หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
บัวกันต์ วิลามาศ
จากจังหวัด ศรีสะเกษ 33150

เป็นนักกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ
โพสต์เมื่อวันที่ : 9 ธ.ค. 2552 IP : เปิดอ่าน : 6476 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(45.00%-4 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

วันที่ ๑๐ ธันวาคม วันนักกลอน

.....

เป็นนักกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ  
แล้วเจ้าจะนิ่งอยู่ไยหละทูนหัว
จงเอาความคิดมาปั้นแต่งให้เป็นตัว 
อย่าได้กลัวจะเผยความคิดมิผิดแนว

เขียนเถิดเขียนอะไรใจอยากเขียน  
เขียนแล้วต้องหมั่นเวียนหมั่นฝึกฝน
เขียนความคิดให้เป็นตัวแต่งคิดตน  
เขียนให้เธอได้พบค้นในวิญญาณ

บัวกันต์  วิลามาศ-ประพันธ์

จุดไฟฝัน (เกริ่นนำ)

           บทร้อยกรอง  นับว่าเป็นวัฒนธรรมแห่งรากเหง้าที่ฝังลึกอยู่ในชีวิตจิตใจของคนไทยมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  คนไทยเป็นคนมีความเป็นศิลปินอยู่ในชีวิตจิตใจมาโดยกำเนิด จะเห็นจาการแสดงออกทางคตินิยมในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยในทั่วทุกภาค ล้วนร่ายรำไปกับทำนองแห่งร้อยกรองทั้งนั้น มิเพียงหมอลำแห่งภาคอีสาน  ตำนานแห่งล้านนา หรือโนราห์จากแดนสะตอ  มิอาจแยกออกจากการเป็นผู้ผู้มีคารมแห่งเจ้าบทเจ้ากลอนไม่ สิ่งเหล่าจึงเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างข้าพเจ้าอย่างยิ่งการที่เรามาเติมฝันให้สิ่งเหล่านั้นงอกเงยงามงด จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ควรแก่การสานต่อเป็นอย่างยิ่ง เรามาร่วมกันสืบสานวรรณกรรมให้เกิดขึ้น ณ บัดนี้

แบ่งปันใจ (ความรู้พื้นฐานทางบทร้อยกรอง)

           ความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล   แม้ว่าสมัยเริ่มต้นบนจินตนาการแห่งภาษาจะเป็นการร้องเล่น เอ่ยนำ หรือเกี้ยวพาราสี แต่บรรพชนของเราเหล่านั้นได้ถ่ายทอดจารึกไว้ให้เรารุ่นหลังได้รับทราบเรียนรู้ในจารีตแห่งภูมิปัญญานั้น เราจำเป็นจึงต้องรับรู้สิ่งเหล่านั้นร่วมกันเพื่อเป็นการรักษา “ขนบ” นั้นเอาไว้  แม้ว่าความเป็น “นวลักษณ์” จะเป็นแนวทางแห่งการสร้างสรรค์ของบรรดากวีห้วงยุคปัจจุบันก็ตาม ณ เวลานั้น การที่จะนำคุณครูไปสู่การกระจ่างทั้งหมดคงมิเพียงพอ  ทั้งนี้ด้วยเหตุแห่งเวลาแม้ว่าทุกท่านจะมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน  แต่หากเวลานั้นถูกแบ่งออกเพื่อการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆไปหมดแล้ว  จึงขออนุญาตเอ่ยถึงบทร้อยกรองที่พอเป็นแนวทางในการนำไปใช้ได้บ้างในบางส่วนของการดำเนินชีวิต  แต่จะมิเอ่ยถึงหลักเกณฑ์ แผนผัง บังคับ ที่บัญญัติไว้ในขนบ  หากแต่จะกล่าวเป็นภาพรวมแห่งแนวทางการก่อเกิดในจินตนาการที่เป็นภาพรวมโดยทั่วไป นั่นคือเราจะมาตามหาว่า “กลอนสัมผัสใจได้อย่างไร”  การที่จะทำให้กลอนหรือบทร้อยกรองสัมผัสใจ  หรือ “โดนใจ”  นั้น  ท่านผู้รู้ได้ให้คำแนะนำไว้จึงขอนำมากล่าวในวันนี้พอสังเขป

