หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
สุภาภรณ์ นิลยกานนท์(เพชรสุภา)
จากจังหวัด ชุมพร

นิยามของ ?เด็กเนิร์ด? ?
โพสต์เมื่อวันที่ : 11 พ.ค. 2552 IP : เปิดอ่าน : 7147 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(65.45%-11 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

.....

ต้องยอมรับว่านิยามของ ‘เด็กเนิร์ด’ เวลานี้ทำเอา ’เด็กแนว’ เอาต์ไปจากสาระบบ 
       
       ปัจจุบันเนิร์ดจริง เนิร์ดปลอม (แต่งตัวตามแฟชั่น) กำลังสร้างบทบาทสู่สังคมมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเริ่มเด่นชัดเมื่อต้นยุค 90’ ที่อินเตอร์เนตกำลังเบิกทางโลกแห่งการสื่อสาร จนนำไปสู่การก่อเกิด ‘เนิร์ดระดับโลก’ ซึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานอย่าง บิลล์ เกตต์ อัจฉริยะแห่งไมโครซอฟต์
 
       
        นอกจากนั้น เจฟ เบซอส เจ้าของ Amazon.com แลร์รี่ เพจ และ เซอจี้ บริน ผู้นำทางแห่ง Google.com สตีฟ จ็อบส์ บิดาแห่งแอปเปิล กระทั่ง คลาร์ก เคนต์ (ซูเปอร์แมน) และ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (สไปเดอร์แมน) ก็ยังถูกจัดในทำเนียบ ‘เนิร์ดฮีโร่’
       

       กำเนิดชาวเนิร์ด
       
‘เนิร์ด’ (Nerd)
เป็นคำเรียกสั้นๆ ที่กำลังฮิตฮอตอยู่ในยุคสมัย ตามพจนานุกรมฉบับ Oxford Advanced Learners’ ได้แปลความหมายของคำว่า ‘เนิร์ด’ เอาไว้ 2 รูปแบบด้วยกัน ความหมายแรกเนิร์ดคือบุคคลที่แสนจะน่าเบื่อ งี่เง่า และเชยแหลก ความหมายต่อมาคือ บุคคลที่บ้าคลั่งในคอมพิวเตอร์อย่างรุนแรง  
       
       หากแต่ว่าความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘เนิร์ด’ ในชีวิตประจำวันแล้ว มันคืออะไรที่กว้างกว่านั้น
       
       ‘เนิร์ด’ คือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่ง ที่มีอาการบ้าคลั่งวิชาความรู้ยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านใดก็ตาม ทั้งเลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ที่ได้จากห้องเรียน หรือคอมพิวเตอร์ที่ได้จากหน้าจอสี่เหลี่ยม แม้กระทั่งภาษาไทย สังคม อังกฤษ ก็ยังสามารถจัดในหมวดหมู่ในชาวเนิร์ดได้   
       
       อาการบ้าคลั่งวิชาความรู้นี้จะแสดงออกมาได้หลายทางอันส่งผลให้เกิดอาการในหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของความเนิร์ด 
       
       ถึงแม้ว่าโลกนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยย่อยตามหลักภูมิศาสตร์ และประชากรศาสตร์ของกลุ่มมนุษย์ที่หลอมรวมกัน เกิดขบวนการขัดเกลางทางสังคมและมีจุดร่วมเช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกันแล้วนั้น เหล่านั้นก็ย่อมเต็มไปด้วยความหลากหลายของสังคม เต็มไปด้วยผู้คนหลายแบบที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งต้นกำเนิดของเนิร์ดก็มาจากจุดเดียวกันนั่นก็คือความพยายามในการแบ่งแยก 
       
       นิยามของเนิร์ดมีมาตั้งแต่ยุค 40’ จากการที่ Rensselaer Polytechnic Institute สถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอเมริกา แบ่งนิยามของนักศึกษาออกเป็นสองกลุ่มคือ ‘Drunk’ กลุ่มที่ไม่ชอบเรียน ตกกลางคืนเอาแต่ปาร์ตี้ กินเหล้าเมาหัวราน้ำ ส่วนอีกกลุ่มตกเย็นกลับที่พัก ทำการบ้านอ่านหนังสือ เรียกว่า ’Knurd’ (สะกดตัวอักษรกลับหลังจาก Drunk) ต่อมาก็ได้ตัด k และเปลี่ยนมาเป็น ‘Nerd’ ในปัจจุบัน หากสนใจเรื่องราวประมาณนี้ก็หาดูได้จากภาพยนตร์ปี 1984 เรื่อง Revenge of Nerds
       
       สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเนิร์ด
       ภาพลักษณ์ของเนิร์ดในสื่อมวลชนและการ์ตูน มักจะเป็นชายใส่แว่นตาหนาๆ ที่มักเป็นคนคงแก่เรียน เลือกเรียนในสาขาวิชายากๆ แต่งตัวเชยเหมือนได้รับสมบัติเป็นเสื้อผ้าที่ตกทอดมาจากลุงและพ่อ เฉื่อยชา แต่เป็นเด็กดีที่เชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งในสายตาของชาวอเมริกันนั้นต่างจากคนไทยมาก เพราะบ้านเราอาจมองว่าบรรดาเนิร์ดทั้งหลายคือปราชญ์ หรือผู้รู้ที่ควรยกย่องนับถือ
       
       จริงๆ แล้วที่พวกเรามีเทคโนโลยี ให้ใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ พวกเด็กเนิร์ดเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา และเมื่อผู้ยิ่งใหญ่อย่าง บิลล์ เกตต์ รวมถึงการที่บรรดาเนิร์ดก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจไอทีระดับโลกแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครรู้สึกเคอะเขินกับการถูกเรียกว่า ‘เนิร์ด’ อีกต่อไป
       
       ไผ่-สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์ ชายหนุ่มร่างผอมบาง สวมแว่นกรอบดำ ผมยาวประบ่า เป็นเนิร์ดที่เก็บตัว ชอบอยู่บ้าน กลัวสังคม และมักจะคบหากับเนิร์ดด้วยกัน
       
       ย้อนเวลาไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ภาพในวัยเด็กของไผ่กำลังกรอกลับมาอีกครั้ง เขายอมรับกับเราว่าสมัยเรียนระดับมัธยมศึกษา เขาคือเด็กเนิร์ดๆ ที่ซึมเศร้า และจมตัวเองอยู่ในโลกของเกมเป็นประจำทุกวัน
       
        “ผมเรียนมัธยมสายวิทยาศาสตร์ ช่วงเวลานั้นผมแทบไม่มีเพื่อนเลย ไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน เพราะไม่มีใครเล่นเกมเหมือนผมสักคน มีเพื่อนที่เล่นเกมและคุยกันรู้เรื่องอยู่บ้าง แต่เรียนอยู่คนละห้อง กว่าจะได้มาเจอกันก็ตอนพักเที่ยง มองย้อนกลับไปเวลานั้นรู้สึกเป็นคนแปลกที่ต้องอยู่กับตัวเองคนเดียว ผมสับสนมาก ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน” ชายหนุ่มเล่าถึงอดีตที่น่าหดหู่ของตนเอง
       
       "ก่อนเอนทรานซ์พ่อพาผมไปลงเรียนพิเศษวิชาฟิสิกส์แบบเต็มคอร์สติวเข้มให้ผม ผมจำได้ว่าตัวเองตั้งใจเรียนทุกวันไม่เคยขาด จนถึงวันสุดท้าย รู้สึกว่าชีวิตการเรียนแบบนี้ไม่มีอะไรดีเอาเสียเลย ผมเลยเดินออกจากห้องเรียนด้วยความเคว้งคว้าง ไม่รู้จะเดินไปทางไหน แต่ก็ไม่อยากกลับไปเรียน เลยเดินเข้าไปในร้านอินเตอร์เน็ทคาเฟ่
       
       "นี่แหละคือปัญหา เอาเข้าจริงๆ แล้วผมกลับรู้สึกว่าเด็กทุกคนมีพลัง ไม่ว่าจะเนิร์ด หรือไม่เนิร์ด แต่เขาไม่รู้จะทำอะไรในสภาพสังคมแบบนี้ นี่ผมพูดจากประสบการณ์ของตัวเองเลย”
       
       แต่จากการโลดแล่น ท่องเที่ยว อยู่ในโลกของเกมออนไลน์ และอินเตอร์เน็ตเป็นประจำทุกวันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเด็กเนิร์ดอย่างไผ่เดินทางไปเจอกับเว็บไซต์เกมเว็บไซต์หนึ่งของเมืองไทย ที่ถือเป็นแหล่งรวมทั้งขาประจำและขาจรที่ชื่นชอบการเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งขณะนั้นทางเว็บไซต์ดังกล่าวกำลังรับสมัครทีมงาน ไผ่จึงไม่รีรอที่จะสมัครเข้าไปเป็นหนึ่งในทีมงาน
       
