หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
นายยาเบ็น เรืองจรูญศรี
จากจังหวัด ปัตตานี

แนะนำอิสลาม
โพสต์เมื่อวันที่ : 16 พ.ย. 2552 IP : เปิดอ่าน : 6412 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(33.33%-3 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

?อิสลาม? คำว่าอิสลาม เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า สันติสุข หรือ ทางเข้าสู่สันติภาพ อิสลามคือระบอบแห่งการดำเนินชีวิต ผู้ใดก็ตามไม่ ว่าจะเป็นชนชาติใด เผ่าพันธุ์ใด จะเกิดที่ไหน จะเป็นใครก็ตามที่ดำเนินชีวิตตามระบอบอิสลาม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น ?มุสลิม?

.....

 

 แนะนำอิสลาม 

 ด้วยพระนามแห่ง อัลลอฮฺ

ผู้ทรงกรุณาปราณี  ผู้ทรงเมตตาเสมอ

 

นามและความหมาย

            อิสลาม คำว่าอิสลาม เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า สันติสุข หรือ ทางเข้าสู่สันติภาพ  อิสลามคือระบอบแห่งการดำเนินชีวิต ผู้ใดก็ตามไม่ ว่าจะเป็นชนชาติใด เผ่าพันธุ์ใด จะเกิดที่ไหน  จะเป็นใครก็ตามที่ดำเนินชีวิตตามระบอบอิสลาม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น มุสลิม

                มีหนังสือและตำราเกี่ยวกับอิสลามหลายเล่มที่เขียนโดยผู้ที่มิใช่มุสลิมได้เรียกอิสลามว่า ลัทธิโมฮำหมัดหรือ ศาสนา มะหะหมัด และเรียก มุสลิมว่า แขก แท้จริงแล้วการเขียนและการเรียกดังกล่าวนับเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง การที่เราไม่เรียกศาสนาพุทธว่าศาสนาสิทธัตถะ หรือไม่เรียกศาสนาคริสต์ว่าศาสนาเยซู ฉันใด  เราก็ไม่อาจเรียกอิสลามว่าศาสนาโมฮำหมัดหรือศาสนามะหะหมัดฉันนั้น   (ซึ่งต่างกับ ลัทธิ ซึ่งมักตั้งชื่อตามชื่อของผู้ประกาศลัทธิ)

                อิสลามเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่มนุษย์ นับแต่มีมนุษย์คนแรก และได้มีวิวัฒนาการในคำสอนตามวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ผ่านทางศาสดาต่างๆ จนกระทั่งมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยของท่านศาสดาต่างๆ จนกระทั่งมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด บทบัญญัติในคัมภีร์ของอิสลาม จะเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย เช่น ผู้ใดประพฤติผิดประเวณีต้องถูกเฆี่ยน 100 ครั้ง ผู้ใดฆ่าคนโดยเจตนาก็ต้องถูกประหารชีวิต ผู้ใดขโมยโดยสันดานก็ต้องถูกตัดมือ  ฯลฯ  ศาสนาใดก็ตามถ้ามีข้อห้ามแต่ไม่มีบทลงโทษศาสนานั้นจะยังไม่สามารถยับยั้งคนมิให้ประพฤติชั่วได้ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงมิใช่เป็นศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นกฎหมายและเป็นระบอบแห่งการดำเนินชีวิตอีกด้วย

 

