เป็นเพลงที่ใช้ร้องเพื่อ แสดงถึงความอาลัยคู่เล่นเพลง ผู้ชม หรือ กล่าวอำลาผู้ชม หรือเจ้าภาพผู้ว่าจ้างให้มาแสดง

๕. การอวยพร เป็นการร้องขอบคุณเจ้าภาพ และ ผู้ชม รวมทั้งขอบคุณผู้ให้รางวัล

ทำนองเนื้อร้องเดิมจะร้องลักษณะนี้
ชาย “ตั้งวงไว้เผื่อ ปูเสื่อไว้ท่า เอย…..
จะให้วงฉันรา ซะแล้วทำไม (จะให้วงฉันราชะแล้วทำไม)
รักจะเล่นก็ให้เต้นเข้ามาเอย…….
คนสวยจะช้า ซะแล้วทำไม (รับคนสวยจะช้า ซะแล้วทำไม”)
มาในปัจจุบันทำนองจะผิดไป และภายหลังคำ ซะแล้ว จะเหลือเพียง แล้ว ต่อมาสันนิษฐานว่า นายกร่าย พ่อเพลงรุ่นเดียวกับพ่อบัวเผื่อน หรือหวังเต๊ะ นักลำตัดชั้นครูได้ดัดแปลงทำนองเพลงอีแซวเป็นอีกทำนองหนึ่ง อย่างที่ขึ้นต้นว่า “เอ้ามาเถิดมากระไรแม่มา ๆ …..”พ่อไสว เป็นผู้เอาตะโพนสองหน้าเข้าไปตีประกอบเป็นเครื่องให้จังหวะเพิ่ม จากฉิ่ง กรับ และการปรบมืออีกเพลงอีแซวมีจังหวะกระชั้นเร็วกว่าเพลงฉ่อยหนึ่งเท่า คนร้องจึงต้องจำเพลงหลักให้แม่และมีปฏิภาณว่องไว ไม่อย่างนั้นก็ร้องไม่ทัน

ตัวอย่างเพลงอีแซวของพ่อไสว

จากนาง (เพลงอีแซวของพ่อไสว)

เอย…พี่น้องป้าน้าจะต้องลาแน่วแน่เอย….. ปากลาตาแลยังหลงอาลัย
มันเกิดกรรมปางก่อนต้องจากก่อนไกลกัน เกิดกรรมกางกั้นจะไม่ได้กอดก่าย
แม่คู่ข้าเคียงข้าง อย่าระคายเคืองขุ่น ต้องจากแน่แม่คุณเอยแม่ข่อยใบคาย
มันมีข้อขัดข้องไม่ได้ประคองเคียงข้าง รักพี่ตกค้างไม่รู้ไปฝากไว้กะใคร
รักใครรักเขามันไม่เท่ารักน้อง แม่คู่เคยประคองแม่แก้วขาวปานไข่
อีแม่คู่เคยเข็น เห็นจะเป็นคู่เขา พี่มานั่งกอดเข่าแทบจะเป็นไข้
น้องจะมีคู่ ให้นึกถึงข้า (เอย…..นึกถึงข้า)

เนื่องจากช่วงเวลาที่เล่นเป็นฤดูน้ำหลาก เป็นช่วงทำนาบรรดาพ่อเพลงแม่เพลงจากถิ่นต่าง ๆ ก็จะมาชุมนุมกัน พวกที่มาทางบกก็เล่นเพลงอีแซว ด้วยเหตุเป็นเพลงเร็ว จังหวะกระชั้น ผู้ร้องมีปฏิภาณดีหรือที่เรียกว่า มุติโตแตกฉาน ซึ่งสะท้อนภาพสังคม สอดแทรกมุขต่าง ๆ ลงในบทร้อง มีข้อความเสียดสี กินใจ สั่งสอน และบทตลก ลงท้ายด้วยการขออภัยที่ได้ล่วงเกิน จากนั้นก็ให้พรซึ่งกันและกัน ทั้งเจ้าภาพและผู้ฟัง

อุปกรณ์และวิธีการเล่น
พ่อเพลงและแม่เพลง จะเริ่มต้นโดยการกล่าวบทไหว้ครู จากนั้นฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มเรียกว่า ปลอบ ฝ่ายหญิงจะว่าบท รับแขก จากนั้นฝ่ายชายจะวกเข้าหา บทเกี้ยว ฝ่ายหญิงจะรับด้วยบท เล่นตัว ฝ่ายชายจะว่าบท ออด ฝ่ายหญิงจะตอบด้วยบทเสียแค่นไม่ได้ รับรัก จากนั้นฝ่ายหญิงจะขึ้นบท เกี่ยง ให้มาสู่ขอฝ่ายชายจะขอพาหนีพอหนีตามกันก็จะถึงบทชมนกชมไม้

โอกาสและเวลาการเล่น
เล่นในเวลาเทศกาลงานสำคัญ เช่น ตรุษสงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ งานมนัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์เดือน๑๒งานทอดกฐินรวมทั้งงานเกี่ยวข้าว  

 

 

ที่มา ทรูปลูกปัญญา

โพสต์เมื่อ 22 พ.ค. 2565 อ่าน 21,605 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