ถนนราดยาง หรือ ถนนลาดยาง

ถนนราดยาง หรือ ถนนลาดยาง

คำว่า “ราด” กับ “ลาด” ต่างก็เป็นคำกริยาด้วยกัน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้นิยามความหมายของตัวศัพท์ไว้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่มักจะมีการใช้คำทั้ง ๒ นี้สับสนอยู่เสมอเมื่อนำไปใช้ประกอบกับคำบางคำ โดยเฉพาะคำว่า ถนน (ราด ลาด) ยาง ก๋วยเตี๋ยว (ราด ลาด) หน้า เป็นต้น ทำให้มีการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์และพาดพิงถึงราชบัณฑิตยสถานอยู่เนือง ๆ ซึ่งราชบัณฑิตยสถานเองก็ได้ให้คำตอบและชี้แจงข้อเท็จจริงทุกครั้งไป

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๔ ได้นิยามคำว่า “ราด” กับ “ลาด” ไว้ดังนี้คือ

ราด ก. เทของเหลว ๆ เช่นน้ำให้กระจายแผ่ไปหรือให้เรี่ยรายไปทั่ว เช่น ราดน้ำ ราดยาง โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เยี่ยวราด ขี้ราด.

ลาด ก. เอาสิ่งที่ม้วนอยู่ปูแผ่ออกไป เช่น ลาดพรม โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น. ว. ลักษณะที่เทต่ำเรื่อยไป. น. ……


วิธีการทำถนนแอสฟัลต์หรือยางมะตอยในสมัยก่อนนั้นใช้วิธีเคี่ยวยางมะตอยจนเหลวแล้วเทราดลงไปบนฐานหินกรวดที่บดอัดแน่น จากนั้นจึงนำหินกรวดขนาดเล็กมาโรยทับ บดอัดให้แน่นอีกครั้ง กิริยาการทำเช่นนั้นเรียกว่า ราดยางถนน แต่วิธีการทำถนนยางมะตอยในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีนำหินกรวดก้อนเล็ก ๆ คลุกยางมะตอยให้เข้ากันเสียก่อน แล้วนำไปเทเกลี่ยลงบนฐานหินกรวดที่บดอัดจนแน่นได้ที่แล้ว จากนั้นจึงบดทับหินที่ผสมยางมะตอยให้เรียบสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำถนนด้วยวิธีราดยางมะตอยแบบสมัยก่อนหรือด้วยวิธีใช้หินคลุกกับยางมะตอยแล้วนำมาปูบนฐานหินที่บดอัดไว้แล้ว เมื่อสำเร็จเป็นถนนสมบูรณ์ ผิวถนนจะมีลักษณะที่ “ลาด” หรือ “ดาด” ด้วยยาง ในทำนองเดียวกันกับลาดพรม คือ ปูพรมให้แผ่ออกไป ดังนั้นถนนชนิดนี้จึงต้องเขียนหรือเรียกว่า ถนนลาดยาง

ส่วน “ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ หรือ ข้าว (ราด ลาด) หน้า” ต้องใช้คำว่า “ราด” เพราะส่วนที่เป็นหน้านั้นมีลักษณะเป็นของเหลว

อนึ่ง คณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำ “ลาด” ไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้ “ก. ปูแผ่ออกไป เช่น ลาดพรม ปูลาดอาสนะ โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ถนนลาดยาง. ว. เทต่ำ หรือเอียงขึ้นน้อย ๆ เช่น ที่ลาด.” และได้เก็บเพิ่มคำ “ถนนลาดยาง ” ไว้ดังนี้ “น. ถนนที่ปูผิวจราจรด้วยยางมะตอยผสมกับหินหรือทรายเป็นต้น.” นอกจากนั้นในหนังสือ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร” ซึ่งราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ เนื่องในวันสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน ครบรอบ ๕๐ ปี วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๗ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ แก้ไขเพิ่มเติม เมษายน ๒๕๒๘ ก็ได้เพิ่มคำว่า “ถนนลาดยาง” ไว้ด้วย

ดังนั้น จึงขอได้โปรดเข้าใจโดยทั่วกันว่า คำ “ราด” เป็นคำกริยาที่ใช้กับลักษณะอาการเทของเหลวทุกชนิด ส่วนที่เป็นชื่อเรียกถนนให้เขียนว่า “ถนนลาดยาง.”

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๒ 

โพสต์เมื่อ 9 ส.ค. 2565 อ่าน 11,553 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