การจัดการศึกษาในโรงเรียนแบบเชิญชวน

การจัดโรงเรียนแบบเชิญชวน เป็นการจัดโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่น่าเข้าไปเยือนมากที่สุดในบรรดาสถานที่ต่างๆ ในชุมชน และเป็นสถานที่ที่นักเรียนมีความรู้สึกว่าน่าเข้าไปเรียนและเรียนอย่างมีความสุข เนื่องจากโรงเรียนมีจุดเน้นที่คำนึงถึงศักยภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ คำนึงถึงว่านักเรียนทุกคนมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัว พร้อมที่จะพัฒนา และคำนึงถึงว่าบุคลาการทุกฝ่ายในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีพลังที่กระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ซึ่งจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายในโรงเรียนร่วมมือกันและทำงานร่วมกัน โดยประยุกต์แนวคิดการจัดการศึกษาแบบเชิญชวนเข้ามาใช้ในโรงเรียน

แนวคิดการจัดการศึกษาแบบเชิญชวน

 

การจัดการศึกษาแบบเชิญชวนเน้นหลักการพื้นฐาน

ทุกคนมีความสามารถ มีคุณค่า และมีความรับผิดชอบ ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติต่อเขาเช่นนี้ และควรช่วยให้เขาประพฤติเช่นนี้ ผู้บริหาร ครู และทุกคนในโรงเรียนที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาวิธีการที่ทำให้นักเรียน ตระหนักถึงความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของเขา และหาวิธีการที่หลากหลายสำหรับช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในโรงเรียน

การจัดการศกึษาเป็นกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือกัน และร่วมคิดร่วมทำ ครูและนักเรียนจะดำเนินกิจกรรมร่วมกันบุคลากรทุกคนในโรงเรียนทำงานร่วมกัน

กระบวนการมีความสำคัญเท่ากับผลผลิตต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนประสบความสำเร็จ

คนทุกคนมีศักยภาพที่มีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายในตัว และยังใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงส่วนเล็กน้อยของศักยภาพทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเอง การจัดหลักสูตร นโยบาย โปรแกรม และสภาพแวดล้อมในโรงเรียนสามารถช่วยให้นักเรียนค้นพบศักยภาพของตัวเองและเชิญชวนให้ปรากฏออกมาได้เต็มที่

ศักยภาพของคนทุกคนสามารถดึงออกมาได้ดีที่สุด โดยบุคคล มีจุดหมายและเจตนาเชิญชวน มีการออกแบบจัดสถานที่ นโยบาย โปรแกรม และกระบวนการ อย่างเจาะจงเชิญชวนให้เกิดการพัฒนา (อ้างใน นิรมล ศตวุฒิ, 2549 : 141-142)

องค์ประกอบ 5 ด้าน หรือ ของการจัดการศึกษาแบบเชิญชวน คือ บุคคล สถานที่ นโยบาย โปรแกรม และกระบวนการต้องได้รับการพัฒนา ดังนี้ การยอมรับนับถือ

บุคคล ได้แก่ บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนมีเจตคติและแสดงพฤติกรรมที่อาทรและเอาใจใส่กัน ให้การยอมรับนับถือกัน มีความเชื่อถือและไว้วางใจกัน มองกันในแง่ดี และมีจุดหมายและเจตนา ในการกระทำทุกอย่าง

สถานที่ ได้แก่ อาคารและสภาพแวดล้อมทั้งหมดของสถานศึกษา ได้รับการดูแลให้มีความสะอาด สวยงาม เห็นแล้วน่าพึงพอใจ ผู้ใช้สถานที่หรือผู้อยู่รู้สึกอบอุ่นมั่นคง

นโยบาย ได้แก่ กฎระเบียบ ข้อตกลง กระบวนการปฏิบัติงานสำหรับให้บุคคลและโรงเรียนทำหน้าที่อย่างเป็นระเบียบ เน้นบุคคลเป็นศูนย์กลาง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์และคำนึงถึงความสามารถ คุณค่าและความรับผิดชอบของทุกคน

โปรแกรม ได้แก่ หลักสูตร และกิจกรรมเสริมหลักสูตร ที่ครอบคลุมความต้องการของมนุษย์อย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมและจัดการอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้

  1.  
  2.  