 ภาพพจน์  เป็นการใช้ถ้อยคำให้เกิดภาพโดยวิธีการเปรียบเทียบอย่างมีศิลปะ เพื่อผู้อ่านเห็นภาพในใจได้ชัดเจน เกิดรสชาติในการอ่านมากกว่าการใช้ภาษาธรรมดา  ดังบทกลอนชื่อ “ยิ้ม” ของ “ดร.ศักดิ์ศรี  แย้มลัดดา”

ยิ้มไว้เถิดยิ้มไว้ใจแช่มชื่น   
เมื่อภักตร์รื่นชนชมนิยมเสมอ
ยิ้มงามเหมือนความฝันอันเลิศเลอ  
ดุจเสนอให้ผู้อื่นได้ชื่นตาม

 จินตภาพ   เป็นการเขียนอย่างแจ่มแจ้ง โดยใช้คำที่มีความหมาย  อ่านแล้วมองเห็นภาพโดยไม่มีการเปรียบเทียบ ดังเช่นบทกลอนชื่อ “คำร้องขอ”  ของ “เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์”

แล้ววาระสุดท้ายได้มาถึง  
เขาจับตรึงมันไว้มิให้ดิ้น
มัดสองขามาวางที่กลางดิน 
มันไม่สิ้นเสียงร้องก้องระรัว

ใช่ผู้ร้ายใจดำอำมหิต  
ใช่ผู้คิดก่อกรรมกระทำชั่ว
มันอาจโง่อาจเขลาอาจเมามัว 
ไม่รู้ตัวสติบ้างบางเวลา

ถ้าคุณที่มีบ้างพออ้างสิทธิ์  
ก็ขอแลกกับชีวิตอย่างคิดฆ่า
ไร้สิ่งอื่นอ้างอวยช่วยวาจา 
มีน้ำตาไหลพร่างเพียงอย่างเดียว

คอถูกเค้นคมมีดค่อยกรีดปาด 
ตามันเหลือกลานขยาดอย่างหวาดเสียว
เนื้อและเลือดริ้วเต้นบิดเป็นเกลียว 
สุดแรงเรี่ยวทรมานต้านความตาม

เฝ้าร้องครวญร้องขอจนคอขาด 
หัวก็ฟาดพื้นพลิกระริกส่าย
ส่งเสียงแว่ววิงวอนก่อนจะวาย 
ต่อน้ำลายหวานลิ้มรอชิมเนื้อ

 สัญลักษณ์   เป็นการนำเอาคำหนึ่ง ๆ มาหมายความแทนอีกอย่างหนึ่ง  โดยถือว่าคำที่นำมาใช้แทนกันได้นั้นต้องเป็นที่รู้จักและเข้าใจกันทั่วไป ดังบทกลอนชื่อ “ฟ้าสีทอง”  ของ “วิสา  คัญทัพ”

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่  
ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ 
ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

 การเล่นคำ   การเล่นคำเป็นเรื่องของการสร้างความไพเราะของเสียงแห่งบทกวีนั้น  และหลายครั้งเป็นการสื่อความหมายให้ลึกซื้งกว้างขวางไปด้วย  แบบแผนของการเล่นคำมีหลายอย่าง ที่พบกันบ่อยคือ “การเล่นซ้ำคำหน้าของบทกวีแต่ละวรรค”   เช่นบทกวีในชุด “เพลงขลุ่ยผิว” ของ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์”

กำหนดดินหินผาอย่าให้เคลื่อน  
กำหนดเดือนดาวตะวันให้ผันผ่าน
กำหนดน้ำฉ่ำไหลในแก่งธาร  
กำหนดไม้ให้บานตามฤดู

กระทั่งดินหินผาไม่คลาดเคลื่อน  
กระทั่งเดือนดวงตะวันผ่านผันอยู่
กระทั่งน้ำฉ่ำไหลในคลองคู  
กระทั่งไม้ถึงฤดูก็รู้บาน

หรือบทกวีชื่อ “ระหว่างความแตกต่าง” ของ “ศิวกานต์  ปทุมสูติ”

ไม่มีความพอดีอยู่ที่ไหน   
ไม่มีความพอใจอยู่ที่นั่น
ไม่มีข้อยุติตกลงกัน 
ไม่มีวันสงบได้ในชีวิต

อะไรใหม่อะไรเก่าเข้ากันยาก  
อะไรมากอะไรน้อยมิค่อยสนิท
อะไรสูงอะไรต่ำต่างความคิด  
อะไรผิดอะไรถูกจะถามใคร