       จากเด็กชายที่ขี้อายและขลาดกลัวการเข้าสังคมในวัยเยาว์ ถึงวันนี้ไผ่กลายเป็นผู้ที่ชื่นชอบการแสดงความคิดเห็น (เกี่ยวกับเกม) ผ่านตัวอักษรซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือฟิวเจอร์ เกมเมอร์ มาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว
       
       "ขณะที่ผมชอบเล่นเกมผมก็ชอบอ่านหนังสือด้วย ผมอ่านทั้งนวนิยายและบทความ จึงอยากหัดเขียนบ้าง การที่ผมได้มาเขียนหนังสือเป็นเรื่องของจังหวะและโอกาส ผมจึงทดลองเขียนเรื่องสั้นและนิยายผ่านอินเตอร์เน็ตต่อเนื่องมาโดยตลอด” เจ้าตัวเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ
       
       “ผมอยากให้มองว่า เด็กเนิร์ดก็คือคนธรรมดานะ ก็เหมือนกับกลุ่มเด็กแนวฟังเพลงอินดี้ เด็กที่แต่งตัวแปลกๆ พวกคอร์สเพลย์ ซึ่งเขาอาจเป็นคนที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ก็เป็นได้”
       
       เนิร์ดคือแฟชั่นใหม่
       ตั้งแต่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ 1990 มีเนิร์ดจำนวนมากบนโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเอาคำนี้มาใช้ด้วยความภาคภูมิใจ และใช้ในความหมายที่เป็นแง่บวก เพื่ออธิบายถึงบุคคลที่มีความสามารถทางด้านเทคนิค 
       
       โดยดั้งเดิมนั้น เนิร์ดใช้กับผู้ชายเท่านั้น แต่ตอนนี้ผู้หญิงก็เริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่นๆ ที่ปกติมีแต่ผู้ชายสนใจ ดังนั้น เนิร์ดจึงใช้ได้ทั้งชายและหญิง
       
       ตัวอย่างเด็กเนิร์ด-เวลม่า ดิงเลย์ ในเรื่อง สกูปิดู, โคจิโร่ อิซึมิ และมิยาโกะ อิโนอุเอะ ในเรื่อง ดิจิมอน, เด็กซ์เตอร์ ในเรื่อง ห้องทดลองของเด็กซ์เตอร์, เดคิสุงิคุง ในโดราเอมอน, เอ็มม่า วัตสัน (เฮอร์ไมโอนี่) ในเรื่องแฮร์รี่พอตเตอร์
       
       ไผ่เนิร์ด-จิตนารถ พิชัยยา ฟรีแลนซ์ คอสตูม หญิงสาวที่มีสองบุคลิกอยู่ในตัวตน เธอสามารถเนิร์ดได้และไม่เนิร์ดก็ได้ เพราะเธอต้องเข้าสังคมเพื่อการทำงานที่ต้องใช้การติดต่อสื่อสาร แต่พอกลับมาถึงบ้าน ไผ่เนิร์ดจะดูซีรีส์ ฟังเพลง และนั่งอัปเดตชีวิตในโลกอินเตอร์เน็ต
       
       ไผ่เนิร์ดบอกว่า ปัจจุบันเนิร์ดกลายเป็นรสนิยมและกำลังกลายเป็นแฟชั่นสไตล์หนึ่ง โดยมีที่มาจากฝรั่ง ซึ่งถ้าเป็นผู้ชายจะมีลักษณ์ที่เห็นได้ชัดคือดัดฟัน แว่นหนาๆ เอาเสื้อเข้าในกางเกง ใส่รองเท้าเชยๆ และชอบโดนแกล้งอยู่เสมอๆ และถ้าเป็นเด็กผู้หญิงมักจะผูกผมเรียบร้อย ตัดหน้าม้า ใส่แว่น ดัดฟัน หน้าเป็นกระ ชอบทำตัวแปลกๆ เฉิ่มๆ และดูไม่มีอะไรน่าสนใจ
       
