หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์
จากจังหวัด ขอนแก่น

ตัวตนกับอัตลักษณ์ ภาพเฉพาะของปัจเจกสภาพในสังคมวิทยา
โพสต์เมื่อวันที่ : 24 ก.ย. 2551 IP : เปิดอ่าน : 6532 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(77.89%-38 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

เมื่อสังคมวิทยาก่อร่างสร้างรูปขึ้นมาเป็นสาขาวิชาหนึ่งในปลายศตวรรษที่ 19 โดยการวางรากฐานของ August Comte เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสังคมวิทยา คือ การเสนอแนวคิดของปัจเจกสภาพ (Individualism) ภายในบริบทสังคม บทความขนาดสั้นนี้ มีจุดประสงค์ในการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับปัจเจกสภาพในสังคมวิทยา และมุ่งชี้ประเด็นให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างแนวคิด (Concept) ตัวตน (Self) ในทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) กับอัตลักษณ์ (Identity) ในแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern)

.....

ปัจเจกสภาพในสังคมวิทยา (Individualism in Sociology)

          แนวคิดต่างๆ ที่แพร่หลายและได้รับอิทธิพลปัจเจกนิยม (Individualism) อยู่ในปลายศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ หรือปรัชญาการเมือง เสรีนิยมมักจะวิเคราะห์พฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ทำให้ดูเหมือนว่าปัจเจกบุคคลมีมาก่อนและสามารถแยกออกได้จากสังคม ขณะที่ผู้บุกเบิกสาขาสังคมวิทยาอย่าง August Comte และ Emile Durkheim ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของปรัชญาปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่เน้นความสำคัญต่อสังคม และต่างปฏิเสธแนวคิดที่เห็นว่าปัจเจกบุคคลเป็นอิสระ ดังนั้น พฤติกรรมของมนุษย์จึงถูกศึกษาในฐานะเป็นปรากฏการณ์ของสังคม (Social Phenomenal)

          ทางด้าน Karl Marx ต้นตอของแนวคิดที่ทรงอิทธิพลอีกสายหนึ่งในสังคมวิทยา คือ ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory) และแนวทางการศึกษาตามกระแสวิพากษ์ (Critical Stream) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้าง (Structure) มากกว่าปัจเจก หรือผู้กระทำการ (Agency) เขาเชื่อว่าแนวคิดเรื่องชนชั้น (Class) จะเป็นตัวเชื่อมโยงปัจเจกเข้ากับโครงสร้าง และเป็นสิ่งกำหนดอัตลักษณ์ (Identity) ของปัจเจก รวมถึงความคิดที่ว่ามนุษย์จะกลายเป็นผู้กระทำการที่มีความหมายเพียงพอเมื่อเขาตระหนักถึงอัตลักษณ์ทางชนชั้นของตนเอง (Class Consciousness)

          ขณะที่คู่ตรงข้ามของ Marx อย่าง Max Weber กลับให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคล โดยเขาเชื่อว่าสังคมวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จากมุมมองและความเข้าใจของผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม หน่วยการวิเคราะห์ในผลงานต่างๆ ของ Weber กลับเป็นระดับกลุ่ม (Collective) เสมอ หาได้ใช้ปัจเจกบุคคลเป็นหลักแต่อย่างใด

          จะเห็นได้ว่าเหล่านักคิดข้างต้นไม่ว่าจะเป็น August Comte ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของสังคมวิทยา Emile Durkheim, Karl Marx และ Max Weber สามเสาหลักของสังคมวิทยา ต่างให้ความสำคัญของปัจเจกสภาพนระดับที่ต่ำ แต่กลับเน้นไปที่โครงสร้างหรือกลุ่มทางสังคม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีนักสังคมวิทยาที่สนใจต่อปัจเจกสภาพเลย ข้อยกเว้นแรก คือ Georg Simmel ที่เห็นว่าสังคมไม่ได้เป็นอิสระจากปัจเจกบุคคล เขาเห็นว่าการรวมกลุ่มเกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Personal Interaction) แต่การรวมกลุ่มนั้นมักเป็นผลให้คนนำออกมาซึ่งคุณสมบัติที่มีคุณภาพต่ำ ส่วนสิ่งที่ดีจะถูกสงวนรักษาไว้เพื่อให้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตน นอกจากนี้ในข้อยกเว้นประการต่อมาได้แก่นักคิดในสายตระกูลปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) และแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern)  

 ตัวตน : ปัจเจกสภาพในปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Self in Symbolic Interaction Theory)

            นักคิดสายทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) แม้ว่าจะให้น้ำหนักเป็นอันมากต่อปัจเจกบุคคลในฐานะประธาน (Subject) หรือผู้กระทำการ (Agency) แต่ก็เห็นว่าอัตลักษณ์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction Process) Charles Cooley เชื่อว่าสังคมและปัจเจกบุคคลเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ สังคมเกิดจากการผสมผสานของตัวตนเชิงจิต (Mental Selves) ของหลายๆ คนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเราเองพัฒนาขึ้นจากปฏิกิริยาของเราต่อความคิดเห็นของผู้อื่นเกี่ยวกับตัวเรา Cooley เรียกตัวตนที่เกิดจากกระบวนการนี้ว่า ตัวตนในกระจกเงา (the Looking Glass Self) ซึ่งประกอบด้วยภาพลักษณ์ของเราที่เรามีต่อตนเอง และจินตนาการเกี่ยวกับความคิดของผู้อื่นต่อภาพลักษณ์นั้น รวมถึงปฏิกิริยาและความรู้สึกของเราที่มีต่อจินตนาการดังกล่าว ทั้งหมดนี้หลอมรวมกันก่อเป็นความรูสึกที่มีต่อตนเอง เช่น ความภาคภูมิใจ ความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า และจากการให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์นี้เองทำให้กลุ่มทางสังคมเป็นประเด็นที่สำคัญของการศึกษา

          ทางด้านนักคิดคนสำคัญอีกคนหนึ่งของทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ คือ George Herbert Mead ได้ทำการศึกษาพัฒนาการที่ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตน ที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตนจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ โดยเขาชี้ให้เห็นว่ากลไกสำคัญต่อการสร้างตัวตน คือ การเรียนรู้ที่จะสวมบทบาท (Role Taking) ของผู้อื่น และหัวใจสำคัญของการเรียนรู้นี้ คือ ภาษา ซึ่งเป็นช่องทางการถ่ายทอดระบบสัญลักษณ์และกฎเกณฑ์ร่วมของสังคม ซึ่งเมื่อมองถึงจุดนี้อาจดูราวกับว่าสังคมได้แสดงบทบาทครบงำและสร้างตัวตนของปัจเจกบุคคล ดังนั้น Mead ได้พยายามรักษาอิสรภาพของปัจเจก ด้วยการเสนอแนวคิดว่าตัวตนนี้มีสองด้านที่ปะทะสังสรรค์กันอยู่ตลอดเวลา ด้านหนึ่ง คือ “me” ซึ่งเป็นตัวตนที่เกิดจากความเห็นและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และ “I” ซึ่งเป็นตัวตนตามลักษณะเฉพาะของเราเอง โดยทั้ง me และ I ต่างก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวเราทั้งคู่ เพียงแต่ me เป็นผลจากการประเมินและซึมซับจากทรรศนะของผู้อื่น ส่วน I เป็นคำตอบและความพยายามที่จะประสาน me ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน และถือเป็นศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์

          ขณะที่ Erving Goffman ก็ได้จำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างอัตลักษณ์ส่วนบุคคลกับอัตลักษณ์ทางสังคม โดยเขาได้นิยามความคิดหรือความรู้สึกที่ปัจเจกมีต่อตนเองว่า Ego Identity ส่วนภาพของปัจเจกในสายตาของคนอื่นในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาเรียกว่า Personal Identity

          จะเห็นได้ว่า ปัจเจกสภาพในทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์มิได้เป็นภาพที่ทีความต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียว บางส่วนแยกจากกันเด็ดขาด แต่ก็มีไม่น้อยที่มีการซ้อนทับกันของบทบาท ทั้งนี้เนื่องจากตัวตนของคนเรานั้น ประกอบด้วยภาพลักษณ์ของเราที่เรามีต่อตนเอง [นั่นคือ “I” หรือ Ego Identity] และจินตนาการเกี่ยวกับความคิดของผู้อื่นต่อภาพลักษณ์นั้น [นั่นคือ “me” หรือ Personal Identity] กล่าวโดยสรุปได้ว่า ตัวตน (Self) ในทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ เป็นเงาสะท้อนปัจเจกสภาพที่มีขนาดเล็ก หรืออยู่เบื้องหลังสภาพของปัจเจกบุคคลที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าในฐานะอัตลักษณ์ที่ปรากฏตัว และแสดงตน ต่อสาธารณะของปัจเจกบุคคล

 อัตลักษณ์ : ปัจเจกสภาพในแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Identity in Postmodern)

            ในปัจจุบันการมองภาพของสังคมด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎีกระแสหลัก ได้ถูกท้าทายด้วยกลุ่มความคิดที่ทรงพลัง แปลกใหม่ ก้าวหน้า และท้าทายมหาอรรถาธิบาย (Grand Narrative) ต่างๆ ที่ครอบงำสังคมของบรรดาทฤษฎีดังกล่าว แนวคิดที่ว่านี้ คือ แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern)ซึ่งเราอาจสรุปลักษณะเด่นของแนวคิดนี้ ได้ดังนี้

1.      การตั้งข้อสงสัยกับเหตุผลในฐานะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าถึงความเป็นจริง

2.   การเปลี่ยนแปลงฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษา นั่นคือ ญาณวิทยา (Epistemology) ที่ว่าด้วยการเข้าถึงความจริง

3.      การเปลี่ยนแปลงฐานะของทฤษฎีที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งครอบงำปัญญาของมนุษย์ และสมควรที่จะปฏิเสธมันเสีย

