หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์
จากจังหวัด ขอนแก่น

แรงงานชนชั้นกลางของไทย ในมุมมองหลังทันสมัย
โพสต์เมื่อวันที่ : 24 ก.ย. 2551 IP : เปิดอ่าน : 6432 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(70.91%-11 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

บทความนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะฉายภาพของสังคมแรงงานชนชั้นกลางของไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่กำลังพยายามสร้างความทันสมัย (Modernization) ในมุมมองของแนวคิดหลังทันสมัย (Postmodern) โดยนำเสนอสาระ 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) แรงงานชนชั้นกลางของไทยในวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) (2) แนวคิดหลังทันสมัยอย่างย่อ และ (3) แรงงานชนชั้นกลางของไทยในมุมมองหลังทันสมัย นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีความมุ่งหวังว่าบทความนี้ จะเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนเงาความคิด ?หลังทันสมัย? ในวิถี ?ทันสมัย? ซึ่งมิใช่การมองตามช่วงเวลา (Period) ว่าสิ่งใดมาก่อน-หลัง แต่เป็นการมองในเชิงแนวคิด (Concept) มากกว่า

.....

แรงงานชนชั้นกลางของไทยในวัฒนธรรมป๊อป (Thai Middle Class Labour in Pop Culture)

จากการมุ่งพัฒนาประเทศเพื่อสร้างความทันสมัย (Modernization) อย่างเป็นรูปธรรมของประเทศไทย สะท้อนจากการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา มีตัวแบบของการพัฒนา (Development Model) ที่เป็นไปตามแนวคิดอย่างตะวันตก (Westernization) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) โดยอาศัยระบบทุนนิยม (Capitalism) เป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) ทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น เปลี่ยนจากการดำรงชีวิตเรียบง่ายในสังคมจารีตสู่การดำรงชีวิตที่อาศัยความรู้และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตจากเกษตรกรรมเพื่อยังชีพมาเป็นการผลิตขนาดใหญ่เพื่อจำหน่าย เกิดระบบอุตสาหกรรมและโรงงานมีการใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น เกิดเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructures) ที่สำคัญ เช่น ถนน ระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากเกษตรกรสู่การเป็นแรงงานลูกจ้างในธุรกิจอุตสาหกรรม ตลอดจนการเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง (Middle Class)

ในปัจจุบัน ชนชั้นกลาง (Middle Class) ของสังคมไทย ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ทรงพลัง และเป็นตัวแปรในการกำหนดทิศทางของสังคม เนื่องจากเป็นชนชั้นที่มีความรู้ มีกำลัง และมีจำนวนมาก ตลอดจนเป็นกำลังแรงงาน (Labour Force) ของทุกสาขาอาชีพ ทำให้ชนชั้นกลางนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนา และความอยู่รอดของประเทศ

ขณะเดียวกัน ในยุคที่กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ไหลบ่าเข้าแทรกซึมในทุกอณูของสังคมไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมต่างชาติทั้งจากซีกตะวันตก และซีกตะวันออก และที่กำลังคืบคลานเข้ามา คือ สร้างรูปแบบวัฒนธรรมแบบตะวันตกในตะวันออกนิยม (Western in Eastern) เช่น การสร้างความเป็นอย่างญี่ปุ่น (Japanization) หรือการสร้างความเป็นอย่างเกาหลี (Koreanization) สะท้อนออกมาในรูปแบบของการเลียนแบบการใช้ชีวิต การแต่งตัว โดยมีอิทธิพลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เป็นแรงผลักดัน โดยมีกลุ่มเยาวชนและแรงงานชนชั้นกลางที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการ รับ  ปรับ และ เปลี่ยน รูปแบบพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของตน สู่วัฒนธรรมที่เรียกว่า ป๊อป

