หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
สุภาภรณ์ นิลยกานนท์(เพชรสุภา)
จากจังหวัด ชุมพร

โรค (ทาง) จิต ติดเทคโนโลยี
โพสต์เมื่อวันที่ : 11 พ.ค. 2552 IP : เปิดอ่าน : 7047 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
-ไม่มีผลโหวต-
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

.....

โรค (ทาง) จิต ติดเทคโนโลยี

ไม่นานมานี้ กรมสุขภาพจิตได้ออกแถลงการณ์การเตือนผู้ปกครอง เรื่องการติดโทรศัพท์ในเด็กวัยรุ่น เมื่อเด็กหญิงวัย 12 ขวบ ชาวสเปนต้องเข้ารับการรักษาโรคติดโทรศัพท์ ชนิดขาดไม่ได้ จนผู้ปกครองทนไม่ไหวต้องนำตัวเข้าพบจิตแพทย์

เคสการติดเครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะโทรศัทพ์มือถือเพียงอย่างเดียว การติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาการติดเทคโนโลยีมากเกินไป นำมาซึ่งคำถามว่าทำไมเครื่องไม้เครื่องมือชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ มีอะไรดีถึงขนาดดึงดูดความสนใจของคนเราให้เล่นอินเทอร์เน็ต ชนิดที่วันไหนไม่ได้เปิดจะรู้สึกแปลกๆ

หรืออาการเหล่านี้จะคล้ายตอนเด็กๆ เคยติดตุ๊กตาหมีเน่ากับหมอนข้างวง (น้ำลาย) ชนิดห่างกายเป็นต้องลงไปชักดิ้นชักงอ อาการติดสิ่งของเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรจิตแพทย์น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้เป็นอย่างดี

** รู้จักรีวอรด์เซ็นเตอร์

รีวอร์ดเซ็นเตอร์ หรือแปลตรงตัวว่า ศูนย์รางวัล ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ มาบุญครอง พารากอน เซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต หรือจุดรับแลกของรางวัลตามศูนย์การค้า ทว่า รีวอร์ดเซ็นเตอร์ที่ว่าตั้งอยู่ในสมองคนเรา ซึ่งทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อหลั่งสารสร้างความพึงพอใจของเราออกมา เป็นศูนย์กลางทำงานที่สำคัญมากในสมองตัวหนึ่ง ถึงขนาดเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเราได้เลยทีเดียว

"พื้นฐานความต้องการของมนุษย์ก็คือ ความต้องการเพื่อการอยู่รอด โดยมีรีวอร์ดเซ็นเตอร์เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานเพื่อหลั่งสารความสุขออกมา อย่างเช่นเราหิวข้าวก็ไปรับประทานอาหาร เราก็เกิดความพึงพอใจ เรามีเซ็กซ์เราก็พึงพอใจ ทีนี้เมื่อพัฒนาการดำรงชีวิตของมนุษย์พัฒนาขึ้นมาจนพร้อมทุกอย่าง เราก็ไปแสวงหาความพึงพอใจอย่างอื่นมาแทน เสาะหาอาหารอร่อยๆ หาเหล้า หาบุหรี่ สร้างความพึงพอใจรูปแบบใหม่เรื่อยๆ

สำหรับตัวเทคโนโลยีเองไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกมต่างๆ ผมมองว่ายังไม่น่ากลัวเท่ากับสารเสพติด เช่น เหล้า และบุหรี่ สารเหล่านี้มีฤทธิ์เข้าไปทำลายสมองโดยตรง และมันสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ได้

มีการทดสอบในหนูทดลองถึงฤทธิ์ของสารเสพติด ด้วยการให้หนูเดินเข้าไปกดแป้น ทันทีที่กดแป้นตู้จะปล่อยสารเสพติดออกมาให้หนูรู้สึกมีความสุข คราวนี้มีตัวเลือกระหว่างอาหาร หนูตัวเมีย และแป้นปล่อยสารเสพติด คุณว่าหนูจะเลือกอะไร" รศ.นพ.เดชา ลลิตอนันต์พงศ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพร้อมปล่อยถามคำถามกลับมาให้เราลองคิดตรึตรองดูว่าถ้าเราเป็นหนูทดลอง เราจะเลือกอะไรระหว่างสารเสพติด อาหาร และหนูตัวเมีย?