    กระบวนการ ได้แก่ วิธีการปฏิบัติที่จะทำให้บุคคล สถานที่ นโยบายและโปรแกรม ทำหน้าที่ไปได้จะส่งเสริมจิตวิญญาณ การร่วมมือกัน ความพยายามร่วมคิด ร่วมทำ อุดมการณ์ทางประชาธิปไตย และจริยธรรม เสริมสร้างวิธีการดำรงชีวิตตามความสนใจ ความสามารถ โอกาสที่จะก้าวหน้าของแต่ละบุคคล การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และกิจกรรมส่งเสริมมนุษยธรรม
ในการจัดการศึกษาแบบเชิญชวน เจตคติและพฤติกรรมของบุคคลจะพัฒนาในขอบเขตของข้อตกลง 5 ประการ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในองค์ประกอบด้านบุคคล คือ

  1. ความอาทรและเอาใจใส่ดูแล เป็นการช่วยให้บุคคลเชื่อมโยงจุดหมายส่วนตัวเข้ากับเป้าหมายปลายทางที่มีคุณค่าของสังคม ช่วยให้แต่ละคนมีความพอใจและประสบผลสำเร็จในการกระทำสิ่งที่มีคุณค่า โดยการนำไปสู่สิ่งที่เป็นไปได้ในด้านบวก

  2. การยอมรับนับถือ ว่าทุกคนมีความสามารถ มีคุณค่า และมีความรับผิดชอบ และปฏิบัติต่อเขาเช่นนั้น ก่อให้เกิดการมีความรับผิดชอบร่วมกัน มีความร่วมมือกันอย่างเท่าเทียมและเฉลี่ยอำนาจกันโดยคาดหวังผลลัพธ์ในด้านบวก

  3. การให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ เป็นการแสดงความเชื่อมั่นในความสามารถ ความมีคุณค่า และมีความรับผิดชอบของทุกคน และปฏิบัติต่อเขาเช่นนั้น มีการพึ่งพาอาศัยกันและร่วมมือกัน บนพื้นฐานของปฏิสัมพันธ์ที่มีความเชื่อถือและไว้วางใจกัน

  4. การมองในแง่ดี คือ การมีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่าทุกคนมีศักยภาพหลายด้านที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ และสามารถพัฒนาได้ ทุกคนมีความดีอยู่ในตัวและต้องนำออกมาใช้ เมื่อทำผิดก็พยายามแก้ไขเองรวมทั้งชื่นชมพัฒนาการและความก้าวหน้าของทุกคน

  5. การมีจุดหมายและเจตนา เป็นการกระทำอย่างตั้งใจที่จะทำให้ศักยภาพของทุกคนปรากฏเป็นจริงได้อย่างคงเส้นคงวา โดยจัดการสถานที่ นโยบาย โปรแกรม และกระบวนการที่ออกแบบเฉพาะเพื่อพัฒนาการเชิญชวนโดยบุคคลที่เชิญชวนตัวเองและผู้อื่นทั้งด้านส่วนตัวและด้านอาชีพ
ลักษณะของโรงเรียนแบบเชิญชวน

การจัดโรงเรียนโดยการนำแนวคิดของการจัดการศึกษาแบบเชิญชวนมาประยุกต์ใช้นั้น ทำให้โรงเรียนที่จัดมีลักษณะดังนี้

  1. การยอมรับนับถือลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล : หลักสูตร นโยบาย โปรแกรม การพิจารณาเรื่องต่างๆ และการประเมินผลตั้งอยู่บนพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคนเป็นสำคัญ ในการให้คะแนนจะให้นักเรียนมีส่วนร่วม ถ้าได้คะแนนต่ำ นักเรียนจะได้รับการดูแลอย่างจริงจัง นักเรียนจะได้รับการสนับสนุนให้ทดสอบตัวเอง ตัดสินผลงานและความก้าวหน้าของตัวเอง ให้นักเรียนมองความผิดพลาดเป็นแหล่งข้อมูลมากกว่าจะเป็นสัญญาณของความล้มเหลว นักเรียนทุกคนจะได้รับการสนับสนุนให้มีความมั่นใจว่า ตัวเองมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เชื่อถือความรู้สึกของตัวเอง และชื่นชมลักษณะเฉพาะของตัวเอง

  2. จิตวิญญาณของการร่วมมือกัน : ทุกคนในโรงเรียนมีความรับผิดชอบในการร่วมมือกัน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทุกคนมีส่วนในการบริหารโรงเรียน การแข่งขันกันมีน้อยที่สุด นักเรียนที่ไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์จะได้รับการช่วยเหลือพิเศษด้วยความอาทรและเอาใจใส่ตลอดจนการยอมรับนับถือการสอนที่ให้เพื่อนช่วยเพื่อนจะได้รับการสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกัน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