จากลักษณะเด่นดังกล่าวของแนวคิดหลังทันสมัย สร้างผลกระทบต่อการมองปัจเจกสภาพ ในฐานะของอัตลักษณ์ (Identity) เป็นอย่างมาก เนื่องจากการวิจารณ์แนวคิดสารัตถะนิยม (Essentialism) ที่พยายามแสวงหาคำตอบสุดท้ายให้แก่คำถามต่างๆ โดยเสนอคุณสมบัติบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของธรรมชาติและพฤติกรรมมนุษย์ และยืนอยู่บนหลักของเหตุผล ย่อมทำให้เกิดการไร้ซึ่งสารัตถะอันเป็นสากลของปัจเจกภาพ ดังนั้น แทนที่ปัจเจกภาพจะเป็นที่มาของความหมายและประสบการณ์ ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง แนวคิดนี้กลับเห็นว่าแนวคิดปัจเจกภาพดังกล่าว เป็นเพียงผลกระทบ (Effect) ของชุดวาทกรรมต่างๆ บทบาทของตัวตนแบบต่างๆ ที่วาทกรรมหยิบยื่นให้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ดังนั้น สิ่งที่เป็นตัวตนของเราจึงมีอยู่ในเฉพาะสถานการณ์เท่านั้น

          จากที่กล่าวมาในข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดหลังทันสมัยเชื่อว่า ความเป็นปัจเจกถูกเน้นในฐานะที่เป็นกระบวนการทางสังคมของการสร้างอัตลักษณ์ มากกว่าที่จะเป็นแก่นแกนของคุณสมบัติบางอย่างที่มีลักษณะตายตัว

          ความเป็นตัวตนมีลักษณะคล้ายเหรียญที่มีสองด้านซ้อนทับกันอยู่ วาทกรรมจะสร้างภาพตัวแทน (Representative) ของตัวเรา เช่น การเป็นหญิง/ชาย ความเป็นไทย/เทศ ฯลฯ อัตลักษณ์เหล่านี้จะหล่อหลอมและยัดเยียดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม และการันตีประสบการณ์ความเป็นตัวเราในแง่มุมต่างๆ ให้ ทั้งนี้ คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของความเป็นตัวเราในกระบวนการนี้ คือ การโยกย้ายตำแหน่งแห่งที่ (Dislocation) นั่นคือการไม่อาจถูกตรึงติดกับคุณสมบัติบางอย่างที่ตายตัวหยุดนิ่ง ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่ปัจเจกต่อรอง ตั้งคำถาม หรือปฏิเสธตำแหน่งทางสังคมที่ถูกยัดเยียดมาให้ และแน่นอนว่าอัตลักษณ์กับปัจเจกภาพในแนวคิดหลังสมัยใหม่นี้ไม่สามารถที่จะซ้อนทับกันได้อย่างสนิท

 

ตัวตนกับอัตลักษณ์ : ภาพต่างทางแนวคิด (Differentiation of Self & Identity)

          จะเห็นได้ว่าปัจเจกสภาพในแนวคิดทั้งสองแนว คือ ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) และแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern) มีความแตกต่างกันในประเด็นของแนวคิดที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยเฉพาะประเด็นความต้องการองค์ประธาน (Subject) ของทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ ขณะที่แนวคิดหลังสมัยใหม่กลับหันหลังให้องค์ประธาน และความเชื่อที่ว่าปัจเจกภาพจะที่เป็นที่มาของความหมายและประสบการณ์ และมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ล้วนเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดจากผลกระทบของชุดวาทกรรมต่างๆ เท่านั้นเอง

          นอกจากนี้ ในทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ เชื่อว่าตัวตน (Self) ที่มีทั้งแบบที่เกิดจากความเห็นและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และแบบที่เป็นตัวตนจริงแท้ของเรา ถือเป็นเงาสะท้อนปัจเจกสภาพที่มีขนาดเล็ก ที่อยู่เบื้องหลังสภาพของปัจเจกบุคคลที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าในฐานะอัตลักษณ์ที่ปรากฏตัวและแสดงตนต่อสาธารณะของปัจเจกบุคคล ส่วนแนวคิดหลังสมัยใหม่ เชื่อว่าอัตลักษณ์ มีความไหลเลื่อนมากกว่าที่จะเป็นผลผลิตสำเร็จรูปจากวาทกรรม และไม่สามารถซ้อนทับกับปัจเจกภาพได้อย่างสนิทแน่น

                                       ...................................................

  หนังสืออ้างอิง

 

สุเทพ   สุนทรเภสัช. (2540). ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย. เชียงใหม่ : บริษัท สำนักพิมพ์ โกลบอลวิชั่น จำกัด.

อภิญญา   เฟื่องฟูสกุล. (2546). อัตลักษณ์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา.

Ritzer, George. (1992). Sociological Theory. 3rd ed. New York : McGraw-Hill, Inc.

Parker, John ; Mars, Leonard ; Ransome, Paul ; and Stanworth, Hilary. (2003). Social Theory : A Basic Tool Kit. New York : Palvarge Macmillan.

Seidman, Steven. (2004). Contested Knowledge : Social Theory Today. 3rd ed. Malden : Blackwell Publishing.

 ...................................................

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง ตัวตนกับอัตลักษณ์ ภาพเฉพาะของปัจเจกสภาพในสังคมวิทยา
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์..