เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า วันนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำนโยบายรัฐบาล “Thailand Zero Dropout” ซึ่ง สพฐ.ได้ทำโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง โดยให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพผ.) สพฐ.นำข้อมูลนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่ สพฐ.ค้นพบแล้ว และนักเรียนที่จะต้องติดตามต่อไป แจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เนื่องจากขณะนี้มีข้อมูลทุกเขตพื้นที่ฯแล้วว่า เขตพื้นที่ใดมีนักเรียนหลุดจากระบบ/ตกหล่นเท่าไหร่ เพื่อให้เขตพื้นที่ฯทุกเขตวางแผนออกติดตามและนำเด็กกลับมาเรียน แต่ถ้าเด็กไม่กลับมาเรียนในระบบก็ให้นำการเรียนไปให้เด็กได้เรียนในพื้นที่ก็ได้
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้กำชับเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายเรียนดี มีความสุข คือ จะต้องลงไปให้ถึงห้องเรียนให้ได้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาพบว่า ส่วนกลางจะรับทราบและเข้าใจนโยบายเป็นอย่างดี เขตพื้นที่ฯก็รับทราบและเข้าใจดีเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติกลับยังลงไม่ถึงโรงเรียนและห้องเรียนเต็มที่ ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำและหาแนวทางที่จะทำให้นโยบายเรียนดี มีความสุข ลงไปถึงนักเรียนและครูที่อยู่ในห้องเรียน โดยได้มีการกำหนดรูปแบบให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯลงไปติดตาม กำกับการนำนโยบายลงไปสู่โรงเรียนให้เป็นมรรคเป็นผลที่ชัดเจน ขณะที่ศึกษานิเทศก์ก็ต้องออกไปช่วยนิเทศนำนโยบายเรียนดี มีความสุข ลงปฏิบัติในโรงเรียนอย่างเข้มข้นด้วย
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีหารือถึงการเตรียมการจัดทำงบประมาณ ปี 2569 ซึ่งจะต้องจัดทำข้อมูลส่งไปสำนักงบประมาณในช่วงต้นเดือนมกราคม 2568 วันนี้จึงได้มอบให้สำนักต่าง ๆ ของ สพฐ.ไปวิเคราะห์ ว่าในปีงบฯ 2569 จะมีโครงการอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการโดยเน้นว่า จะต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยโครงการที่จะทำในปี 2569 จะต้องตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยเฉพาะต้องเป็นไปตามนโยบายเรียนดี มีความสุข หากโครงการใดที่ไม่จำเป็น หรือไม่ตอบโจทย์ก็ให้ชะลอหรือยกเลิกไปก่อน
“สำหรับการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลงเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.มีมากกว่า 15,000 โรง สพฐ.จึงได้ทำแผนการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยการจัดกลุ่มขนาดโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 120 คนลงมา และจะเสนอแผนการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ โดยจะเร่งทำเรื่องของบฯสนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็กที่จำเป็นจะต้องมีงบฯพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการ เพราะปัจจุบันการจัดสรรงบประมาณเป็นรายหัว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กมากตัวคูณมากก็ได้งบฯเยอะ แต่โรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนน้อยทำให้ได้งบฯน้อย ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพลำบาก แต่ถ้าหากมีงบฯ พื้นฐานที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปรับปรุงซ่อมแซม ลงไปให้ เมื่อได้รับจัดสรรงบฯพื้นฐานที่จำเป็นแล้ว ค่อยท็อปอัพเงินอุดหนุนรายหัวลงไป ก็จะสามารถช่วยเหลือการบริหารจัดการโรงเรียนได้ ทั้งนี้ สพฐ.จะทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอตั้งงบฯพื้นฐานต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีนั้น นอกจากนี้จะแก้ปัญหาพื้นฐานเพื่อสร้างความเสมอภาค เพิ่มคุณภาพแล้ว ยังต้องเปิดโรงเรียนให้เป็นของชุมชนให้มากขึ้นด้วย โดยการทำให้ชาวบ้าน ชุมชน เกิดความศรัทธาและมีความเชื่อมั่นในโรงเรียนให้ได้ ว่าถ้าลูกหลานเรียนจบที่นี่ซึ่งเป็นโรงเรียนของชุมชนแล้วจะเป็นเด็กที่มีคุณภาพในอนาคต
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567
โพสต์เมื่อ 12 พ.ย. 2567 อ่าน 1,071 ครั้ง
จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)