"สุเทพ" แนะศึกษาธิการจังหวัดสร้างศรัทธาในการทำงานพร้อมร่วมมือพันธมิตรในพื้นที่ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ โรงแรมเทพนคร (อัลวาเรซ) อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยกล่าวว่า ระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค “ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน” ข้อ 12 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน กำกับดูแล และบูรณาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ให้เลขาธิการหรืออธิบดีมอบอำนาจการบริหารงานบุคคล การบริหารทั่วไป วิชาการงบประมาณ และทรัพย์สินให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน โดยส่วนกลางก็มีกลไกในการสนับสนุนให้ศึกษาธิการจังหวัดสามารถทำงานได้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด สามารถเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโยบายการศึกษาของจังหวัดต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของจังหวัด, การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ระดับจังหวัด, รายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและคณะกรรมการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติเป็นอย่างมาก โดยมีข้อสั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและรองศึกษาธิการภาคเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะแก่ศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้ศึกษาธิการจังหวัดสามารถคิดหาแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดการบูรณาการด้านการศึกษาในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะที่ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาและเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาในพื้นที่ ผ่านกลไก กศจ. เพื่อให้การทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่เกิดการบูรณาการ และในขณะนี้เรากำลังเร่งจัดการเรื่องของเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จึงให้ ศธจ.เป็นหลักในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดในพื้นที่ โดยต้องนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้หมดให้ได้ รวมถึงจังหวัดพื้นที่นวัตกรรม ต้องออกแบบงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ตามที่ได้รับการเลือกมาเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่สามารถพัฒนาการศึกษาได้อิสระและยืดหยุ่นมากกว่าพื้นที่อื่น

“อยากขอให้ศึกษาธิการจังหวัดคิดว่า ทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือโอกาส ‘อย่าเกี่ยงงาน’เพราะการเกี่ยงงานคือการละทิ้งโอกาสอันเจริญก้าวหน้าของตัวเอง เพราะค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ตราบใดที่เราทำงานประสบผลสำเร็จจะส่งผลให้มีคุณค่าในสายตาของผู้บังคับบัญชาเสมอ” ปลัด ศธ. กล่าวและว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนงานด้านศึกษาในพื้นที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น คือการสร้างความศรัทธาให้แก่หน่วยงานภายนอก คนในพื้นที่ หรือ 4 บุคคลมีอิทธิพล (influence) ในจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นักการเมืองท้องถิ่น ศึกษาธิการจังหวัด และเจ้าอาวาสวัดในชุมชน ซึ่งพลังเหล่านี้สามารถช่วยเราได้มากกว่าที่เราคาดคิดได้


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 

โพสต์เมื่อ 15 พ.ย. 2567 อ่าน 770 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