ลำดับพิธีบวชชี-บวชชีพราหมณ์
เบื้องต้น ให้ผู้บวชนุ่งขาวห่มขาวและเตรียมพานดอกไม้เครื่องสักการะให้เรียบร้อย แล้วมาพร้อมกันรอพระตามเวลาและสถานที่กำหนด เมื่อถึงเวลาพึงปฏิบัติตามลำดับดังนี้
1. จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
2. กราบพระอุปัชฌาย์ แล้วยกพานขึ้นกล่าวคำขอบวช
3. นำพานเข้าประเคน แล้วอาราธนาศีล 8
4. สมาทานศีลโดยพร้อมกันจนจบ
5. ฟังโอวาทจากพระอุปัชฌาย์
6. ถวายเครื่องสักการะหรือเครื่องไทยธรรม (ถ้ามี)
7. รับพรจากพระสงฆ์ แล้วกราบพระอีกหน เป็นเสร็จพิธี
คำขอบวชชีพราหมณ์
เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ ปัพพัชชัง มัง ภันเต สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง สะระณัง คะตัง
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นผู้บวชในพระธรรมวินัย ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
คำอาราธนาศีล 8
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ
ศีล 8
1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกฺขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. อะทินนา ทานา เวระมะณี สิกฺขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการลักสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้
3. อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
4. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
5. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฺฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6. วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงถึงวันใหม่)
7. นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม
8. อุจฺจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี
อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ (ว่า 3 ครั้ง)
"ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างอุโบสถศีลกับศีล 8"
1. อุโบสถศีล กับ ศีล 8 มีข้อห้าม 8 ข้อเหมือนกัน
2. คำอาราธนา (ขอศีล) แตกต่างกัน
3. อุโบสถศีล มีวันพระเป็นแดนเกิด สมาทานรักษาได้เฉพาะ วันพระเท่านั้น ส่วนศีล 8 สมาทานรักษาได้ทุกวัน
4. อุโบสถศีล มีอายุ 24 ชั่วโมง (วันหนึ่งคืนหนึ่ง) ส่วนศีล 8 ไม่มีกำหนดอายุในการรักษา
5. อุโบสถศีล เป็นศีลสำหรับชาวบ้านผู้ครองเรือน หรือเป็นศีล ของชาวบ้านผู้บริโภคกาม (กามโภคี) ส่วนศีล 8 เป็นศีลสำหรับ ชาวบ้านผู้ไม่ครองเรือน เช่น แม่ชี
|