แหล่งกำเนิด

                นับตั้งแต่ได้มีมนุษย์กำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ มนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์แต่ละทวีป แต่ละท้องที่ทั่วทุกหนทุกแห่งต่างก็มีระเบียบแบบแผนในการปกครองหรือกฎเกณฑ์ของสังคมหรือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตของตนเองมาแล้วทุกยุคทุกสมัยต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ แนวทางดังกล่าวมีเนื้อหาสาระและมีชื่อเรียกต่างๆ กันออกไป ในที่สุดแนวทางทั้งหลายก็มาสิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ.610 หรือ พ.ศ.1153 โดยได้มีแนวทางหรือระบอบแห่งการดำเนินชีวิตขึ้นมาแทนที่ หรือมารับช่วงต่อ ซึ่งแนวทางหรือคำสอนที่รับช่วงต่อนี้มีชื่อวว่า อิสลาม อิสลามเป็นระบอบแห่งการดำเนินชีวิตครอบคลุมทุกด้านทุกแง่ทุกมุมของชีวิต เป็นระบอบหรือคำสอนที่ต่อเนื่องและวิวัฒนาการต่อจากระบอบคำสอนหรือศาสนาในอดีต เป็นระบอบแห่งการดำเนินชีวิตหรือคำสอนสุดท้ายที่มีเนื้อหาสาระครบถ้วนทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ระบอบหรือคำสอนหรือศาสนานี้ได้เกิดขึ้นในประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อประมาณ 1,400 กว่าปีมาแล้ว มีศาสดามุฮัมมัดซึ่งเป็นชนชาติอาหรับเผ่ากุเรชเป็นผู้ประกาศแนวทางหรือคำสอนนี้                

 

ศาสดา

                อิสลามถือว่า ศาสดาทั้งหลายที่มีขึ้นมาโลกนี้ได้มีมาพร้อมกับการมีมนุษย์ ศาสดาทั้งหลายเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญสองประการคือ เรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักพระเจ้าและประกาศคำสอนของพระองค์ศาสดาทั้งหลายได้ทำหน้าที่ต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด จึงเป็นการสิ้นสุดการมีศาสดา กล่าวคือ ศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสดาสุดท้ายของอิสลาม หลังจากศาสดามุฮัมมัดแล้วจะไม่มีศาสดาขึ้นมาอีก เพราะคำสอนของ อัลลอฮฺได้เป็นที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

                ศาสดาที่ผ่านมาก่อนศาสดามุฮัมมัดนั้นบางท่านก็มีชื่อปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัล-กุรฺอาน และบางท่านก็ไม่มีชื่อปรากฏอยู่ ตัวอย่างของศาสดาบางท่านที่มีชื่อปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัล-กุรฺอาน มีดังนี้คือ ศาสดา อาดัม นูห์ (โนอา) อิบรอฮีม (อับราฮัม) อิสมาอีล (อิชมาเอล) อิสฮาก (ไอแซ็ก) ยะอกูบ (ยาก๊อบ) ยูสุฟ (โยเซฟ) มูซา (โมเสส) ดาวูด (เดวิด) สุลัยมาน (โซโลมอน) อีสา (เยซู) และศาสดาสุดท้ายคือท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่านศาสดาทั้งหลาย) ศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสดาสุดท้ายที่มารับภารกิจต่อเนื่องจากศาสดาก่อนๆ โดยมาสอนว่าพระเจ้าทีเที่ยงแท้ในสากลจักรวาลนี้มีองค์เดียวเท่านั้นคือ อัลลอฮฺ ผู้ใดก็ตามที่ไม่ศรัทธาในศาสดาทั้งหลายที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้นั้นไม่ใช่มุสลิม

 

หลักการของอิสลาม

                อิสลามมีหลักสำคัญอยู่ 2 ประการคือ หลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ หลักศรัทธามี 6 ประการ คือ 

                1. ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว คือ อัลลอฮฺ (ไม่ใช่พระอ้าหล่า) อิสลามถือว่าในสากลจักรวาลทั้งหลายมีพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว เป็นผู้ทรงสร้างสากลจักรวาลและเป็นผู้บริหารควบคุม โลกนี้มิใช่เกิดมาโดยบังเอิญ ถ้าเกิดโดยบังเอิญมันจะมีระเบียบแบบแผนในการโคจรไม่ได้ โลกและดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ได้หมุนโคจรอย่างมีระบบรักษาตำแหน่งหน้าที่ของมันอย่างคงเส้นคงวานับเป็นเวลานานไม่รู้กี่ล้านล้านปีโดยที่มันไม่เคยออกนอกวงโคจร นี่ต้องแสดงว่ามีผู้บริหารและต้องมีผู้ควบคุมมัน

