หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์
จากจังหวัด ขอนแก่น

การศึกษาสังคมเชิงคุณธรรม ของ ซี. ไรท์ มิลล์ และโรเบิร์ต เอ็น. เบลลาช์
โพสต์เมื่อวันที่ : 24 ธ.ค. 2551 IP : เปิดอ่าน : 6494 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(70.00%-12 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

บทความขนาดสั้นนี้ เป็นการนำเสนอแก่นแนวคิด (Core of Concept) ของนักคิดทางสังคมวิทยาอเมริกัน 2 ท่าน คือ Charl Wright Mills และ Robert Neelly Bellah ซึ่งมุ่งสร้างสังคมคุณธรรม (Moral Society) ผ่านข้อเสนอในงานเขียนของเขาทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็น From Max Weber : Essays in Sociology (1946) ที่ Mills เขียนร่วมกับ Hans Gerth และหนังสือไตรภาค (Trilogy) อันลือลั่นซึ่งประกอบด้วย The New Men of Power (1948) White Collar : The American Middle Class (1953) และ Power Elite (1956) รวมถึงThe Sociological Imagination (1959) ของ Mills ขณะที่งานเขียนของ Bellah ที่สำคัญ คือ Tokugawa Religion: The Values of Pre-Industrial Japan (1957) The Broken Covenant : American Civil Religion in Time of Trial (1975) รวมถึง Habits of the Heart : Individualism and Commitment in American Life (1985) และ The Good Society (1991) ซึ่งเขียนร่วมกับเพื่อนหลายคน ในช่วงท้ายของบทความจะเป็นการสรุป เพื่อชี้ให้เห็นถึงความหมาย และลักษณะของการศึกษาสังคมเชิงคุณธรรม (The Moral Sociology) เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาสังคมในมุมมองของนักสังคมวิทยารุ่นเยาว์เช่นตัวผู้เขียนนี้

.....

ซี. ไรท์ มิลล์  (Charl Wright Mills)

Charl Wright Mills เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1916 ที่เท็กซัส สหรัฐอเมริกา เขาเป็นนักสังคมวิทยาการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ในปี คศ. 1941 และเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ตั้งแต่ปี คศ.1946 และเสียชีวิตในปี คศ.1962
C. Wright Mills ถือได้ว่าเป็นนักสังคมวิทยาหัวสมัยใหม่ ผู้ซึ่งท้าทายความคิดของ Talcott Parsons อย่างถึงพริกถึงขิง ในลักษณะของการศึกษาวิเคราะห์สังคมเชิงวิพากษ์ (Critical Style of Social Analysis) ต่อทั้งอุดมการณ์วิทยาศาสตร์ (Scientific Ideal) และทฤษฎีหลักของ Parsons

ในขณะที่ Talcott Parsons ได้ทำการการแปลเนื้อหาจากเนื้อหาภาษาเยอรมัน คือ The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักจากหนังสือ Economy and Society ของ Max Weber เพื่อใช้ในการตีความ (Interpretation) เพื่อการสังเคราะห์ทฤษฎี (Theoretical Synthesis) ของเขาเท่านั้น มิได้แนะนำแนวคิดของนักคิดจากฝั่งยุโรปแก่นักสังคมวิทยาอเมริกัน ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แต่ประการใด C. Wright Mills ได้นำเสนอแนวคิดผ่านผลงานที่เขาเขียนและแปลร่วมกับ Hans Gerth ในปี คศ. 1946 คือ From Max Weber : Essays in Sociology เพื่อแนะนำแนวคิดในความเรียงของนักคิดชาวเยอรมันที่ยิ่งใหญ่อย่าง Weber ซึ่ง Mills สำเหนียกดีว่าเป็นนักสังคมวิทยาที่ให้ความสำคัญต่อการอธิบายอย่างแจ่มแจ้ง (Clarify) ในความหมายที่ทันสมัยของ สังคม (Social) การเมือง (Political) และศีลธรรม (Moral) และสรุปว่า นักสังคมวิทยา คือ ปัญญาชนสาธารณะ (The Sociologist as Public Intellectual) (Steven Seidman,  2004 : 98)