                วัฒนธรรม ป๊อป (Pop Culture) เป็นคำศัพท์ที่แวดวงวิชาการตะวันตกพูดถึงมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 โดยไม่มีคำแปลที่แน่นอน แต่อาจอนุมานตามแนวคิดของ Alithzabeth Maning ที่ว่า วัฒนธรรมป๊อป คือ สิ่งที่เป็นที่นิยมแพร่หลาย (Popular) และอยู่ในกระแสความสนใจหรือการรับรู้ของผู้คน เป็นสิ่งที่เรียบง่ายและธรรมดา (Easy and Simple) (นันทขว้าง   สิรสุนทร, 2545 : 12) หรือหากจะพูดกันง่าย ๆ วัฒนธรรม ป๊อป ก็คือ วัฒนธรรม ตลาด นั่นเอง

                จากความหมายดังกล่าว เมื่อพิจารณารูปแบบพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของแรงงานชนชั้นกลางของไทยแล้ว นอกจากวัฒนธรรมหลัก 4M ซึ่งประกอบด้วย การใช้ Mobile Phone, กินอาหารจากร้าน McDonald, ดู MTV และฟัง MP3 แล้ว พบว่ายังมีหลายสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็น “Pop” ที่เป็นแบบไทย เช่น

- การทำทรงผมตามแฟชั่น ทั้งที่เป็นแบบตะวันตกอย่างฝรั่ง และแบบตะวันออก คือ ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่ก็พร้อมที่จะใส่การเกงขาก๊วยและเสื้อกล้ามไปเดินห้าง

- การกินอาหารจานด่วน (Fast Food) ตั้งแต่ “McDonald” จนถึง ก๊วยเตี๋ยวรถเข็น

- การดื่มกาแฟ ตั้งแต่ สตาร์ บั๊คส์ จนถึง กาแฟโบราณ

- การฟังเพลงลูกทุ่งจากโทรศัพท์มือถือ หรือ MP3

- การเซ็นต์ชื่อด้วยปากกา Parker ไปจนถึง ปากกาลูกลื่นตราม้า

ฯลฯ

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าแรงงานชนชั้นกลางของไทย สามารถที่จะสร้างรูปแบบวัฒนธรรมป๊อปแบบไทย ๆ  ตามแนวคิดของ Maning ดังกล่าว คือ เรียบง่าย ธรรมดา และอยู่ในสถานะที่ยังมีความนิยมโดยทั่วไปในสังคม หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง จะกล่าวได้หรือไม่ว่า การสร้างวัฒนธรรมป๊อปของแรงงานชนชั้นกลางของไทยดังกล่าวนี้ เป็นการสร้างภาพลักษณ์อันเกิดจากแนวคิดหลังทันสมัย (Postmodern) ? (อย่างไม่รู้ตัว)

 

แนวคิดหลังทันสมัยอย่างย่อ (Summarize of Postmodern)

แนวคิดหลังทันสมัย (Postmodern) ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมโลก ที่ได้ชื่อว่าทันสมัย (Modern) เพราะมีนักคิดคนสำคัญที่มีผลงานในรูปแบบที่เป็น Postmodern มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1872 คือ Friedrich Wilhelm Nietzsche นักปรัชญาชาวเยอรมัน เจ้าของวลีอันลือลั่นสั่นสะเทือนทั้งแผ่นดินยุโรปสมัยนั้น คือ พระเจ้าตายแล้ว (God is Dead อ้างถึงในไชยันต์   ไชยพร, 2550 : 23) และการเป็นพวก Anti เช่น Anti-Socialist หรือ Anti-Marxism นั่นคือ ใครจะตั้งกฎเกณฑ์อะไรขึ้นมาเขาจะไม่ยอมรับ ถือได้ว่าเขาเป็นผู้แผ้วถางทางเดินสำหรับแนวคิด Postmodern สำหรับนักคิดในยุคต่อมา