  3. ความรู้สึกเป็นเจ้าของ : บรรยากาศในโรงเรียนมีความอบอุ่นและผูกพันกัน ครูและนักเรียนคิดถึงโรงเรียนของเรา งานของเรา และพวกเราทุกคนอยู่ร่วมกัน ให้นักเรียนอยู่ร่วมกันให้มากที่สุด กระตุ้นความรู้สึกภาคภูมิใจต่อโรงเรียน ความรู้สึกว่าเป็นสมาชิกของโรงเรียน อาทรและเอาใจใส่โรงเรียนจัดบรรยากาศที่ทำให้นักเรียนรู้สึกถึงความเมตตากรุณาที่โรงเรียนมีต่อเขา

  4. สภาพแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์ : ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมทั่วไปได้รับการเอาใจใส่อย่างดี ครูบุคลากรทุกฝ่ายและนักเรียนแบ่งความรับผิดชอบร่วมกับนักการภารโรงในการช่วยกันสร้างสรรค์และรักษาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่สวยงามและน่าอยู่ น่าเรียน ไม่ว่าโรงเรียนจะเก่าแค่ไหน ทุกคนจะช่วยกันทำให้น่าประทับใจให้มากที่สุด ห้องเรียนทุกห้องมีแสงสว่างพอ ระบบเสียงและอุณหภูมิอยู่ในระดับน่าพอใจ การออกแบบตกแต่งในห้อง บริเวณหน้าต่าง ที่ว่าง การจัดเฟอร์นิเจอร์ และการใช้สี จะทำในลักษณะที่เสริมสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดความสนใจและสร้างความอบอุ่น สะดวกสบาย

  5. การคาดหวังผลในทางบวก : นักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มองตัวเองในทางบวก และรับรู้ว่าคนเราทุกคนมีศักยภาพที่ดีอยู่ในตัวที่จะเรียนรู้ได้ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนยินยอมที่จะเรียนรู้และมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรียนรู้เพราะครูป้อนให้ นักเรียนจึงต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเรียนอะไร เรียนแค่ไหน ใช้เวลาเรียนเท่าใด และจะประเมินผลความก้าวหน้าของตัวเองอย่างไร ครูจะช่วยกระตุ้นนักเรียนแต่ละคน โดยการสื่อสารความคาดหวังหรือผลลัพธ์ด้านบวกแก่นักเรียน

  6. ความสัมพันธ์กับสังคม/ชุมชน : สมาชิกในโรงเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและปฏิสัมพันธ์กับชุมชน นักเรียนรุ่นพี่ทำงานร่วมกับนักเรียนรุ่นน้อง บุคลากรในโรงเรียนที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านกีฬาช่วยเป็นผู้ฝึกซ้อมกีฬาประเภทนั้นๆ ให้นักเรียนสมาชิกในชุมชนเข้ามาช่วยและร่วมกิจกรรมของโรงเรียน ผู้ปกครองอาสาสมัครร่วมทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จ นักเรียนออกไปร่วมกิจกรรมของชุมชน ความสัมพันธ์เหล่านี้ อาจดำเนินการกว้างไกลออกไปสู่สังคมระดับประเทศและโลก โดยโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนประยุกต์การเรียนรู้จากในโรงเรียนไปปฏิบัติในประเด็นที่เกี่ยวกับสังคมระดับประเทศ และระดับโลกด้วย


สรุป

การสร้างสรรค์บรรยากาศเชิญชวนในโรงเรียนเป็นหัวใจของการพัฒนานักเรียน นักเรียนจะได้รับการเชิญชวนให้เรียน ได้รับการเชิญชวนให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ทำให้นักเรียนรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกว่าได้รับการยอมรับนับถือ และได้รับการสนับสนุน ส่งผลให้นักเรียนยอมรับว่าผู้อื่นมีคุณค่าและให้การยอมรับนับถือและสนับสนุนผู้อื่นด้วย องค์ประกอบด้านบุคคล สถานที่ นโยบาย โปรแกรม และกระบวนการของโรงเรียน มีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมที่เชิญชวนให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ และเชิญชวนให้เกิดการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันที่โรงเรียนสร้างบรรยากาศแบบเปิดเผย ไว้วางใจกัน ยอมรับนับถือกัน อาทรและเอาใจใส่กัน มองกันในแง่ดี และมีจุดหมายและเจตนาร่วมกัน จะทำให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น เอาชนะอุปสรรคร่วมกัน จัดการข้อโต้แย้งและความคิดที่แตกต่างกันได้โดยปราศจากความแตกแยกในการทำงานและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในโรงเรียน



โดย : รศ.ดร.นิรมล ศตวุฒิ


ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2550
 
ที่มาเว็บ : https://www.myfirstbrain.com

โพสต์เมื่อ 4 ก.ย. 2552 อ่าน 41,454 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