กล่าวได้ว่า Parsons และ Mills ต่างมีจุดยืนในเชิงสังคมวิทยาที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ขณะที่Parsons มุ่งที่จะสร้างจินตภาพ (Envision) และสังเคราะห์ทฤษฎีเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม Mills กลับมีจินตนาการ (Imagine) ว่าสังคมวิทยาเป็นวาทกรรมสาธารณะ เหล่าทฤษฎีทั้งหลาย คือ แนวคิดที่ใช้นำทางสู่การวิเคราะห์สังคมเชิงประจักษ์ (Empirical) นั่นคือ Mills พยายามที่จะสร้างสังคมวิทยาสาธารณะ (Public Sociology) ขึ้นมา และเขายังเชื่อว่าความจริงแท้ของสังคมเป็นส่วนผสมของชีวประวัติและประวัติศาสตร์ นั่นทำให้เขาถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักสังคมวิทยาอเมริกันในยุคนั้น ที่ได้ชื่อว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม (Conservative) อันเป็นผลมาจากอิทธิพลครอบงำของ Parsons และจัดให้เขาอยู่ในบริเวณชายขอบของสังคมวิทยา (Sociology Marginal) (สุเทพ   สุนทรเภสัช, 2540 : 68-69) 

กล่าวกันว่า หาก C. Wright Mills เป็นชายขอบของสังคมวิทยา เขาก็คือ ชายขอบผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดต่อนักสังคมวิทยาสาธารณะ (Public Sociologist) ในเวลานั้น(Steven Seidman,  2004 : 99) นอกจากนี้ จากการที่เขาได้เขียนงานเกี่ยวกับหลักการเสรีภาพแห่งชาติ (National Liberal) และนิตยสารเอียงซ้าย ตลอดจนหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ทำให้เขาถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษแห่งซ้ายใหม่ (Hero of New Left) (Steven Seidman,  2004 : 104)

ขณะที่ Parsons กำลังออกแบบระบบหลักของเขาอยู่นั้น Mills ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานที่เป็นหนังสือไตรภาคที่ยิ่งใหญ่ ที่นำเสนอภาพของอเมริกาสมัยใหม่หลังสงคราม ซึ่งประกอบด้วย The New Men of Power ในปี คศ.1948 ตามด้วย White Collar : The American Middle Class ในปี คศ.1953 และ The Power Elite ในปี คศ.1956 แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชนสังคมวิทยาอเมริกันขณะนั้นเฉกเช่นเดียวกันกับ Parsons แต่ผลงานของ Mills ก็สะท้อนความเป็นนักศึกษาสังคมเชิงคุณธรรมออกมาอย่างชัดเจน ผ่านผลงานไตรภาคดังกล่าว
 

ใน The New Men of Power (1948) Mills สรุปว่า การเคลื่อนไหวของแรงงาน มีความมุ่งหมายเพียงเล็กน้อย เพื่อขอแบ่งปันความมั่งคั่งจากการเติบโตของอเมริกา เขาเชื่อว่าพลังสำคัญในการต่อรอง คือ การเกาะเกี่ยวกันให้ติดระหว่างผู้นำแรงงาน เพื่อสร้างชนชั้นนำใหม่ (New Elite) ซึ่งจะทำให้สังคมมีแนวโน้มที่เป็นสังคมที่ปรองดอง (Social Accommodation)
หนังสือเล่มต่อมา คือ White Collar : The American Middle Class (1953) Mills ได้วิเคราะห์เพื่อชำแหละสถานภาพของชนชั้นกลางใหม่ (New Middle Classes) ของอเมริกาในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่กำลังเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ คนงานคอปกขาว (White Collar Worker) หรือ คนงานชั้นผู้นำ ผู้ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำในสหภาพแรงงาน (Labour Union) กล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นสัญญาณเตือนอเมริกาถึงการขับเคลื่อนของชนชั้นกลางใหม่ ที่กำลังจะนำไปสู่ถนนแห่งสังคมรวบอำนาจ (Social Totalitarianism)

หนังสือเล่มสุดท้ายของไตรภาค คือ The Power Elite (1956) Mills ชี้ให้เห็นถึงการที่อเมริกาถูกครอบงำโดยอิทธิพลของกลุ่มชนชั้นนำ อันได้แก่นักธุรกิจ นักการเมือง และนายทหาร ทำให้เกิดการจัดอำนาจ (Power Organization) ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มคนเล็ก ๆ หาใช่มวลประชา (Mass) ไม่