                พระเจ้าในอิสลามมีคุณลักษณะไม่เหมือนกับพระเจ้าในศาสนาอื่นๆ กล่าวคือ พระเจ้าในอิสลามไม่มีการแบ่งภาคหรืออวตารมาเกิด ไม่มีแสงสว่างหรือรัศมีพุ่งออกมาจากบริเวณลำตัวและใบหน้า ไม่มีหลายหน้าหลายมือ ไม่ใช่เป็นชายชรานุ่งขาวห่มขาว และมีหนวดเครายาวรุงรัง ไม่มีบุตรและไม่ได้เป็นบุตรของใคร พระเจ้าในศาสนาอิสลามเป็นสภาวะอันนิจนิรันดร์ เรา ไม่สามารถจะจินตนาการหรือนึกถึงรูปร่างลักษณะของพระองค์ให้เหมือนกับสรรพสิ่งใดๆ ในสากลจักรวาลนี้ได้ เพราะไม่มีสรรพสิ่งใดๆ ที่จะเหมือนพระองค์  เราจะรู้จักพระองค์ได้ด้วยคุณลักษณะของพระองค์ 99 ประการ เช่น อัร-เราะหฺมาน (ผู้ทรงปราณี)อัส-สลาม (ผู้ทรงความสันติ ความสงบ) ฯลฯ

                2. ศรัทธาในบรรดา มลาอิกะฮฺของพระองค์ มลาอกะฮฺ คือ ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับศาสดาทั้งหลาย เพื่อจะได้ให้ศาสดาดังกล่าวเข้าถึง อัลลอฮฺ มนุษย์เราแม้จะมีปัญญาสักปานใดก็ต้องอาศัยสื่อภายนอกด้วยกันทั้งสิ้น เช่น มนุษย์นั้นแม้จะมีสายตาดีสักเพียงใดก็ตาม เขาก็ไม่สามารถเห็นวัตถุใดๆ ได้เลย ถ้าหากไม่มีแสง สว่างเป็นสื่อ คำว่า มลาอิกะฮฺหาคำศัพท์แปลเป็นภาษาไทยไม่ได้ มลาอิกะฮฺเป็นนามธรรม ไม่ใช่เทวทูต, เทวดา, ทูตสวรรค์ แต่ในศาสนาอิสลามถือว่า มลาอิกะฮฺ ไม่มีเพศ ไม่ขัดขืนคำสั่งของ อัลลอฮฺ ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่หลับ ไม่นอน มลาอิกะฮฺ คือ อำนาจ แห่งความดี ส่วนอำนาจแห่งความชั่วนั้น คือ ชัยฏอน หรือ ซาตาน หรือ มาร นั่นเอง ดังนั้น มลาอิกะฮฺจึงไม่ใช่ เทวดา และนางฟ้า

                3. ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ มุสลิมต้องเชื่อถือต้นฉบับเดิมของคัมภีร์ทั้งหลายทุกๆ เล่มในอดีตรวมทั้ง อัล-กุรฺอานด้วย ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าคัมภีร์เหล่านั้นต้องเป็น วะฮีย์ (ได้รับการดลใจ) มาจาก อัลลอฮฺและต้องมีเนื้อหาสาระตรงกับ อัล-กุรฺอาน มุสลิมต้องเชื่อถือในส่วนบริสุทธิ์ ของคัมภีร์เท่านั้น อิสลามถือว่าคัมภีร์ที่สมบูรณ์ที่สุดและเป็นคัมภีร์สุดท้าย คือ  คัมภีร์ อัล-กุรฺอาน อัล-กุรฺอานเป็นคัมภีร์ที่มาต่อเนื่องและมาสรุปรวบยอดเนื้อหาจากคัมภีร์ก่อนๆ เป็นธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่มาจาก อัลลอฮฺ และให้ศาสดามุฮัมมัดมาประกาศใช้ต่อมวลมนุษยชาติทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความสันติสุขแก่มวลมนุษย์ทุกคน 