       “ของฝรั่งจะมีเนิร์ดอีกจำพวกหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ‘เทคโนเนิร์ด’ อารมณ์เนิร์ดแบบเด็กแนวหน่อยๆ เนิร์ดแบบฉลาดๆ และสุขุมมากกว่าเด็กเนิร์ดโดยทั่วไป เพราะส่วนใหญ่เนิร์ดในคำจำกัดความเก่าๆ จะเป็นผู้ที่สนใจแต่เรียน อ่านแต่หนังสือ และไม่เข้าสังคม แต่พวกเทคโนเนิร์ดจะเป็นพวกแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้นๆ จนรู้สึกว่าตนเองฉลาดล้ำ 
       
       “สำหรับเนิร์ดในเมืองไทยเวลานี้กำลังเป็นแฟชั่น เหมือนกับเมื่อก่อนที่มีเด็กแนว เด็กอินดี้ ซึ่งทุกคนพยายามที่จะแต่งตัว หรือสร้างอัตลักษณ์ให้โดดเด่น และแตกต่างกันออกไป การแต่งตัวแบบเด็กเนิร์ดจึงหาทางออกหนึ่ง มันเริ่มต้นมาจากการที่เด็กเนิร์ดสวมแว่นเปลี่ยนกรอบแว่นจากโลหะธรรมดาๆ เชยๆ มาใส่เป็นกรอบพลาสติกสีสันสดใส จนทำให้คนที่ไม่ได้สายตาสั้นเห็นแล้วอยากใส่แว่นบ้าง แว่นตาจึงเป็นแมททีเรียลที่เห็นแล้วให้ความรู้สึกชัดเจนถึงความเป็นเด็กเนิร์ดที่สุด เวลานี้เด็กสยาม หรือเด็กแนว ทั่วไปก็สามารถกลายเป็นเด็กเนิร์ดได้ 
       
       “ตอนนี้ถ้าพูดถึงเด็กแนวก็ดูตลาดๆ ไปแล้ว แต่เด็กเนิร์ดก็พัฒนามาจากเด็กแนว ชอบแต่งตัวเชยๆ เก่าๆ แต่ไม่ใช่วินเทจหรือแต่งตัวโบราณไฮโซ อารมณ์เดียวกับหนังเรื่องแหย๋มยโสธร นำมาล้อเลียน ทำให้ตลก ทำให้ขำ
       
       “เนิร์ดจึงกลายมาเป็นประเด็นที่วัยรุ่นนำมาล้อเลียนและประชดประชัน จนคำว่า เนิร์ด กลายเป็นคำพูดที่อยู่ในกระแสพอสมควร พูดกันเวลานี้แล้วทุกคนรู้จักแล้วเข้าใจ เรียกว่ามันเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ติดท็อปแล้วเหมือนกัน แต่ถ้าหลังจากนี้ไปมีคนสนใจกันมากๆ อาจเป็นช่วงขาลง เพราะวัยรุ่นแทบทุกคนเวลานี้มองหาแต่สิ่งที่แตกต่าง” ไผ่เนิร์ดอธิบายถึงแฟชั่นเด็กเนิร์ด
       
       “ส่วนตัวเราที่เรียกตัวเองว่า ไผ่เนิร์ด เพราะใส่แว่น คือพูดมาแล้วฮามากกว่า แต่เพื่อนๆ จะรู้ว่าความจริงแล้วเราเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งที่โดนเรียกว่าไผ่เนิร์ดอาจจะเป็นเพราะว่า นิสัยส่วนตัวที่เนิบๆ ด้วย”
       
       หากเป็นเด็กแนวพวกพังค์ อีโม ฮิปฮอป พวกนี้จะมีความภูมิใจในการแสดงอัตลักษณ์และตัวตนในแบบของเขา ซึ่งเมื่อเราถามไผ่เนิร์ดว่าเธอมีความภูมิใจในการเป็นเนิร์ดมากแค่ไหนเธอตอบว่า
       
       “ไม่รู้ว่าภูมิใจในความเป็นเนิร์ดมากแค่ไหน แต่ก็ไม่อายที่เป็นแบบนี้” ไผ่เนิร์ดกล่าว 
       