ระหว่างก่อนกับหลังยังสับวน  
ระหว่างคนสมัยเก่าสมัยใหม่
ระหว่างชอบกับชังยังชิงชัย  
ระหว่างใกล้กับไกลยังกริ่งกลัว

 การสร้างภาพพจน์    การสร้างภาพพจน์เราสามารถสร้างได้หลายแบบ  เช่นการใช้อุปมาอุปไมย อุปลักษณ์  ดังเช่นบทกวีชื่อ “ข้าวงาม”  ของ “ไพวรินทร์  ขาวงาม”

มืออาจจะหยาบกระด้างแห้งร้างร้าว 
แต่คำข้าวกินกลืนนั้นชื่นหวาน
คนอาจต่ำทำนามาช้านาน   
แต่เหงื่องานสร้างเมล็ดข้าวสีทอง

หรือจากอีกบทหนึ่งของ “ไพวรินทร์  ขาวงาม”  ชื่อ  “เรือใบไม้”

ปลิดจากขั้วช้าช้าพายฝ่าหวัง  
เป็นบทเพลงสู่ฝั่งนิรันดร์ฝัน
ฝ่าราตรีไหวใบไม้ไหวพระจันทร์  
และฝ่าไปไหวตะวันผันทิวา

คลื่นแห่งธารสายนั้นยังผันผวน  
เรือใบไม้เกินทวนกระแสกล้า
เป็นศพ เป็นศพ ทบธารา   
ทบน้ำตาทบซากที่ปลิดปลง

อกธารไม่รู้ใจแห่งใบไม้   
ประหารใบทุกใบไปเป็นผง
ซึ่งใบไม้จะลอยใบจากไพรพง  
ไปจมลงถมธารแห่งอธรรม


ให้ถึงรุ้ง (แนวทางที่นำเสนอ)

          กว่าเกือบ 30 ปีที่กระผมผันตัวเองเข้าไปใช้ชีวิตแห่งวรรณกรรม  ยอมรับว่าการเรียนรู้นั้นยังน้อยเกินไป  ยังมีอีกมากมายหลายประการที่ยังมิอาจหยั่งรู้ทัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที การเรียนรู้จึงมินิ่งหยุด  กระผมยอมรับว่ายังไม่แม่นในขนบ ดังนั้นการเขียนงานแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องมีคู่มือประกอบ คู่มือเป็นตัวช่วยได้ดีที่สุด คู่มือที่กระผมสรรหาหรือซื้อมาดังปีปรากฏในบรรณานุกรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีในแหล่งเรียนรู้ในบ้านของกระผม  การอ่านคู่มือหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องทำให้เราสามารถเขียนงานได้มากพอสมควร  บางเวลาความคิดที่จะเขียนตีบตัน ก็หยุดเขียนหันไปอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้อง ความคิดก็จะผุดขึ้นมา  แล้วเริ่มเขียนต่อ  การพูดคุยกับผู้รู้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างให้เรามีแนวคิดที่จะนำมาเขียนได้เช่นกัน หากจะถามว่ากระผมมีแนวทางการเขียนอย่างไร  อันนี้ตอบยาก  ทั้งนี้เพราะการที่เราจะเขียนอะไรขึ้นมานั้น บางครั้งต้องใช้เวลา  ใช้อารมณ์  ใช้สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์เป็นตัวกำกับไปในตัว  แต่ส่วนใหญ่ที่ผมเขียนงานขึ้นมาในเวลานี้เกิดจากสถานการณ์เป็นส่วนมาก   การที่เราเอาชีวิตจิตใจเข้าไปร่วมเสพในสิ่งที่เราพบเห็นหรือในสถานการณ์  ทำให้เราผูกพันกับสิ่งนั้น  เมื่อเราเกิดความผูกพันกับสิ่งนั้นแล้ว  ความคิดของเราจะตกผลึก  เมื่อความคิดตกผลึกเราก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์แห่งสถานการณ์นั้นได้อย่างมีความสุขโดยแท้จริง

          เช่นกัน “กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จในวันเดียว”   การเขียนงานก็มิอาจแตกต่างจากนี้มากนัก 
“การเขียนงานเสร็จจึงยังมิเสร็จ”  การให้ผู้รู้ได้วิพากย์งานวิจารณ์วรรณกรรมของเราก็น่าจะเป็นการประเมินผลแห่งจินตนาการของเราได้เช่นกัน  นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุง แก้ไข และแม้จะปรับปรุงแก้ไขก็ยังนับว่างานยังมิเสร็จ นั่นคืองานของเราจะต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงต่อไปอย่างมิมีที่สิ้นสุด