** ความพึงใจที่ไม่เพียงพอ

ย้อนกลับมาที่ปัญหาอาการติดเทคโนโลยีกันต่อ โดยเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าพฤติกรรมการเสพติด ซึ่งเกี่ยวข้องกับรีวอร์ดเซ็นเตอร์ ที่ นพ.เดชา อธิบายให้เราฟังเอาไว้คร่าวๆ

"คุณว่าแกะดำในหมู่แกะดำ มันจะรู้ตัวว่าแปลกจากตัวอื่นไหม" "แล้วคุณว่าการดื่มเหล้าซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งหลังเลิกงานทุกเย็นเป็นเรื่องผิดปกติหรือเปล่า" คุณหมอเดชาถามอีก ถามเราด้วย 2 คำถาม นำมาซึ่งความสงสัยอีกแล้วว่า 2 คำถามนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับอาการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ติดคุยโทรศัพท์ หรือติดเหล้า

"2 คำถามนี้ก็เหมือนกับเด็กเล่นเกมในหมู่เด็กติดเกมนั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับแกะดำในหมู่แกะดำ อีกาในฝูงอีกา เช่นกัน คนติดเหล้า บุหรี่ นั่งสูบ นั่งดื่มหลังเลิกงานก็เป็นเรื่องปกติของสังคมทั้งที่มันเป็นสารเสพติด แต่เป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย

ทั้ง 2 อย่างรีวอร์ดเซ็นเตอร์ ให้รางวัลความสุขเหมือนกัน ต่างกันตรงที่เกมไม่ได้ทำลายสมอง แต่สารเสพติดทำลายสมองโดยตรง และมีผลให้รีวอร์ดเซ็นเตอร์ เปลี่ยนพฤติกรรมให้ผิดไปจากความต้องการทางธรรมชาติ ดังนั้น คำตอบของหนูทดลอง คือเลือกที่จะกดแป้นเสพติด มากกว่าจะหันไปหาอาหาร และหนูตัวเมีย ซึ่งเป็นความต้องการอยู่รอดขั้นพื้นฐาน

เหมือนที่เราเคยได้ยินข่าวเด็กเล่นเกมจนไม่เป็นอันกินอันนอน เล่นกันจนตายคาเครื่อง ก็เพราะเกมมีสิ่งเร้าที่สร้างความพึ่งพอใจให้กับเด็กมากกว่าอาหาร และเมื่อเล่นไปเรื่อยๆ เด็กก็จะรู้สึกเบื่อไม่สนุก ไม่มีความสุข ก็ต้องเพิ่มปริมาณการเล่นเพื่อสร้างความพึงพอใจเท่าเดิม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กวัยรุ่นถึงต้องเล่นเกมเป็นเวลานานๆ หรือเพิ่มปริมาณการใช้งานให้มากขึ้นเพื่อให้รีวอร์ดเซ็นเตอร์สร้างความสุขให้เท่าเดิม" คุณหมอเดชา อธิบายสาเหตุการติดเทคโนโลยีรวมทั้งพฤติกรรมการติดชนิดอื่นๆ ให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

