หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
ธรรมศักดิ์ กาญจนบูรณ์
จากจังหวัด สุพรรณบุรี

ทำไมกะเหรี่ยงต้องคอยาว...ปาดอง(padaung )
โพสต์เมื่อวันที่ : 2 พ.ย. 2551 IP : เปิดอ่าน : 6844 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(85.33%-45 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

.....

 

ปะดอง  PADAUNG

 ปะดองหรือปาดอง  เหมือนกัน ครับ...

                ปาดอง  หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว  เป็นกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐคะยาประเทศเมียนมาร์ (พม่า)  บริเวณที่ราบสูงตอนเหนือแม่น้ำสาละวิน  ทิศตะวันออกของเมียนมาร์ติดชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย  มีประชากรประมาณ 30,000 คน ปาดองเรียกตนเองว่า แลเคอ  ภาษาอังกฤษใช้คำว่า The Long - neck, Giraffe- necked  wemen  หรือ The Giraffe women ในปี ค.ศ.1922  Marshall ได้จัดแบ่งกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศเมียนมาร์ออกเป็น  3 กลุ่ม และได้จัดปาดองไว้ในกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงบเว

                ประมาณปี พ.ศ. 2528 2529  บริษัทนำเที่ยวได้ติดต่อกับชาวกะเหรี่ยงในเขตเมียนมาร์ชื่อ ตูยีมู เพื่อนำปาดองเข้ามาอยู่ในเขตชายแดนไทยที่บ้านน้ำเพียงดิน  เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกวิธีหนึ่ง  โดยปาดองได้รับเงินค่าตอบแทนสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและสมทบทุนซื้ออาวุธไว้รบกับทหารเมียนมาร์  ปัจจุบันปาดองส่วนหนึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านในสอยเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ  30 กม. เพราะบ้านน้ำเพียงดินการคมนาคมไม่สะดวกต้องเดนทางด้วยเรือใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง  ค่าโดยสารคนละ 300 บาท นอกจากนั้นยังถูกทหารเมียนมาร์รบกวน  บริษัทนำเที่ยวเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านในสอย  หมู่บ้านนี้มีประชากร 145 คน  32 หลังคาเรือน  เป็นชาวไทยใหญ่  ส่วนบ้านปาดอง  มีประมาณ 17 หลังคาเรือน  ประชากรประมาณ 70-80 คน  อยู่เลยจากหมู่บ้านไทยใหญ่ไปประมาณ 3 กม. ชาวปาดองถือว่าเป็นผู้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว  และขณะนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว  หญิงปาดองที่ถูกบันทึกภาพเผยแพร่ทั่วไปจะได้แก่  มานั่ง  มะซอ โมเลาะ  โมเปาะ  และมะไป่

                นอกจากปาดองที่บ้านในสอยแล้ว  ก็ยังมีปาดองอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือ บ้านห้วยเสือเฒ่า  อยู่ติดกับหมู่บ้านกะเหรี่ยง  ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 10 กม.  รถยนต์เข้าถึงหมู่บ้านได้  แต่ในฤดูฝนเดินทางลำบากเพราะต้องข้ามลำห้วยหลายแห่ง

                ปาดองบ้านห้วยเสือเฒ่ามี  19  หลังคาเรือน ประชากร 80 คน  มีหญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใส่ห่วงคอทองเหลืองทั้งหมด 31 คน  หมู่บ้านดังกล่าวนี้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว  มีนักธุรกิจนำพวกปาดองมาปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่แบบดั้งเดิมของเขา  ไม่ได้ทำมาหากินด้วยอาชีพการเกษตร  เขาไม่สามารถบุกเบิกหักล้างถางป่าสำหรับการเพาะปลูกได้เพราะอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ปาดองหมู่บ้านนี้จึงมีรายได้หลักจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม นักธุรกิจผู้ชักจูงให้พวกเขามาอยู่นั้น  ได้จ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้ครอบครัวละ 1,500 บาท/เดือน และยังมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยให้อีกด้วย  นอกจากนี้ก็ซื้อข้าวให้กินทุกหลังคาเรือน  ปาดองสามารถขายสินค้าของที่ระลึกรับของแจกและเงินค่าถ่ายรูปจากนักท่องเที่ยว  จึงสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ

                นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้าไปเยี่ยมชมในหมู่บ้านปาดองแห่งนี้จะต้องจ่ายให้แก่ผู้จัดการและเจ้าของกิจการซึ่งอยู่ประจำในหมู่บ้าน คนละ 200 บาท เดือนหนึ่งๆ เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมประมาณ 1,000 คน

 ลักษณะการแต่งกาย

                ชายเผ่าปาดอง  แต่งกายเหมือนเผ่าอื่น ๆ คือ นุ่งกางเกงขาก๊วยแบบจีน  เสื้อตัวสั้นศรีษะโพกผ้า  ถ้าไปงานก็สวมกำไลข้อเท้าที่ทำจากลูกปัดสีขาว  น่องตอนบนจะใส่กำไลไม้ไผ่หรือหวาย

               หญิงปาดองมีเอกลักษณ์การแต่งกายที่เด่นแตกต่างจากหญิงชาวเขาเผ่าอื่น ๆ จนกลายเป็นชื่อเรียกเผ่าพันธุ์  ตามลักษณะลำคอที่ยาวเนื่องจากรอบคอสวมใส่ห่วงทองเหลืองซ้อนกันหลายห่วง  ตั้งแต่ไหปลาร้าจรดคาง  จนทำให้ลำคอยาวผิดปกติ และทรงผมด้านหน้าจะไว้หน้าม้า  ด้านหลังจะมัดเป็นมวยแล้วใช้ผ้าสีเขียว  สีชมพูคาดทับทิ้งชายห้อยระบ่า  แขนจะใส่กำไลที่ทำจากอลูมีเนียมข้างละ 3-5 วง  และที่ขาบริเวณใต้หัวเข่าจะสวมห่วงทองเหลืองไว้อีกข้างละประมาณ 10-15 วง  รองด้วยผ้าสีชมพูและจากน่องลงมาถึงข้อเท้าจะพันด้วยผ้าสีน้ำเงิน  เสื้อที่สวมใส่เป็นสีขาวคอวีทรงกระสอบ  ตัวยาวถึงสะโพกล่าง  ผ้าถุงสีกรมท่าสั้นแค่หัวเข่า มีลวดลายเป็นเส้นสีชมพูรอบชายผ้าถุงที่แคบ  และนุ่งพับทบกันด้านหน้า  ประเทศเมียนมาร์มีชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์ เครื่องแต่งกายของหญิงจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ  ในการบอกความแตกต่างระหว่างเผ่าและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นข้อห้ามของแต่ละเผ่า  บางเผ่ามีประเพณีให้หญิงสักตามตัวมากจนไม่เป็นที่สนใจของเพศตรงข้ามต่างเผ่า

ตำนานการใส่ห่วงทองเหลืองที่คอของหญิงปาดอง

                มียายปรัมปรา  กล่าวถึงการใส่ห่วงคอทองเหลืองของปาดองหลายเรื่อง เช่น  มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าในอดีตกาล  ภูติผีและวิญญาณไม่พอใจพวกปาดองจึงส่งเสือมากัดกินโดยเฉพาะผู้หญิง  บรรพบุรุษปาดองเกรงว่าถ้าผู้หญิงตายหมดเผ่าพันธุ์ตนจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้  จึงให้ผู้หญิงใส่ปลอกคอทองเหลืองเพื่อป้องกันไม่ให้เสือกัดคอระหว่างเดินทางและอีกตำนานหนึ่งเล่าว่าพวกปาดองมีแม่เป็นมังกรและหงส์จึงต้องใส่ห่วงคอเพื่อทำให้คอยาวระหงส่ายไปมา  สง่างามเหมือนคอหงส์และมังกร