ในปี ค.ศ. 1979 Jean Francois Lyotard นักคิดชาวฝรั่งเศส ได้เขียนหนังสือ ชื่อ Postmodern Condition : A Report on knowledge ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงออกที่ทรงพลังของแนวคิดนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจแนวคิด Postmodern มากขึ้น โดย Lyotard เรียกร้องให้นักคิดและประชาชนทั้งหลายปฏิเสธความรู้ต่าง ๆ ที่อ้างความเป็นสากล โดยมองว่าเป็นเพียงคำอธิบาย (Narrative) เท่านั้น (Steven Seidman, 2004 : 170)

นอกจากนี้ยังมีนักคิด ที่มีแนวคิดในเชิง Postmodern ที่สำคัญอีกหลายท่าน เช่น Jacques Derrida เจ้าตำรับการรื้อสร้าง (Deconstruction) ที่กำหนดทิศทางความคิดตรงกันข้ามกับแนวคิดโครงสร้างนิยม (Structuralism) Michel Foucault ผู้เป็นอริกับการสร้างระบบ และแนวโน้มต่าง ๆ ที่กันเอาความแตกต่าง (Difference) ออกไปของโครงสร้างนิยม และยังได้เสนอแนวการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) ที่มองการเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านกิจกรรมและวัตถุ เช่น การเรียน การสอน สถาบัน องค์กร รวมถึงงานเขียนทุกชนิด ต่างก็เป็นเพียงภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (Discourse Practices) เท่านั้น ตลอดจน Jean Baudrillard ที่วิพากษ์แนวคิด Marxism อย่างไม่ไว้หน้า และเขาเชื่อว่าโลกหลังสมัยใหม่ คือ ภาพเสมือน (Simulacra) ที่เราไม่สามารถจำแนกได้ว่าความจริง (Reality) กับความเสมือน (Simulation) แตกต่างกันอย่างไร

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าความคิด หลังทันสมัย ในวิถี ทันสมัย มิใช่การมองตามช่วงเวลา (Period) ว่าสิ่งใดมาก่อน-หลัง เพราะทั้งสองต่างเกิดควบคู่กันไปได้เสมอ และต่างต้องทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของตนเอง

แนวคิดหลังทันสมัย (Postmodern) เป็นการมองสังคมผ่านหน้าต่าง (Windows) หลายบาน ที่มีมุมมองหลากหลาย แยกย่อย กระจัดกระจาย ไม่ได้มุ่งเสนอแนวคิดที่เป็นระบบ (System Concept) ในการอธิบายสังคม ไม่มีอุดมการณ์เพื่อวันข้างหน้า อย่างการเปลี่ยนแปลงสังคมเหมือน Karl Marx ที่กล่าวไว้ใน Theses on Fever Bach (1845 อ้างถึงในวิษณุ   บุญมารัตน์, 2550 : Online) ว่า นักปรัชญาไม่เพียงแต่ต้องเข้าใจและอธิบายโลกได้ ที่สำคัญกว่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าแนวคิด Postmodern จะไม่มีอะไรที่เป็นแก่นยึดโยงร่วมกัน จนกลายเป็น แนวคิดไร้สาระ หรือ อะไรก็ไม่รู้ของคนที่ อยากดัง แสดงออกมา สิ่งสำคัญของแนวคิดนี้ คือ การตั้งข้อสงสัย การวิพากษ์ (Critical) การปฏิเสธต่อวิธีการแสวงหาความรู้สมัยใหม่ ซึ่งได้แก่ หลักเหตุผลนิยม (Rationalism) หลักสากลนิยม (Universalism) และหลักมนุษยนิยม (Humanism) ตลอดจนความรู้แบบวิทยาศาสตร์ (Science)