** ตัวคัดกรองทางสังคม

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีพฤติกรรมการติดมากเกินไป รวมทั้งเราในฐานะคนรอบข้างจะช่วยคนที่มีอาการติดเหล่านี้ได้อย่างไร นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า อาการติดเหล่านี้เรายังไม่เรียกว่าเป็นโรคเป็นเพียงพฤติกรรมการติดอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแบ่งได้ 3 ระดับ อย่างแรกคือรับการติดที่ไม่เป็นการรบกวนคนอื่นหรือทำให้ตัวเองเดือดร้อน ระดับนี้ถือว่าเป็นระดับปกติที่สามารถแก้ไขได้ ระดับต่อมาคือระดับที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอย่างติดการใช้โทรศัพท์ต้องโทร.หาคนโน้นทีคนนี้ที หรือใช้โทรศัพท์จนมีค่าใช้จ่ายเดือนเป็นหมื่นๆ โดยไม่จำเป็นทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อน ตรงนี้ต้องมีการพูดคุยหาทางป้องกันแก้ไข และระดับสุดท้ายก็คือระดับการติดจนไม่เป็นอันกินอันนอน ร่างกายทรุดโทรมสุขภาพย่ำแย่เป็นการทำร้ายตัวเอง หากถึงขั้นนี้ควรได้รับการรักษาในที่สุด

ในขณะที่ นพ.เดชา บอกว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป กระบวนการทางสังคมจะเป็นตัวช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กๆ ที่มีปัญหาเหล่านี้ได้โดยอัตโนมัติ เช่น เด็กที่ติดเล่นอินเทอร์เน็ตจนผลการเรียนตกต่ำและซ้ำชั้น เขาจะเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้สอบผ่านเหมือนไม่ซ้ำชั้นให้อายเพื่อนๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ช่วงวัยรุ่น ช่วงวัยอยากรู้อยากลอง มีความคิดเป็นของตัวเองไม่ฟังเหตุผลใคร

ตรงจุดนี้พ่อแม่ต้องประคับประคองไปจนลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย อยู่ในสังคมคนทำงาน มีเรื่องความรับผิดชอบเข้ามาเป็นตัวกำหนดควบคุมพฤติกรรมของเขาอีกทีหนึ่ง โดยทั่วไปจาก 100 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่มีพฤติกรรมการติดเกม ติดคอมพิวเตอร์ 50 เปอร์เซ็นต์ จะหายเองโดยอัตโนมัติ โดยเส้นแบ่งทางสังคมระหว่างสังคมวัยเรียนกับวัยทำงาน สังคมคนทำงานเขาไม่ได้มานั่งเล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกมคอมพิวเตอร์กันเป็นกิจวัตร

หากคุณยังเล่นอยู่คุณก็จะดูแปลกแตกต่างไปจากคนอื่นก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งพฤติกรรมการติดจะค่อยๆ หายไปเอง จนถึงวัยที่เริ่มมีความรับผิดชอบมากขึ้น สำหรับสังคมไทยแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25 ปี ในขณะที่ต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 19-21 ปี เพราะสังคมไทยจะเลี้ยงดูแบบฟูมฟัก

ดังนั้น เรามักจะไม่พบคนที่มีพฤติกรรมการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต หรือติดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มคนวัยทำงาน เพราะเมื่อเขาติดเล่น งานการก็ต้องเสียไปเขาก็ต้องกลับมาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ตรงนี้คือความรับผิดชอบที่มีในคนแต่ละวัย

เมื่อได้ยินอย่างนี้แล้วเราก็สบายใจได้ครับว่า อาการติดเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากนัก อย่างน้อยๆ ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับเด็กติดยาเสพติด ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายสมองและเลิกได้ยาก ซึ่งเห็นทีจะจริงอย่างที่เด็กๆ ชอบบอกว่า ติดเกมดีกว่าติดยา แต่คิดว่าติดเล่นกีฬาน่าจะดีที่สุดครับ









ที่มา http://www.posttoday.com/

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง โรค (ทาง) จิต ติดเทคโนโลยี
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

สุภาภรณ์ นิลยกานนท์(เพชรสุภา)
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
สุภาภรณ์ นิลยกานนท์(เพชรสุภา)..