       เผ่าพันธุ์ชาวเนิร์ด
       นอกจากคำว่า 'เนิร์ด' แล้ว ยังมีศัพท์ที่ใกล้เคียงที่บ่งบอกลักษณะการใช้ชีวิตของเด็กเนิร์ดทั้งหลาย เช่น คำว่า กี๊ก (Geek) ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ระหว่างคำนี้กับเนิร์ด เพราะทั้งสองคำมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่สรุปแล้วกี๊กนั้นดูเป็นเฉพาะกลุ่มมากว่าเนิร์ด เพราะว่าเขาสนใจในสิ่งที่ตัวเองคลั่งไคล้ เช่น พวกบ้าเกม บ้าคอมพิวเตอร์ บ้าวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจเรื่องแฟชั่น จึงออกแนวเชยๆ ไม่ทันสมัย 
       
       ดอร์ก (Dork) เด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างแตกต่างกับสองกลุ่มข้างบน เพราะมีลักษณะที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะดอร์กจะออกแนวเป็นคนที่ซุ่มซ่าม เป๋อ กะเปิ๊บกะป๊าบ ไปที่ไหนก็จะสร้างเสียงหัวเราะอยู่เสมอ ด้วยความเฉิ่มและตลกของพวกเขานี้เองเลยดูเป็นผู้ชายที่ไม่ห่วงลุค 
       
       แอ๊ป-พงศธร สิงห์น้อย นักศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิยาลัยของรัฐ ขั้นเทพในการเล่นเกมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ลักษณะภายนอกของแอ๊ปดูไม่ต่างไปจากเด็กเนิร์ดทั่วๆ ไป แต่เขากลับบอกให้เราเรียกเขาว่า ‘โอตาคุ’
       

       แอ๊ปเล่าให้ฟังว่า 'เนิร์ด' กับ 'โอตาคุ' ในญี่ปุ่น มีลักษณะภายนอกคล้ายๆ กัน แต่โอตาคุจะหมกมุ่นกับ anime' (หนังการ์ตูน) หรือ manga (การ์ตูนเล่ม) 
       
       “จะว่าไปแล้ว เอาง่ายๆ ตามความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ โอตาคุน่าจะไม่ต่างจากเนิร์ดเท่าไหร เพียงแต่เนิร์ดนั้นเน้นหนักไปที่พวกบ้าเรียน บ้าตำรา ส่วนโอตาคุหลงใหลในเรื่องราวที่หลากหลายมากกว่า” 
       
       โอตาคุเป็นทั้งคำในแง่บวกและคำในแง่ลบขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนที่ใช้และคนที่ถูกพาดพิงถึงในแง่บวกคือใช้เรียกคนหรือกลุ่มคน ที่มีความสามารถและความรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจมากมายเป็นพิเศษ
       
       แน่นอนถ้ามองในมุมองแง่ลบหรือจากคนที่มีอคติ โอตาคุอาจจะโดนหาว่าเป็นพวกคลั่ง พวกมาเนีย โดนตั้งแง่รังเกียจต่างๆ ซึ่งบางอย่างอาจมีสาเหตุมาจากการที่คน คนนั้นเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง ยกตัวอย่างเช่น ไม่สนใจความเป็นไปของโลกภายนอก สนใจแค่สิ่งที่ตัวเองคลั่งไคล้เท่านั้น ทำตัวแปลกแยกออกห่างจากสังคมส่วนใหญ่ (เพราะสังคมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญอยู่) ปิดกั้นตัวเองออกห่างจากเพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่เคยสนิทกันในอดีตเพียงเพราะไม่เข้าใจและไม่ได้มีความสนใจกับสิ่งเดียวกันที่ตัวเองเชี่ยวชาญอยู่ 
       
       “ในความคิดของผมโอตาคุคือคนที่รักและชื่นชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ หรืออาจจะคลั่งไคล้มาก โดยส่วนตัวแล้ว ซึ่งมุมมองคนไทยหลายๆ คนที่ไม่รู้ มักจะมองว่า โอตาคุ คือพวกที่คลั่งไคล้ บ้าๆ บอๆ เนื่องจากเห็นเราชื่นชอบเพียงแค่ อนิเม เกม และการ์ตูนญี่ปุ่น 
       
       “ถ้าคนที่เรียกเข้าใจคำว่าโอตาคุมากพอสมควร มาเรียกผมแบบนี้ ผมก็โอเค ไม่คิดมาก ถึงจะไม่ได้ชื่นชอบ แต่อย่างน้อยก็รู้สึกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น 
       