บทสรุป (มิใช่หยุดแต่หากก้าวต่อไป)

อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า
เขียนทุกอย่างที่อยากเขียน
การบันทึก คือ จุดเริ่มต้นแห่งการเขียน
ความรู้หรือความคิดเกิดจากการอ่าน อ่านมาก รู้มาก

บรรณานุกรมและแหล่งข้อมูลภาพประกอบ

กรมวิชาการ . พินิจวรรณกรรม. กรุงเทพ ฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2542
คมทวน  คันธนู. เขียนให้ดีต้องมีเคล็ดลับ. กรุงเทพ ฯ : ข้าวหอมสำนักพิมพ์, 2548
____________. วรรณกามแห่งสยามคดี. กรุงเทพ ฯ : มิ่งมิตร, 2545
____________. วรรณวิเคราะห์ตำนานฉันทลักษณ์กับหลักการใหม่. กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ, 2545
ช่อประยงค์(นามแฝง). กลอนและวิธีการเขียนกลอน. กรุงเทพ ฯ : รวมสาส์น (1977), 2548
นภดล   สังข์ทอง. ร้อยกรองเขียนไม่ยาก. กรุงเทพ ฯ : นานมีบุ๊คส์, 2546
เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์. อาวุธกวี : ตัดตอนอัตตา พัฒนาสำนึก. กรุงเทพ ฯ : แม่โพสพ, 2548
ป.มหาขันธ์. สอนเด็กให้เป็นกวี. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2544
เปลื้อง  ณ นคร. ศิลปะแห่งการประพันธ์. กรุงเทพ ฯ : ข้าวฟ่าง, 2540
_____________. ภาษาวรรณนา. กรุงเทพ ฯ : ข้าวฟ่าง, 2542
พรทิพย์  แฟงสุด. ฉันทลักษณ์ไทย. กรุงเทพ ฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2539
ยุทธ   โตอดิเทพย์,สุธีร์  พุ่มกุมาร. คู่มือเรียนเขียนกลอน. กรุงเทพ ฯ : แม่โพสพ, 2548
รื่นฤทัย สัจจพันธ์. จาก “ขนบ” สู่ “นวลักษณ์” กรุงเทพ ฯ :อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,2551
______________. อ่านอย่างมีชั้นวิจารณ์อย่างมีเชิงศิลป์. กรุงเทพ ฯ : ดอกหญ้า, 2539
เริงชัย  ทองหล่อ. หลักการประพันธ์.กรุงเทพ ฯ : ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง, มปป.
วรรณา  แต้. บทร้อยกรอง. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์แม็ค, 2548
วาสนา  บุญสม. กลอนสัมผัสใจได้อย่างไร. กรุงเทพ ฯ : ประกายแสง, 2539
วิเชียร  เกษประทุม. ลักษณะคำประพันธ์ไทย (ฉันทลักษณ์). กรุงเทพ ฯ : พัฒนาศึกษา, 2546
ศิวกานท์  ปทุมสูติ. การเขียนสร้างสรรค์ ไม่ยากอะไรเลย. สุพรรณบุรี : ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม, 2548
ส.ศิวรักษ์. ศิลปะแห่งการเขียน. กรุงเทพ ฯ : พิราบ, มปป.
สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย. 25 ปีซีไรต์ รวมบทวิจารณ์คัดสรร. กรุงเทพ ฯ :
               สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, 2547
สัจจภูมิ  ละออ.  25 ปีซีไรต์ . กรุงเทพ ฯ : สยามอินเตอร์บุ๊คส์, 2546
____________. ชงคำ ศาสตร์และศิลป์แห่งการเขียน. กรุงเทพ ฯ : ไม้ยมก, 2547
เสกสรรค์   ประเสริฐกุล. เส้นทางนักประพันธ์. กรุงเทพ ฯ : สามัญชน, 2540
เสถียรโกเศศ. การศึกษาวรรณคดีแง่วรรณศิลป์. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2546
อาจิณ   จันทรัมพร. วรรคทองในวรรณคดี. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์แม่คำผาง, 253


 

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง เป็นนักกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

บัวกันต์ วิลามาศ
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
บัวกันต์ วิลามาศ..