ตัวอย่างข้อสอบคณิตศาสตร์ ตามกรอบการประเมิน PISA 2022

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics นำเสนอตัวอย่างข้อสอบคณิตศาสตร์ตามกรอบการประเมิน PISA 2022 ที่ OECD เผยแพร่ทาง https://pisa2022-maths.oecd.org/files/PISA%202022%20Mathematics%20Framework%20Draft.pdf

**หมายเหตุ ข้อสอบแต่ละเรื่องประกอบด้วยคำถามหลายข้อ ในตัวอย่างนี้จะเลือกคำถามมาเพียงบางข้อในแต่ละเรื่อง 

ใน PISA 2022 ได้มีการปรับกรอบโครงสร้างการประเมินคณิตศาสตร์ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการประเมินที่เป็นการจัดการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน

โดย PISA ได้พัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ภายใต้กรอบการประเมินที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ เนื่องจากการประเมินด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับแบบทดสอบได้มากขึ้นและมีรูปแบบข้อสอบที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างข้อสอบต่อไปนี้แสดงรูปแบบข้อสอบที่เพิ่มขึ้นใหม่และลักษณะข้อสอบที่ออกแบบภายใต้กรอบการประเมินที่ปรับใหม่ โดยตัวอย่างข้อสอบเหล่านี้นำมาจากกรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ PISA 2022

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง “การใช้สมาร์ทโฟน” (ตัวอย่างที่ 1)

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ในด้านคณิตศาสตร์ เช่น ความสามารถในการจัดเรียงข้องมูลและความสามารถด้านอื่น ๆ

ซึ่งมีโปรแกรมจำลองเป็นโปรแกรมสเปรดชีต (Spreadsheet) ที่แสดงข้อมูลจำนวนประชากรและจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนของประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย

โดยในตัวอย่างที่ 1 ในสถานการณ์เรื่อง “การใช้สมาร์ทโฟน” นักเรียนจะได้พิจารณาข้อมูลเปรียบเทียบของจำนวนประชากรและจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศต่าง ๆ และต้องหาว่าจะคำนวณสัดส่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างไร โดยให้ระบุคำตอบในรูปของการดำเนินการกับชุดข้อมูล แต่ไม่ต้องลงมือคำนวณหาผลลัพธ์

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง “การใช้สมาร์ทโฟน” (ตัวอย่างที่ 2)

สำหรับตัวอย่างที่ 2 ในสถานการณ์เรื่อง “การใช้สมาร์ทโฟน” นักเรียนต้องพิจารณากราฟ 2 กราฟที่อยู่ในแต่ละแท็บ โดยแท็บแรกเป็นกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนประชากรกับสัดส่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟน

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง “การใช้สมาร์ทโฟน” (ตัวอย่างที่ 2)

เมื่อกดที่แท็บ “ค่าแรงต่อชั่วโมง” หน้าจอจะแสดงกราฟความสัมพันธ์ระหว่างค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงกับสัดส่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟนของประเทศต่าง ๆ

นักเรียนต้องพิจารณากราฟความสัมพันธ์ของข้อมูลทั้งสองกราฟ เพื่อใช้ในการตอบคำถามว่า ตัวแปรใดที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟน พร้อมทั้งนักเรียนต้องให้เหตุผลอธิบายประกอบคำตอบที่นักเรียนได้คลิกเลือกไว้

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง การปูกระเบื้อง (ตัวอย่างที่ 1)

ข้อสอบข้อนี้เป็นสถานการณ์จำลองการปูพื้นด้วยกระเบื้องที่มีอยู่ 2 ลวดลาย คือ กระเบื้อง A และกระเบื้อง B โดยนักเรียนจะใช้การลากและวางแผ่นกระเบื้องในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อปูกระเบื้องให้สมบูรณ์ตามแบบรูปที่กำหนด

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง การปูกระเบื้อง (ตัวอย่างที่ 2)

สำหรับตัวอย่างที่ 2 ในสถานการณ์นี้ นักเรียนจะต้องใช้ทักษะการคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) เพื่อเขียนชุดคำสั่งในการปูกระเบื้อง โดยใช้การลากและวางกล่องข้อความให้เกิดชุดคำสั่งที่สมบูรณ์

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง การเดินทาง

ข้อสอบข้อนี้เป็นสถานการณ์จำลองการเดินทางของคนสามคนที่เดินทางจากจุดเริ่มต้นเดียวกันไปยังจุดสิ้นสุดเดียวกัน โดยที่แต่ละคนจะเดินทางด้วยวิธีการเฉพาะของตนเอง

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง การเดินทาง

ข้อสอบข้อนี้ นักเรียนจะได้ทดลองเลื่อนจุดเริ่มต้น (จุด A) ไปไว้ที่ตำแหน่งต่าง ๆ กัน จากนั้นโปรแกรมจะคำนวณและแสดงระยะทางจากจุด A ไปจุด B สำหรับการเดินทางทั้งสามวิธีให้ในตาราง นักเรียนจะต้องใช้เหตุผลในการอธิบายว่าเพราะเหตุใดการเดินทางทั้งสามวิธีจึงมีระยะทางเท่ากันเสมอ

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง การจำลองการออมเงิน

ข้อสอบข้อนี้เป็นตัวอย่างของโปรแกรมสถานการณ์จำลองการคำนวณเกี่ยวกับการออมเงิน โดยมีตัวแปรที่เกี่ยวข้อง 4 ตัวแปร ได้แก่ ระยะเวลาออมเงิน เงินฝากรายเดือน อัตราดอกเบี้ยต่อปี และเงินออมรวม

เมื่อกำหนดค่าของตัวแปรสามตัว จะสามารถหาค่าของตัวแปรตัวที่เหลือได้ โดยนักเรียนจะต้องใช้โปรแกรมจำลองการออมเงินนี้เพื่อประเมินว่าข้อความที่กำหนดให้เป็นจริงหรือไม่ พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบคำอธิบายคำตอบของนักเรียน

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง การตัดสินใจเลือกซื้อ

ข้อสอบข้อนี้เป็นตัวอย่างของสถานการณ์การเลือกซื้อของผ่านทางออนไลน์ ซึ่งมีรีวิวของผู้ที่เคยซื้อสินค้าชิ้นเดียวกันนี้ไปแล้ว โดยนักเรียนต้องใช้ข้อมูลจากแท็บข้อมูลรีวิวที่แสดงถึงระดับความพึงพอใจและแท็บตารางสรุปที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้าและการใช้งานสินค้า

ตัวอย่างข้อสอบ เรื่อง การตัดสินใจเลือกซื้อ

นักเรียนจะต้องพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับรีวิวที่ผ่านการรวบรวมและจัดประเภทจากทั้งสองแท็บทางด้านขวา เพื่อหาร้อยละของรีวิวแบบต่าง ๆ ตามที่กำหนด ตลอดจนหาความน่าจะเป็นที่หากสั่งสินค้าแล้วจะได้รับสินค้าช้าหรือไม่ได้รับสินค้าเลย

 

ขอบคุณที่มาจาก เฟซบุ๊ค IPST Thailand

โพสต์เมื่อ 28 มิ.ย. 2565 อ่าน 21,278 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