หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
จิราภรณ์ หอมกลิ่น
จากจังหวัด ยโสธร

นิทานเวตาล... เรื่องที่ 9
โพสต์เมื่อวันที่ : 21 พ.ย. 2552 IP : เปิดอ่าน : 6421 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(72.50%-8 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

.....


นิทานเวตาล เรื่องที่ 9 


           เมื่อเวตาลหนีไปแล้วพระเจ้าตริวิกรรมเสนก็ต้องเสด็จกลับไปยังต้นอโศที่ร่างเวตาลแขวนอยู่ ทรงดึงมันลงมาพาดไว้ที่บ่า เสด็จกลับไปตามทางเดินมุ่งหน้าไปยังสุสานผีดิบที่โยคีเฒ่าคอยอยู่ ขณะที่ดำเนินไปเงียบ ๆ เวตาลก็เอ่ยขึ้นว่า "จะรีบเสด็จไปไย ที่หมายยังอยู่อีกไกล ฟังนิทานกันดีกว่า ข้าจะเล่าถวายเอง โปรดทรงสดับเถิด"

            ในแคว้นอวันตี ยังมีพระนครแห่งหนึ่งซึ่งทวยเทพได้ลงมาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยต้นอายุของโลก มีความไพศาลสุดประมาณดังประกายรัศมีของพระศิวะผู้เป็นเจ้่า เมืองนี้เป็นที่รื่นรมย์ และมีความเจริญยิ่งนัก เฉกเช่นพระกายของพระมหาเทพ(นามหนึ่งของพระศิวะ) ที่ประดับด้วยสังวาลงูที่แผ่พังพาน และมีอังคารเป็นเครื่องลูบไล้(มีร่างกายชโลมด้วยเถ้ากระดูก เป็นลักษณะของพระศิวะในตอนที่ลงมาใช้ป่าช้าเป็นที่พำนัก) เมืองนี้มีชื่อว่าปัทมาวดีในกฤตยุค(ยุคที่ ๑ ของโลก เป็นสมัยที่คนมีศีลธรรมเต็มร้อย) ชื่อโภควดีในสมัยเตรตายุค(หรือไตรดายุค เป็นยุคที่ ๒ ของโลก เมื่อศีลธรรมของคนลดลงไป ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน) ชื่อหิรัณยวดีในสมัยทวาปรยุค(ยุคที่ ๓ ของโลก เมือ่ศีลธรรมของคนลดลงไป ๒ ใน ๔) และในยุคปัจจุบันคือกลียุค(ยุคสุดท้ายของโลก ศีลธรรมของคนลดลงไป ๓ ส่วนใน ๔ ส่วน) นี้มีชื่อว่าอุชชยินี เมืองนี้มีพระราชาปกครองชื่อ พระเจ้าวีรเทพ และมีมเหสีชื่อ ปัทมาวดี ทั้งสองพระองค์นี้เสพสุขอยู่ด้วยกันช้านานแต่หาได้มีโอรสไม่ พระราชาจึงพาพระมเหสีเสด็จไปยังฝั่งของสระมันทากินี(ชื่อสระแห่งหนึ่งในป่าหิมพานต์) และกระทำความเพียรอันอุกฤษฏ์เพื่อให้พระเจ้าโปรดปรานประทานโอรสให้ และหลังจากที่ทรงบำเพ็ญตบะมาช้านานแล้วทำพิธีสระสนานและสวดมนตร์สรรเสริญพระเป็นเจ้าแล้ว วันหนึ่งก็มีเสียงลอยมาจากสวรรค์ เป็นเสียงแห่งองค์พระภูเตศวร(เป็นฉายาของพระศิวะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือภูตพรายทั้งหลาย) ผู้ทรงยินดีในตบะกรรมที่กษัตริย์ทั้งสองบำเพ็ญถวายว่า

            "ดูก่อนราชะ ข้าจะให้พรแก่เจ้า นับแต่นี้ไปเจ้าจะมีโอรสองค์หนึ่ง มีความแกล้วกล้าสามารถเป็นยอดชายในแผ่นดิน จะได้เป็นหัวหน้าครอบครัวต่อไป และเจ้าจักได้ธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีสิริโฉมงามหาใครเปรียบมิได้ เป็นความงามที่แม้นางอัปสรสวรรค์ก็ยังได้อาย"