นอกจากนี้ ในหนังสือ The Sociological Imagination (1959) Mills ได้เรียกร้องให้นักสังคมวิทยาทั้งหลายในการช่วยกันใช้ภูมิปัญญาในการคุ้มครองคุณค่าแห่งประชาธิปไตย (Democratic Values)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น จะเห็นได้ว่า Mills มีจุดมุ่งหมายที่จะประยุกต์จินตนาการสังคมวิทยา เพื่อเข้าใจโครงสร้างสังคม โดยอาศัยข้อสันนิษฐานที่ว่า ความจริงแท้ของสังคมเป็นส่วนผสมของชีวประวัติและประวัติศาสตร์ การทำให้มีเหตุผลทำให้เกิดการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและอำนาจผู้นำ การเพิ่มอัตราลูกจ้างที่พึ่งพิงมากขึ้น ลดเสรีภาพและเพิ่มความรู้สึกแปลกหน้า โดยเขาเรียกร้องให้นักสังคมวิทยาช่วยกันใช้ภูมิปัญญาในการคุ้มครองและธำรงไว้ซึ่งสังคม อันถือเป็นการศึกษาสังคมเชิงคุณธรรม

โรเบิร์ต เอ็น. เบลลาช์ (Robert Neelly Bellah)
 

Robert Neelly Bellah  เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1927 ที่โอโกฮามา สหรัฐอเมริกา สำเร็จปริญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) เมื่อปี คศ.1955 และสอนหนังสือที่นั่น จนถึงปี คศ.1967 จึงย้ายไปสอนที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กเลย์ (University of California at Berkeley) 
 

Robert N. Bellah เป็นหนึ่งในนักสังคมวิทยาจำนวนน้อยนิดที่สนใจด้านศาสนา (Religion) อย่างจริงจัง ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักในนามของผู้ศึกษาแนว Weber คือ หนังสือ Tokugawa Religion: The Values of Pre-Industrial Japan (1957) ซึ่งเขาศึกษาจากงานวิทยานิพนธ์ Protestant Ethic ของ Weber ซึ่งศึกษาในบริบทของประเทศญี่ปุ่นในช่วงก่อนที่จะทันสมัย 

ผลงานของ Bellah จะเน้นไปที่การสร้างคุณธรรมให้เกิดในสังคมอเมริกัน ด้วยความเป็นนักนิยมศาสนา ทำให้เขามองเห็นภาพวิกฤติทางวัฒนธรรม (Culture Crisis) ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน ทำให้เขาเรียกร้องให้นักสังคมวิทยาหันมาให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบต่อศาสนาซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคม โดย Bellah เชื่อว่า สังคมวิทยา คือ ปรัชญาสาธารณะ (Sociology as Public Philosophy) (Steven Seidman,  2004 : 107) ที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรม

Bellah ได้ให้แนวทางในการวัดการเป็นสังคมที่มีคุณธรรมว่า ต้องวัดในมิติต่างๆ ได้แก่ ข้อผูกมัดกับประชาธิปไตย (Commitment to Democracy) สังคมเมตตาธรรม (Social Compassion) ศีลธรรมคุณความดี (Moral Virtue) และความโอบอ้อมอารี (Tolerance) โดยไม่ใช่การใช้กำลังทางการทหาร (Military Might) หรือความมั่งคั่งทางสังคม (Social Affluence)
Bellah นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสังคมวิทยา ในรูปแบบของการสนทนาสาธารณะ (Public Conversation) โดยในผลงานหลักของเขา 3 เล่ม อันประกอบด้วย The Broken Covenant : American Civil Religion in Time of Trial (1975) รวมถึง Habits of the Heart : Individualism and Commitment in American Life (1985) และ The Good Society (1991) ซึ่งเขาเขียนร่วมกับเพื่อนหลายคน เขาได้จินตนาการถึงการสนทนาเกี่ยวกับอเมริกากับคู่สนทนา ซึ่งอาจเป็นผู้ชม นักวิจารณ์ ตลอดจนผู้อ่าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการพูดถึงเรื่องราวของตัวเอง (Self) สังคม (Society) อิสรภาพ (Freedom) ความยุติธรรม (Justice) และชุมชน (Community) 

ในหนังสือ The Broken Covenant : American Civil Religion in Time of Trial นับเป็นจุดเริ่มต้นของ Bellah ในการกู่ร้องให้สังคมได้เห็นถึงวิกฤติทางวัฒนธรรม (Cultural Crisis) ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความเข้าใจในรากของคริสต์ศาสนา ของชาวอเมริกัน ซึ่งเริ่มเกิดปัญหาขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

