6 ขั้นตอนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานและความผูกพันในองค์กร เพื่อรักษาคนเก่งขององค์กร
กุญแจสำคัญที่จะรักษาพนักงานไว้คือการสนับสนุนและการสร้างความผูกพันต่อองค์กร
การรักษาผู้มีศักยภาพสูงขององค์กรนั้นเป็นสิ่งสำคัญในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในขณะที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูงซึ่งส่งผลให้อัตราการย้ายงานสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูงไว้จึงเป็นเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ
ผู้นำในองค์กรที่ประสบความสำเร็จตระหนักว่าผู้มีศักยภาพสูงขององค์กรนั้นทำงานเพื่อองค์กรด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ ดังนั้นองค์กรจึงควรปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นเหมือนเป็นผู้ที่ทุ่มเทและเสียสละต่อองค์กรโดยไม่ได้คำนึงถึงเพียงภาวะตลาดทั่วไปเท่านั้น
แม้ผลตอบแทนมักจะเป็นปัจจัยหลักที่พนักงานคำนึงถึงเมื่อกำลังพิจารณางานใหม่ แต่ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่สามารถรักษาผู้ที่มีศักยภาพสูงได้ในระยะยาว ถึงกระนั้นกลยุทธ์การรักษาบุคลากรขององค์กรส่วนใหญ่ก็ยังคงมุ่งที่ผลตอบแทนอยู่ อาทิเช่น โบนัสระยะยาว การให้สิทธิซื้อหุ้น เป็นต้น
องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการรักษาและจูงใจผู้มีศักยภาพสูงขององค์กรโดยมุ่งเน้นไปที่สองประเด็นหลัก ประเด็นแรก คือการเพิ่มความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร และประเด็นที่สองคือการพัฒนาระบบที่สามารถสนับสนุนการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เพื่อปลูกฝังความผูกพันที่มีต่อองค์กรให้อยู่ในระดับสูง องค์กรอาจมองทางเลือกอื่นนอกจากผลตอบแทนในรูปแบบของเงินให้มากขึ้น อาทิเช่น โอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน การมอบหมายหน้าที่การทำงานที่มีความสำคัญ การฝึกอบรม และการให้คำชื่นชม และเพื่อให้สิ่งเหล่านี้ประสบผลสำเร็จ องค์กรควรสร้างความชัดเจนในการเชื่อมโยงระหว่างผลการปฏิบัติงานและผลตอบแทน รวมทั้งผลการประเมินต้องสะท้อนถึงการให้ผลตอบแทนและความก้าวหน้าในสายอาชีพด้วย
ผลการวิจัยจากบริษัทเฮย์กรุ๊ปแสดงให้เห็นว่าการมีความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้ช่วยยืนยันความมีประสิทธิภาพขององค์กร
แม้องค์กรหลายแห่งจะมีความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานในระดับสูง แต่ผลการปฏิบัติงานขององค์กรก็ยังไม่อยู่ในระดับที่คาดหวัง แม้ในหลายองค์กรจะมีการทำการสำรวจความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน แต่ก็พบว่าคะแนนความผูกพันนั้นยังไม่มีความเชื่อมโยงกับผลการปฏิบัติงานขององค์กร ดร.มานะ โลหเตปานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเฮย์กรุ๊ป ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
สิ่งที่ขาดไปคือการสนับสนุนพนักงานเพื่อให้พนักงานที่มีแรงจูงใจเหล่านั้นสามารถทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จ อันที่จริงแล้วผลการวิจัยของเราได้ระบุว่าองค์กรที่ถูกจำแนกอยู่ในกลุ่มองค์กรที่พนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรสูงมีการเติบโตทางด้านรายได้สูงกว่าองค์กรในกลุ่มที่พนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรต่ำกว่าถึง 2.5 เท่า อย่างไรก็ตามองค์กรที่ทั้งความผูกพันต่อองค์กรและการสนับสนุนพนักงานอยู่ในระดับสูงนั้นมีการเติบโตทางด้านรายได้สูงกว่าถึง 4.5 เท่า แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าองค์กรกำลังทำหน้าที่สนับสนุนพนักงานได้อย่างดีที่สุด