                นอกจากนั้นยังมีเหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์  กล่าวไว้ว่าในอดีตปาดองหรือแลเคอเป็นนักรบผู้กล้าหาญมีความกตัญญูรักษาสัจจะวาจาเท่าชีวิต  และเคยมีอำนาจเหนือเมียนมาร์ได้ปกครองประเทศเมียนมาร์มาก่อน  แต่ถูกเมียนมาร์รวมกำลังกับชนเผ่าบังการี  ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของบังคลาเทศ  ทำสงครามขับไล่ปาดองจนต้องอพยพหลบหนีเพราะพ่ายแพ้ต่อการรบ  และได้นำราชธิดาผู้นำเผ่า  ซึ่งอายุได้เพียง 9 ปี หลบหนีมาด้วยและราชธิดาได้นำต้นไม้ที่แลเคอเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์  เรียกว่า  ต้นปาดองมีสีเหลืองอร่ามเหมือนทอง  เมื่อมาถึงชัยภูมิที่เหมาะสมและพ้นอันตรายจากการติดตามของข้าศึกแล้วจึงหยุดไพร่พล  ราชธิดาก็เอาต้นปาดองนั้นพันคอไว้และประกาศว่าจะเอาต้นปาดองออกจากคอเมื่อแลเคอกลับไปมีอำนาจปกครองเมียนมาร์  นับแต่นั้นมาพวกแลเคอผู้รักษาวาจาสัตย์ก็จะนำเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 9 ขวบมาพันคอด้วยห่วงทองเหลืองที่มีความหนาประมาณ ½  เซนติเมตร  เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม.  โดยมีหมอผีประจำเผ่าเป็นผู้ทำพิธี  โดยท่องมนต์และกลอนเตือนใจให้สำนึกว่าต้องพยายามกู้ชาติชิงแผ่นดินคืน

                การใส่ปลอกคอทองเหลืองนั้นเริ่มเมื่อ เด็กหญิงปาดองอายุได้ 5-9  ปี  หมอผีประจำหมู่บ้านจะทำพิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่เพื่อหาฤกษ์  แต่เดิมมาจะใส่เฉพาะเด็กหญิงที่เกิดวันพุธตรงกับวันเพ็ญเท่านั้นและต้องเป็นเลือดปาดองแท้ ๆ จะเป็นลูกผสมต่างเผ่าพันธุ์ไม่ได้  การปฏิเสธใส่ห่วงคอจะถูกสังคมรังเกียจทำให้หญิงปาดองต้องอับอาย  บางรายถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านทำให้เกิดความว้าเหว่  กลัดกลุ้มจนล้มป่วยและในที่สุดก็ตายหรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย   ปัจจุบันหญิงปาดองที่ใส่ห่วงคอทองเหลืองไม่จำเป็นต้องเลือกเฉพาะที่เกิดวันเพ็ญ  ที่ตรงกับวันพุธแล้วต่างหันมานิยมใส่กันหมด  โดยใช้ทองเหลืองที่นำมาจากเมืองเบงลองประเทศเมียนมาร์  น้ำหนักเมื่อแรกใส่ประมาณ 2.5 กิโลกรัม   นำทองเหลืองมาดัดเป็นเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/3 นิ้ว ไส้ตัน  ก่อนใส่ต้องอังไฟให้อ่อน  แล้วนำมาขดรอบคอเป็นวง ๆ เหมือนลวดสปริง  ประมาณ  9 วง  ผู้ใส่ห่วงจะต้องมีความชำนาญและมีฝีมือ  มิฉะนั้นห่วงจะไม่สวย  และผู้ถูกใส่ห่วงจะเจ็บคอ  ปกติทั่วไปหญิงปาดองจะมีห่วงคอ 2 ชุด ชุดแรกใส่เป็นฐานบนไหล่มี 5 วง  ต่อจากนั้นขึ้นไปบนคอจะมีอีกประมาณ  20 วง  ห่วง  2 ชุดนี้  แยกออกจากกันแต่มีโลหะยึดไว้ด้านหลังคอ  และวงบนสุดจะมีหมอนใบเล็ก ๆ ใส่ค้ำคางไว้กันการเสียดสี  การเพิ่มจำนวนห่วงที่คอ จะเปลี่ยนขนาดทุก 4 ปี  ในชีวิตของหญิงปาดองจะเปลี่ยนทั้งหมด  9  ครั้ง  ครั้งสุดท้ายที่เปลี่ยนขนาดหญิงปาดองจะมีอายุประมาณ 45 ปี  จำนวนห่วงมากที่สุด 32 ห่วง  น้ำหนักประมาณ 13 15 กิโลกรัม  ความยาวสูงสุดประมาณ  35 ซม.  จำนวนห่วงที่นับได้จากคอหญิงปาดองที่บ้านในสอย ประมาณ 22 ห่วง  ลำคอยาว  9 นิ้ว  น้ำหนักประมาณ  7  กิโลกรัม  คิดเป็นเงินประมาณ 6,000 บาท หญิงปาดองจะใส่ห่วงนี้จนกว่าจะตาย  การถอดห่วงคอของหญิงปาดองนอกจากเพื่อเปลี่ยนขนาดแล้ว  ยังถอดในโอกาสอื่น ๆ  เช่น เมื่อต้องท้องเตรียมจะคลอดลูกเมื่อคลอดลูกเสร็จแล้วก็จะใส่ห่วงคอตามเดิม   ส่วนการถอดห่วงคอที่เป็นการลงโทษนั้นกระทำเมื่อมีการทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว  จะถูกถอดคอออกทำให้คอที่ยาวโงนเงนไปมาไม่สามารถรับน้ำหนักได้คอจะพับหายใจขัด  เกิดความอายและป่วยตายในที่สุด  มีผู้สันนิษฐานว่าถ้าพิจารณาทางสรีระวิทยาการใส่ห่วงนานเป็นปี ๆ กล้ามเนื้อที่คออาจตีบหรือตาย  แต่ผู้ที่ถอดห่วงออกจะไม่เป็นอันตรายเพราะร่างกายได้พัฒนาสร้างกล้ามเนื้อใหม่ที่แข็งแรงกว่าขึ้นมา  ถ้าถอดห่วงแล้วสวมที่พยุงคอไว้ระยะหนึ่งจนกว่ากล้ามเนื้อใหม่จะพัฒนาขึ้นมาคอก็จะมีขนาดเท่าคนปกติ  นายแพทย์เกซิเซียน  ได้ถ่ายเอกซเรย์หญิงปาดองที่โรงพยาบาลย่างกุ้งพบว่าคอไม่ได้ยืดยาว  แต่เป็นช่วงหน้าอกที่ถูกผลักดันลงมาให้ทรุดลงเมื่อเพิ่มขนาดห่วงกระดูกไหปลาร้ารวมทั้งซี่โครงก็จะทรุดตัวลงทำให้ดูคอยาว  เพราะน้ำหนักจะกดทับกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 และ 2  และกระดูกไหปลาร้าโค้งงอลง  ปัจจุบันหญิงปาดองที่ถือศาสนาคริสต์จะไม่ใส่ห่วงที่คอทำให้คล่องตัวต่อการทำมาหากินในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ศาสนาและความเชื่อ