หนังสือ Habits of the Heart : Individualism and Commitment in American Life ที่ตีพิมพ์ในปี คศ.1985 Bellah และเพื่อนๆ ได้พยายามผูกความเป็นสาธารณะเข้าไปในความคิดของอเมริกันชน ในเรื่องราวของปัจเจก (Individual) ชุมชน (Community) ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะ (Private and Public Life) อิสรภาพ (Freedom) ความสำเร็จ (Success) และความยุติธรรม (Justice) พวกเขาปรารถนาที่จะสำรวจหาเส้นทางตามจินตนาการของชาวอเมริกันในรูปแบบต่าง ๆ

ส่วนหนังสือ The Good Society ในปี คศ.1991 Bellah และเพื่อนๆ โต้แย้งเกี่ยวกับการมีชีวิตในโลกแห่งบริษัทนิติบุคคล (Corporation) ธุรกิจขนาดใหญ่ (Big Business) ระบบราชการที่อุ้ยอ้าย (Huge Government Bureaucracy) ระบบเศรษฐกิจโลก (Global Economy) และการแผ่ขยายของจักรวรรดิสื่อ (Media Empire) ที่ทำให้สังคมอเมริกันตกอยู่ในวิกฤติทางวัฒนธรรม อันเป็นผลมาจากความทันสมัย ทั้งส่วนบุคคล ชุมชน และสังคม พวกเขาหวังที่จะปกปักรักษาความเป็นประชาธิปไตยของปัจเจกชนด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) ในสังคมสาธารณะ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น จะเห็นได้ว่า Bellah มีความมุ่งหมายที่จะสร้างคุณธรรมให้เกิดในสังคม ภายหลังวิกฤติทางวัฒนธรรม (Culture Crisis) ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความเข้าใจในรากของคริสต์ศาสนา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เขาได้พยายามผูกความเป็นสาธารณะเข้าไปในความคิดของอเมริกันชน และปกปักรักษาความเป็นประชาธิปไตยของปัจเจกชนด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) ในสังคมสาธารณะ โดย Bellah เชื่อว่า สังคมวิทยา คือ ปรัชญาสาธารณะ (Sociology as Public Philosophy) ที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรม

บทสรุป (Conclusion)
จากแนวคิดของนักสังคมวิทยาอเมริกันทั้งสอง คือ Charl Wright Mills และ Robert Neelly Bellah ที่มุ่งสร้างสังคมคุณธรรม (Moral Society) ผ่านงานเขียนที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาสังคมเชิงคุณธรรม (The Moral Sociology) หมายถึง การศึกษาสังคมด้วยความรับผิดชอบ คุ้มครองและธำรงไว้ซึ่งสังคมที่มีคุณธรรมด้วยการให้ความสำคัญแก่ตนเอง ผู้อื่น ชุมชน และสังคมในภาพรวมอย่างเสมอภาค และปกปักรักษาความเป็นประชาธิปไตยของปัจเจกชนและสังคมสาธารณะ

จากความหมายดังกล่าว ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นหน้าที่ที่สำคัญของนักสังคมวิทยาที่ต้องยึดเอาเป็นหลักประจำใจในการทำความเข้าใจในสังคม ตลอดจนเสนอแนะแนวทางของสังคมอย่างเป็นกลาง ปราศจากอคติ สมกับความเป็นสังคมวิทยา ในฐานะปรัชญาสาธารณะ (Sociology as Public Philosophy) ที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรมต่อไป

หนังสืออ้างอิง

สุเทพ   สุนทรเภสัช. (2540). ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย. เชียงใหม่ : บริษัท สำนักพิมพ์ โกลบอลวิชั่น จำกัด.
สัญญา   สัญญาวิวัฒน์. (2550). ทฤษฎีสังคมวิทยา เนื้อหาและแนวการใช้ประโยชน์เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Bruce, Steve ; and Yearley, Steven. (2006). The SAGE Dictionary of Sociology. London : SAGE Publication Ltd.
Parker, John ; Mars, Leonard ; Ransome, Paul ; and Stanworth, Hilary. (2003). Social Theory : A Basic Tool Kit. New York : Palvarge Macmillan.
Seidman, Steven. (2004). Contested Knowledge : Social Theory Today. 3rd ed. Malden : Blackwell Publishing.

Website
http://en.wikipedia.org/wiki/C._Wright_Mills
http://en.wikipedia.org/wiki/Robert_N._Bellah
http://www.faculty.rsu.edu/~felwell/Theorists/Mills
http://www.robertbellah.com

 

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง การศึกษาสังคมเชิงคุณธรรม ของ ซี. ไรท์ มิลล์ และโรเบิร์ต เอ็น. เบลลาช์
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์..