            เมื่อพระราชาวีรเทพได้ฟังเสียงสวรรค์บันลือเช่นนี้ ทรงปลาบปลื้มพระทัยเป็นอันมาก พาพระมเหสีเสด็จกลับพระนคร เมื่อภารกิจได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว

            จากนั้นพระองค์ก็ได้พระโอรสองค์แรกมีนามว่า ศูรเทพ และพระนางปัทมาวดีก็ประสูติธิดาองค์หนึ่ง พระบิดาจึงตั้งชื่อนางว่า อนงครตี(อนงค์ (กามเทพ)+รติ(ความยินดี, ความรัก) อันมีความหมายว่า "เป็นที่ยินดีของกามเทพ" และเมื่อนางเจริญวัยขึ้น พระราชาผู้เป็นชนกก็เตรียมการหาคู่ให้นางเพื่อจะได้ชายที่เหมาะสมเป็นคู่ครอง โดยสั่งให้ศิลปินเดินทางไปวาดภาพพระราชาทุกองค์บนพื้นพิภพมาให้นางเลือกดู ปรากฏว่านางมิได้พอใจรูปชายใดเลย พระราชาจึงพูดกับนางด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยนว่า "ลูกเอ๋ย พ่อไม่สามารถจะหาชายคนใดที่คู่ควรกับลูกได้อีกแล้ว เราคงจะต้องประกาศเชิญพระราชาและเจ้าชายทั้งหลายมาให้ลูกเลือกเสียแล้ว การได้พบตัวจริงของชายอาจทำให้ลูกตัดสินได้ง่ายเข้าก็ได้"

            เจ้าหญิงได้ฟังพระบิดากล่าวดังนั้นจึงทูลตอบว่า "เพคะ ท่านพ่อ ลูกกระดากใจที่จะเลือกสามีเองยิ่งนัก แต่จะอย่างไรก็ตาม ลูกจะแต่งงานกับผู้ชายรูปงามที่มีความรู้ในศิลปศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ลูกไม่ปรารถนาชายอื่นนอกจากที่ว่านี้เป็นอันขาด"

            เมื่อพระราชาได้ทราบความประสงค์ของเจ้าหญิงอนงครตีเช่นนั้น ก็ส่งคนไปสืบเสาะหาบุรุษที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ในที่สุดก็ได้ชายหนุ่มจากแคว้นเดกข่านมาสี่คน เป็นชายงาม กล้าหาญและรู้ศิลปศาสตร์ ชายเหล่านี้เดินทางมาก็เพราะได้ทราบข่าวโจษจันกันนั่นเอง ชายทั้งสี่ได้รับการต้อนรับจากพระราชาเป็นอย่างดี และต่างคนต่างก็แสดงวัตถุประสงค์ที่จะให้นางเลือกตนเป็นคู่ด้วยกันทั้งนั้น

            คนที่หนึ่งกล่าวว่า "ตัวข้าเป็นศูทร ชื่อ ปัญจาผุฏฏิกะ ข้ามีความสามารถในการตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างงามวันละห้าชุด ชุดที่หนึ่งข้าถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า ชุดที่สองให้แก่พราหมณ์ ชุดที่สามข้าเอาไว้ใช้เอง ชุดที่สี่กะจะให้แก่ภรรยาของข้า ซึ่งก็ควรจะเป็นเจ้าหญิงองค์นี้ ชุดที่ห้าสำหรับขายเพื่อเอางินมาซื้ออาหารและสุรากิน ข้ามีศิลปะอย่างนี้จึงสมควรที่จะได้นางเป็นภรรยาใช่หรือไม่"

            เมื่อชายคนที่หนึ่งกล่าวจบลง ชายคนที่สองก็ประกาศตนว่า "ข้าเป็นไวศยะมีชื่อว่า ภาษชยะ ข้ารู้ภาษาสัตว์และนกทั้งปวง จงยกเจ้าหญิงให้แก่ข้าเถิด"