Postmodern ปฏิเสธความจริง (Reality)โดยถือว่าเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น เป็นเพียงผลผลิตที่มาจากความรู้ที่เป็นกฎเกณฑ์ที่คอยกำหนดว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด กล่าวคือ ความจริงถูกสร้างผ่าน วาทกรรม (Discourse) ซึ่งหมายถึง การจัดระบบว่าสิ่งใดต้องเข้ามาอยู่ข้างในและสิ่งใดต้องไปอยู่ข้างนอก ระบบความจริง (Regime of Truth) และทำหน้าที่ให้ความจริงที่เกิดขึ้นมาเป็นที่ยอมรับด้วย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความจริง (Reality) ความรู้ (Knowledge) และอำนาจ (Power) จึงเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน โดยพิจารณาจากการใช้อำนาจต่อผู้ถูกกระทำ โดยที่ผู้ถูกกระทำไม่รู้ตัว ซึ่งอำนาจดังกล่าว คือ อำนาจจากการกำหนดว่าอะไร คือ ความรู้ และความจริง นั่นเอง

Postmodern ยังมองเรื่อง อำนาจ (Power) ในแง่มุมที่แตกต่างไปจากการมองอำนาจในเชิงประจักษ์ (Empirical) หรือในเชิงโครงสร้าง-หน้าที่ (Structural-Functional) ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาการเมือง โดยเสนอความหมายของคำว่าการเมือง (Politics) ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเรื่องของ รัฐ อำนาจอธิปไตย หรือ สถาบันทางการเมือง โดยเพิ่มบริบทของความขัดแย้งระหว่างอัตลักษณ์ (Identity) กับความแตกต่าง (Difference) ทั้งนี้ เนื่องจากอัตลักษณ์ทุกชนิดสร้างจากความแตกต่างที่หลากหลาย โดยอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่แสดงความเฉพาะเจาะจง (Specific) ขณะเดียวกันก็กีดกันความเฉพาะเจาะจงแบบอื่นไว้ และที่สำคัญอัตลักษณ์ เป็นเรื่องของกระบวนการสร้าง

ผู้เขียนเชื่อว่า แนวคิดหลังทันสมัยนี้ แม้จะยังไม่เป็นที่ยอมรับว่ามีระดับเป็นถึงทฤษฎี (เพราะตัวของเขาเองก็ไม่ต้องการที่จะ เป็น เพื่อไปครอบงำผู้อื่น) ก็ตาม แต่ยังมีประโยชน์ในการเปิดพรมแดนทางความรู้ เพื่อให้มองสังคมอย่างกว้างขวางและหลากหลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งบริบทที่เคยถูกบดบังจากกรอบของทฤษฎีต่าง ๆ สามารถแสดงตัว และเสนอข้อมูลใหม่ที่อาจมีประโยชน์ต่อสังคมที่มีความซับซ้อน เช่น สังคมยุค Pop ในปัจจุบัน

แรงงานชนชั้นกลางของไทยในมุมมองหลังทันสมัย

(Thai Middle Class Labour in View of Postmodern)

                หลังจากที่เราได้ทราบถึงรูปแบบวัฒนธรรมป๊อปแบบไทย ๆ  ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น การทำทรงผมตามแฟชั่น ที่ทันสมัยแบบต่างชาติ แต่ก็ใส่การเกงขาก๊วยและเสื้อกล้ามไปเดินห้าง การกินอาหารจานด่วน (Fast Food) ได้ตั้งแต่ระดับร้าน “McDonald” ไปจนถึงการนั่งกิน ก๊วยเตี๋ยวรถเข็น ข้างทาง หรือการดื่มกาแฟ ตั้งแต่ สตาร์ บั๊คส์ จนถึง กาแฟโบราณ ซึ่งถือเป็น การสร้างวัฒนธรรมป๊อปของแรงงานชนชั้นกลางของไทย เราจะมาลองทำการวิเคราะห์รูปแบบดังกล่าวโดยใช้มุมมองจากแนวคิด Postmodern จากตัวอย่าง 3 แนวทาง ดังนี้

                1. การบริโภคสัญลักษณ์ (Symbolism)