                                ปาดองที่นับถือศาสนาพุทธจะควบคู่ไปกับการเชื่อเรื่องผีและสิ่งที่เหนือธรรมชาติทั้งปวง  พวกเขาถือว่าหากทำให้ผีไม่พอใจจะทำให้เกิดภัยอันตรายมาสู่คนในบ้านเรือนและชุมชน  ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งศาลที่บ้าน ที่ทุ่งนา  ริมลำห้วย  ในป่า  เมื่อจะประกอบพิธีกรรมจะต้องมีการเสี่ยงทายด้วยกระดูกไก่  เพื่อหาฤกษ์  เช่น การปลูกบ้าน  ถางไร่  หว่านเมล็ดพันธุ์  การเก็บเกี่ยว  การล่าสัตว์  ถ้ามีการเจ็บป่วยเชื่อว่าผีและวิญญาณมาเอาขวัญผู้ป่วยไป  ต้องให้หมอผี เป็นผู้ติดต่อสอบถามว่าต้องการให้เซ่นด้วยอะไร  เช่น  หมู  ไก่  ข้าว  สุรา  บางครั้งถ้ามีโรคระบาดป่วยกันเกือบทั้งหมู่บ้านพวกเขาต้องจัดพิธีกรรมบวงสรวงผีและวิญญาณเพื่อชำระล้างหมู่บ้าน  สำหรับปาดองที่อาศัยในรัฐคะยา  ประเทศเมียนมาร์มานั้น  ส่วนมากจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  ซึ่งมีคณะผู้สอนศาสนาเข้าไปเผยแพร่มานานแล้ว..........จบครับเดี๋ยววันหน้าจะพาเผ่าอื่นๆที่นั่งรออยู่มาพบกันอีกครับ....

                             .........mon

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 
คลิกเพื่อดูภาพที่ใหญ่ขึ้น
คำบรรยายภาพ

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง ทำไมกะเหรี่ยงต้องคอยาว...ปาดอง(padaung )
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

ธรรมศักดิ์ กาญจนบูรณ์
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
ธรรมศักดิ์ กาญจนบูรณ์..