       “ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นความชอบส่วนบุคคล และความชอบนั้นไม่ได้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ไม่มีคนเดือดร้อน ก็ไม่น่าที่เราจะต้องรู้สึกผิดหรือกลัว แม้คนอื่นจะไม่ได้ชื่นชอบตามเรา มองเราเป็นพวกประหลาด ก็ช่างเขา ทีพวกเขายังชอบอะไรที่เราไม่ชอบได้เลย และผมก็ไม่ดึงดันที่จะยัดเยียดสิ่งที่ผมชอบนี้ให้แก่ทุกคน”
       
       คิดอยากจะเป็นเนิร์ด
       99.99 เปอร์เซ็น ของเด็กเนิร์ดจะใส่แว่น ทำผมถูกระเบียบ ปลา บลา บลา ล่า เจ้าของห้องเสื้อ และเครื่องประดับวัยรุ่น บอกว่า แฟชั่นเด็กเนิร์ดกำลังมาแรง ที่เห็นส่วนใหญ่เลยคือต้องสวมแว่นตา ที่สำคัญต้องเป็นแว่นที่มีแต่กรอบไม่มีเลนส์ 
       
       “แว่นตาตอนนี้วัยรุ่นชอบใส่ให้ดูเป็นเด็กเนิร์ดใสซื่อ ไม่มีพิษมีภัย และต้องเป็นแว่นที่ใหญ่พอๆ กับใบหน้า หรือไม่ก็ใหญ่กว่าหน้าเลย ถ้าแว่นเล็กๆ พอดิบพอดีเวลานี้เอาต์ไปแล้ว และต้องเป็นทรงโบราณแบบเก่าสุดๆ หรือไม่ก็ต้องทรงสมัยใหม่สุดๆ ไปเลย และอย่าลืมว่าต้องไม่มีเลนส์!!!
       
         “หากใครงบน้อยลองไปค้นห้องเก็บของที่บ้าน อาจจะเจอแว่นเก๋ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มยังสาวก็ได้ แต่ควรขออนุญาตก่อนกระชากเลนส์ออก หรือหากใครสะดวกซื้อมากกว่า แนะนำที่ตลาดนัดสวนจตุจักร วังหลัง คลองถม รับรองได้ราคาถูกใจ ไม่เกิน 200 บาท  
       
         “บางคนอาจอยากตามกระแสเด็กเนิร์ด ต้องตัดผมทรงหัวเห็ด (รองทรงสูง) ถูกระเบียบ เอาแบบ ถ้ายังเด็กอยู่ก็เกรียนๆ ห้ามใส่เจลแต่งผมทุกชนิด แว่นตาหนาๆ มีกรอบ กรอบห้ามสีฉูดฉาดด้วย เสื้อเชิ้ตแบบผู้จัดการ ลายแก่ๆ หรือสีเรียบๆ  
       
       “ถ้าเป็นนิสิตอยู่ขอให้ถูกระเบียบ กางเกงสแลกตัวใหญ่ๆ ใส่มาถึงพุง คาดเข็มขัด รองเท้าบาส หรือรองเท้าวิ่ง ใหญ่ๆ ใส่สบาย ไม่ก็รองเท้าหนังขัดมันไปเลย ห้ามใช้คอนเวิร์สเด็ดขาด และกระเป๋าเป๋สะพายหลังใหญ่ๆ หรือกระเป๋าถือแบบใส่โน้ตบุ๊กได้ ต้องใส่ของให้ตุงตลอด“
       
       โลกของเนิร์ดกับโลกของคนส่วนที่เหลือนั้น อาจแบ่งแยกกันได้อย่างสิ้นเชิงราวกับซ้ายกับขวา สมัยก่อนการเป็นเด็กเนิร์ดอาจจะอับอายและโดนล้อเลียน แต่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปมากวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไป ใครๆ ก็หันมาพิงเด็กเนิร์ดทั้งนั้น ตั้งแต่ลอกการบ้าน จนถึงผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ เด็กเนิร์ดทั้งหลายจึงมีความภูมิใจในความเป็นเนิร์ด ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าเรียกตัวเองอย่างเต็มปากเช่นทุกวันนี้
       
       *************
        เรื่อง : เพลงมนตรา บุปผามาศ

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง นิยามของ ?เด็กเนิร์ด? ?
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

สุภาภรณ์ นิลยกานนท์(เพชรสุภา)
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
สุภาภรณ์ นิลยกานนท์(เพชรสุภา)..