                ในภาวะทันสมัย (Modern) วัฒนธรรมการบริโภคร่วมสมัย ถือเป็นผลผลิต (Output) ประการหนึ่งของระบบ ตามปกติเราจะบริโภคสิ่งใดนั้น จะเป็นไปตามประโยชน์ใช้สอย (Utilities) ของสิ่งนั้น แต่ในกรณีของแรงงานชนชั้นกลางของไทยในปัจจุบัน มักเป็นการบริโภคเพื่อแสดงออกถึงการแสดงสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นอัตลักษณ์ที่อยากเป็น (Need Identities) ของตน เช่น การทานไก่ทอด KFC เพื่อแสดงว่าตนเองก็เป็นผู้ทันสมัย แต่ก็อดคิดถึงส้มตำไก่ย่างหน้าปากซอยไม่ได้ หรือจะเป็นการสร้างรูปแบบการแต่งกายที่ต้องแตกต่างไม่เหมือนใคร อาทิ การใส่กระโปรงสั้นคลุมกางเกงขายาว หรือการแต่งกายแบบประหลาด ๆ ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Ganguro Girls ตามอย่างวัยรุ่นญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อเรามองผ่านแว่นของแนวคิด Postmodern แล้ว พบว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าว อาจเรียกว่ามีความเป็น Postmodern หากมองว่าสิ่งที่แสดงออกมานั้นเป็นสิ่งแปลกใหม่ ต่อต้าน หรือต้องการเปลี่ยนแปลงจากจุดเดิม แต่ก็อาจบอกได้ว่าไม่ใช่ Postmodern เพราะสัญลักษณ์ที่แสดงออกมานั้นเกิดจากกระบวนการเลียนแบบ (Imitation) หรือการผลิตซ้ำ (Reproduce) รูปแบบจากแนวทางที่มาจากแหล่งภายนอก ที่ถือว่าเป็นสิ่งครอบงำในดำเนินการตามรูปแบบ (Pattern)

                2. ความจริงกับความเสมือน (Reality and Simulation)

Jean Baudrillard เชื่อว่าโลกหลังสมัยใหม่ คือ ภาพเสมือน (Simulacra) ที่เราไม่สามารถจำแนกได้ว่าความจริง (Reality) กับความเสมือน (Simulation) แตกต่างกันอย่างไร ในกรณีของแรงงานชนชั้นกลางของไทยในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ที่มีการพัฒนารูปแบบความเสมือนขึ้นมาใช้ควบคู่กับของจริง เช่น การถือแก้วกาแฟเย็นที่มีลวดลายต่าง ๆ สวยงาม แลดูคล้ายถ้วยกาแฟสตาร์ บั๊คส์ ราคา 120 บาท แต่แท้ที่จริง ภายในบรรจุการแฟโบราณ (ไม่รู้โบราณขนาดไหน) ราคา 20 บาท หรือการสวมกางเกงยีนส์เลียนแบบยี่ห้อดัง ที่ต้องมีตัวเลข ดำๆ มอๆ เขียนไม่ค่อยชัดกำกับที่ป้ายหนังด้านหลังว่า 501” ซึ่งเมื่อใส่เข็มขัดแล้วแทบจะแยกไม่ออกว่าตัวไหนคือของจริงราคาหลายพันบาท และตัวไหนคือของเสมือน (ของเลียนแบบ) ราคาไม่เกิน 200 บาท หากมองในมุมนี้ ถือว่ามีแนวโน้มของการเป็น Postmodern อย่างที่ Baudrillard เขาว่าไว้

3. อำนาจอยู่ในมือเรา (Power in Hand)