ลำดับแรก คุณต้องแน่ใจว่าคุณได้มอบหมายงานแต่ละงานให้กับพนักงานที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ ที่สุด เพราะการมอบหมายงานที่ไม่เหมาะสมกับพนักงานสามารถทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่องค์กรคาดหวัง
การบริหารจัดการผู้มีศักยภาพสูงนั้น ผู้นำต้องพิจารณาถึงความสามารถของพนักงานที่เหมาะสมกับคุณสมบัติที่งานนั้นๆต้องการ อีกทั้งผู้นำจำเป็นต้องคำนึงถึงขอบเขตของงานนั้นว่าสามารถดึงความสามารถที่โดดเด่นของพนักงานออกมาได้ และใช้สิ่งเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และผู้นำยังจำเป็นต้องขจัดอุปสรรคในการปฏิบัติงาน เช่น งานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบรรยากาศในการทำงานสนับสนุนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง
สร้างบรรยากาศการทำงานที่เหมาะสม
สุดท้าย องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจและสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี ซึ่งประโยชน์ของบรรยากาศในการทำงานที่ดีมักถูกละเลย หากแต่ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าบรรยากาศในการทำงานมีผลต่อผลประกอบการทางธุรกิจถึง 30% ในการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีนั้น ผู้นำต้องมีทักษะที่เหมาะสมในการสร้างความผูกพันและสนับสนุนพนักงาน
โดยเหล่าผู้นำต้องเข้าใจวิธีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้แก่พนักงานในการทำงานแต่ละชิ้น เพื่อที่พนักงานจะได้รู้สึกเป็นผู้รับผิดชอบและได้ตัดสินใจในงานนั้น หากสามารถทำได้องค์กรจะสามารถดึงศักยภาพของพนักงานออกมาได้มากที่สุด ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะเป็นผู้ที่พร้อมทุ่มเทและเสียสละเพื่อความสำเร็จขององค์กรนั้นๆ และผลักดันองค์กรให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าคู่แข่ง
6 ขั้นตอนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานและความผูกพันในองค์กร
สิ่งที่องค์กรพึงกระทำในการสร้างความผูกพันและสร้างแรงจูงใจของพนักงาน
1.) สื่อสารอย่างชัดเจนถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลการปฏิบัติงานและผลตอบแทนของพนักงาน
2.) สร้างความมั่นใจในการประเมินผลการปฏิบัติงานที่สามารถแยกแยะผู้มีผลการปฏิบัติงานดีได้
3.) ขจัดอุปสรรคในการทำงานที่สามารถส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการสนับสนุนพนักงาน เช่น งานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน
4.) เลือกคนให้เหมาะสมกับงานโดยคำนึงถึงคุณสมบัติของตำแหน่งงานและความสามารถของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งงานนั้น
5.) ติดตามและพัฒนาบรรยากาศในการทำงานโดยผู้นำต้องมีความสามารถและมีรูปแบบการบริหารงานที่เหมาะสมเพื่อจูงใจพนักงาน
6.) มุ่งเน้นถึงผลตอบแทนที่ไม่ได้อยู่แค่ในรูปของเงินเท่านั้น เช่น โอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน การพัฒนาในด้านต่างๆ และการยกย่องชมเชยพนักงาน
"ไม่เพียงแต่ความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นที่สามารถรักษาผู้ที่มีศักยภาพสูงขององค์กรไว้ แต่ยังต้องมีการสนับสนุนพนักงานควบคู่กันไปด้วย" ดร.มานะกล่าว
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นให้องค์กรอย่างไร ได้ที่เว็บไซต์ www.haygroup.com/insight
ที่มา มติชนออนไลน์
โพสต์เมื่อ 20 ก.พ. 2556 อ่าน 42,518 ครั้ง
จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)