            ชายคนที่สองกล่าวจบลง คนที่สามก็กล่าวขึ้นว่า "ข้าเป็นกษัตริย์มีชื่อว่า ขัฑคธร ได้รับการยกย่องจากคนทั้งหลายว่าเป็นผู้ทรงพลัง ไม่มีใครอีกแล้วในโลกนี้ที่จะรู้ศิลปะในการใช้ดาบยิ่งไปกว่าข้า โอ ราชะ โปรดทรงยกนางให้แก่ข้าเถิด"

            เมื่อได้ฟังขายคนที่สามว่าดังนั้น ชายคนที่สี่ก็ลุกขึ้นประกาศว่า "ข้าเป็นพราหมณ์ มีชื่อว่า ชีวทัตต์ และข้ามีความรู้ศิลปะอันเลิศคือ สามารถช่วยคนและสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมีชีวิตได้ ดังนั้นขอให้พระธิดาคนงามแต่งงานกับข้าเถอะ เพราะข้าเป็นผู้ที่มีศิลปะเลิศกว่าใครทั้งหมด"

            เมื่อได้ฟังบุรุษทั้งสี่อ้างสรรคุณของตัวจบลง พระราชาวีรเทพพร้อมด้วยเจ้าหญิงราชธิดาซึ่งประทับอยู่เคียงข้าง ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า คนทั้งสี่นั้นต่างก็มีรูปงามราวเทพ และนุ่งห่มด้วยพัสตราภรณ์อันงามยิ่งเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าใครดีกว่าใคร จึงต่างนิ่งอึ้งอยู่

            เวตาลเมื่อได้เล่านิทานจบลงแล้ว ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสน ด้วยการคะยั้นคะยอให้ตอบปัญหา โดยกล่าวว่า "โอ มหาราช โปรดบอกข้าหน่อยได้ไหมว่า ชายคนใดในสี่คนนี้สมควรจะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงอนงครตี"

            พระราชาได้ฟังก็ตรัสแก่เวตาลว่า

            "อ้ายเจ้าเล่ห์ เจ้าพยายามหลอกล่อให้ข้าพูดหลายครั้งหลายหนแล้ว ข้าก็เผลอตอบปัญหาของเจ้าทุกที เพราะมันมีแง่มีมุมที่ตัดสินได้ยาก ข้าจึงต้องแสดงความคิดให้เจ้าฟัง แต่ว่าคราวนี้ข้าเห็นว่าปัญหาของเจ้ามันแสดงความโง่เซอะของเจ้าแท้ ๆ เจ้าไม่เห็นหรือว่าหญิงในวรรณะใดก็ต้องหาสามีในวรรณะใดก็ต้องหาสามีในวรรณะนั้นเท่านั้น นางกษัตริย์ก็ต้องแต่งงานกับกษัตริย์ด้วยกัน จะไปแต่งกับชายวรรณะอื่นได้อย่างไร ก็ชายทั้งสี่นั้นต่างก็อยู่ในวรรณะแตกต่างกัน ชายตัดเสื้ออยู่ในวรรณะศูทร ชายคนที่รู้ภาษาสัตว์เป็นคนในวรรณะไวศยะ ชายคนที่รู้มนตร์ช่วยชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นเป็นวรรณะพราหมณ์ คงเหลืออยู่คนเดียวคือ ขัฑคธร ที่เป็นวรรณะกษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนที่จะแต่งงานกับเจ้าหญิงได้ก็ต้องเป็นขัฑคธร เท่านั้น"

            "โอ ราชะ" เวตาลกล่าวอย่างโล่งอก "ขอบพระทัยที่ช่วยตอบปัญหาของข้า แต่เห็นทีพระองค์จะต้องติดตามข้าอีกแล้วพระเจ้าข้า" กล่าวจบเวตาลก็ผละจากบ่าของพระราชา และหายไปในความมืดของราตรี พระราชาต้องเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่า ความท้อถอยหมดอาลัยหาได้มีอยู่ในบุคคลผู้วีระไม่ เพราะจิตใจของเขาไม่เคยเปิดเพื่อความอ่อนแอเลย

 

ที่มา www.lokwannakadi.com/


Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง นิทานเวตาล... เรื่องที่ 9
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

จิราภรณ์ หอมกลิ่น
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
จิราภรณ์ หอมกลิ่น..