บ่อยครั้งในที่สาธารณะ หากเราพบเห็นหรือได้ยินการสนทนาผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ของแรงงานชนชั้นกลาง ทั้งในสถานะของผู้ด้อยกว่า (คุยกับเจ้านาย หรือภรรยา หรือสามี) และสถานะที่เหนือกว่า (คุยกับลูกน้อง หรือสามี หรือภรรยา) เราจะเห็นสถานภาพ การถูกใช้อำนาจ และ การใช้อำนาจ ผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นเสมือนอาวุธแห่งอำนาจ (Weapon of Power) ในวัฒนธรรม โดโคโม (DOCOMO : Do Communications Mobile Culture) ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรม Pop อีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญของแรงงานชนชั้นกลาง ในขณะที่ Postmodern มองเรื่อง อำนาจ (Power) ในแง่มุมที่แตกต่างไปจากการมองอำนาจในเชิงประจักษ์ (Empirical) หรือในเชิงโครงสร้าง-หน้าที่ (Structural-Functional) โดยเน้นที่บริบทของความขัดแย้งระหว่างอัตลักษณ์ (Identity) กับความแตกต่าง (Difference) ทำให้อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรม DOCOMO ของแรงงานชนชั้นกลาง ไม่ถือว่าเป็น Postmodern ก็เป็นได้ เพราะเป็นเพียงการ สร้าง อำนาจรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงหน้าที่เท่านั้น

จากตัวอย่างการมองแรงงานชนชั้นกลางของไทย ผ่านมุมมองของแนวคิดหลังทันสมัย (Postmodern) พบว่าในวัฒนธรรม Pop บนพื้นฐานของการตะกายสู่ความทันสมัย (Modern) ที่ต้องการให้เกิด คนสากล (Homme Universal) อันมีแบบแผนร่วมกันในสังคม ทำให้พบว่าในสังคมของแรงงานชนชั้นกลางของไทยเป็นสังคมที่มีทวิลักษณะ (Bi-Character) คือ มีทั้งความเป็น Modern (บางส่วน) และ Postmodern (บางส่วน) มีการเหวี่ยง (Swing) กันไปมาระหว่างด้านที่เป็นModern กับด้านที่เป็น Postmodern ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การเชื่อและยอมรับในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตและการทำงาน ซึ่งเป็นรูปแบบของ Modern แต่ในบางเวลาเรากลับหันไปยอมรับในสิ่งที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง อันเป็นแก่นแกนของ Postmodern ที่ไม่ต้องการให้เราถูกครอบงำด้วยความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากเราจะพิจารณาด้วยความเป็นกลาง การที่เราจะเลือกว่า คำตอบสุดท้าย ของสังคมไทย คือ Modern หรือ Postmodern คงมิใช่เรื่องสำคัญที่เราต้องมาขบคิดให้เสียเวลา เพราะจุดมุ่งหมายของทั้งสองแนวคิดสามารถที่จะก้าวย่างไปพร้อมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสิ่งที่ดีกว่า (Better) แก่สังคมของ Modern และการคอยกำกับดูแลไม่ให้สังคมถูกครอบงำจาก Modern จนโงหัวไม่ขึ้นของ Postmodern นั่นคือ สิ่งที่ผู้เขียนพยายามเน้นย้ำว่า การเดินทางสายกลาง และการเรียนรู้อย่างถ่องแท้ จะทำให้เราสามารถเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมกับสังคมไทยของเรา ท่ามกลางการเหวี่ยงไปมาอย่างรวดเร็วของแนวคิดต่าง ๆ ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกรากเช่นในปัจจุบัน.

หนังสืออ้างอิง

 

ไชยันต์   ไชยพร. 2550. Postmodern : ชะตากรรมโพสโมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ. กรุงเทพมหานคร : หจก.ภาพพิมพ์.

นันทขว้าง   สิรสุนทร. 2545. เปลือยป๊อป. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เนชั่น มัลิตมีเดียกรุ๊ป.

พงษ์   ผาวิจิตร. 2550. X-RAY คนไทย 360 องศา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ Than Books.

อเนก   เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ. 2538. วิพากษ์สังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.

Agger, Ben. 1998. Critical Social Theories. Colorado : Westview Press.

Belsey, Catherine. 2002. Poststructuralism : A Very Short Introduction. Oxford : Oxford University Press.

Seidman, Steven. 2004. Contested Knowledge : Social Theory Today. Malden : Blackwell Publishing.

             

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง แรงงานชนชั้นกลางของไทย ในมุมมองหลังทันสมัย
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์..