                อัล-กุรฺอาน เป็นคัมภีร์ที่ชี้นำถึงระบอบแห่งการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นแล้วยังบรรจุด้วยเรื่องราวต่างๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ชีววิทยา การมีชีวิตอยู่ในสังคม วิทยาการ การอบรม การซื้อขาย การกสิกรรม การสมรส ระเบียบชีวิตในครอบครัว การบ้าน การเมือง การปกครอง การทหาร และการป้องกัน  การรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนการสงคราม และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ อัล-กุรฺอาน ถูกบันทึกในขณะศาสดายังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าจะเป็นเวลานานประมาณ 1,400 ปีมาแล้วก็ตาม แต่ภาษาของ อัล-กุรฺอานก็ยังเป็นภาษาอาหรับที่มีลักษณะโครงสร้างไวยากรณ์ การพูด การเขียน การอ่านเหมือนๆ กับภาษาอาหรับปัจจุบัน ขณะที่คัมภีร์ในศาสนาอื่นๆ มีการจดบันทึกหลังจากศาสดาได้สิ้นชีวิตไปแล้วหลายร้อยปี ด้วยเหตุนี้จึงหาต้นฉบับไม่ได้และยังมีการสังคายนาหรือถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาวะกาล อัล-กุรฺอานฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาสาระครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนกับ อัล-กุรฺอานต้นฉบับเมื่อประมาณ 1,400 ปีมาแล้ว อัล-กุรฺอาน เป็นคัมภีร์ ที่มายื่นยันและสรุปรวบยอดคำสอนต่อจากคัมภีร์ก่อนๆ กล่าวคือ ได้นำเรื่องราวของคัมภีร์ในอดีตมาสรุปอยู่ในคัมภีร์ อัล-กุรฺอาน นั่นเอง

                4. ศรัทธาในบรรดา นบี (ศาสดา) ของพระองค์ มุสลิมทุกคนต้องยอมรับนับถือศาสดาทั้งหลายที่มาเทศนาก่อนศาสดามุฮัมมัด ไม่ว่า ศาสดาเหล่านั้นจะปรากฏชื่ออยู่ในคัมภีร์ อัล-กุรฺอานหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าศาสดาเหล่านั้น จะเป็นชนชาติใด อยู่ที่ไหน พูดภาษาอะไรก็ตาม มุสลิมต้องให้เกียรติยกย่องบรรดาศาสดาเหล่านั้นอย่างเท่าเทียมกันหมด ศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสดาสุดท้ายของโลก ที่มารับภารกิจต่อจากศาสดาก่อนๆ ที่มาเชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักพระเจ้าและดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวว่าหลังจากท่านแล้วจะไม่มีศาสดาของ อัลลอฮฺ เกิดขึ้นมาอีกเพราะถือว่าท่านได้นำคำสอนหรือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ครบถ้วนมาสู่มนุษยชาติแล้ว (ดูรายละเอียดข้อ 3)

                5. ศรัทธาในวันสุดท้ายและการเกิดใหม่ในวันปรโลก อิสลามถือว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นเพียงวัตถุธาตุชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องมีการแตกสลายเหมือนๆ กับวัตถุหรือสิ่งอื่นๆ แน่นอนโลกของเราต้องถึงจุดจบไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อโลกแตกสลายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ดับสิ้น นอกจากอัลลอฮฺ เท่านั้นที่ยังดำรงอยู่ และมนุษย์ทั้งหลายก็จะไปเกิดใหม่อีกครั้ง ก็เพื่อจะให้มนุษย์ได้รับผลตอบแทนตามที่เขาได้กระทำไว้เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ ผลงานของเขาในโลกนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเขาจะเป็นผู้ได้รับสวรรค์หรือนรก ไม่มีใครช่วยใครได้ ไม่มีการกลับชาติมาเกิด ถ้า ไม่เชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ แล้วสังคมของเราก็จะสับสนปั่นป่วนวุ่นวายหาความสงบสุขไม่ได้ ดังเช่น พวกอาหรับในยุคญาฮลียะฮฺ (ยุคแห่งความงมงาย) ซึ่งเชื่อว่าเมื่อพวกเขาเกิดมาแล้วก็ตายไป คือตายแล้วสูญเหมือนดังสัตว์อื่นๆ ความดีความชั่วที่เขาได้กระทำมานั้นไม่มีการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น พวกเขาจึงใช้ชีวิตความเป็นอยู่ไปในทางชั่วช้าทุกรูปแบบ จนสร้างความเสียหายปั่นป่วนให้แก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง

                6. ศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะของพระองค์ 

                กฎกำหนดสภาวะ คือสภาวะที่พระเจ้าทรงกำหนด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ และชนิดที่ทรงกำหนดไว้ตายตัวเปลี่ยนแปลงได้ ชนิดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น การเกิดมาเป็นลูกใคร เกิดในสถานที่ใด ตายที่ไหนและเมื่อใด ทุกๆ ชีวิตเมื่อเกิดมาแล้วต้องพบกับความตายหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดจนกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น ชนิดที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น จะมีชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนฐานะร่ำรวยหรือยากจนอย่างไร เป็นคนดีหรือคนชั่ว เป็นชาวนรกหรือชาวสวรรค์ เป็นต้น

                มุสลิมทุกคนต้องศรัทธาว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาลนี้ล้วนเกิดขึ้นมาและดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของ อัลลอฮฺทั้งสิ้น เช่น การหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก ไฟมีคุณสมบัติร้อน น้ำไหลลงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แพะ แกะ วัว ควาย สุนัข ออกลูกเป็นตัว นก เป็ด ไก่ ออกลูกเป็นไข่ ต้นมะม่วงต้องออกลูกเป็นมะม่วง ต้นกล้วยจะออกลูกเป็นแอปเปิ้ลไม่ได้ ทุกๆ ชีวิตต้องตาย นี่คือกฎกำหนดสภาวะของ อัลลอฮฺ หมายความว่า กฎธรรมชาติทั้งหลายนั้น อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสร้างและควบคุมมันส่วนการกำหนดสภาวะในหลักจริยธรรมความดี-ความชั่วนั้น พระองค์จะเป็นผู้บอกเราเองว่าอะไรคือความดีและอะไรคือความชั่ว แต่สิ่งที่ใช้วัดความดีความชั่วนั้นในอิสลามถือว่า มันไม่ได้มาจากมติของมหาชน ไม่ได้อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณีหรือความนิยมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องกำหนด เพราะถ้ามนุษย์เป็นผู้กำหนดความดีความชั่วแล้ว มาตรฐานความดีของมนุษย์ก็จะแตกต่างกัน

                การที่มนุษย์คนใดได้กระทำความดีความชั่วนั้น อัลลอฮฺทรงรู้ล่วงหน้าแล้วทั้งสิ้น แต่สิ่งเหล่านี้พระองค์ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการกระทำหรือการตัดสินใจของมนุษย์เอง เพราะอัลลอฮฺได้ให้สติปัญญาและความคิดอิสรเสรีแก่เสรีแก่มนุษย์ในการที่เขาจะเลือกทางเดินของเขาเอง ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่สับสนวุ่นวายอยู่ในบ้านเมืองหรือสังคมนั้น มันเกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองทั้งสิ้น มิใช่เกิดขึ้นจากการกำหนดหรือการลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า ความจน ความรวย ความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ยาก ความขมขื่น ที่เกิดแก่มนุษย์นั้น  ก็เนื่องจากมนุษย์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเจ้า และเนื่องมาจากผู้ปกครองหรือผู้นำขาดความรับผิดชอบอย่างถูกต้อง การที่ อัลลอฮฺไม่ได้ลิขิตการกระทำและผลกรรมของผู้ใดล่วงหน้าตายตัวนั้น ก็เพื่อที่จะให้มนุษย์มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองได้กระทำ

 

หลักปฏิบัติมี 5 ประการ คือ

                1. ให้ยืนยันด้วยวาจา หรือทำการปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสทูตของพระองค์

                การยืนยันหรือการกล่าวคำปฏิญาณนี้เป็นการยอมรับในระเบียบวินัย และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของอิสลาม เปรียบเสมือนกับเราจะเข้าไปทำงานหรือไปสมัครเรียนต่อ ณ ที่ใด เราก็จะต้องยืนยันด้วยวาจาหรือให้การรับรองเซ็นรับทราบในใบสมัครเรียนต่อ ณ ที่ใด เราก็จะต้องยืนยันด้วยวาจาหรือให้การรับรองเซ็นรับทราบในใบสมัคร หรือสัญญาว่าเราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ในทำนองเดียวกันเมื่อผู้ใดให้การยืนยันหรือการปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสทูตของพระองค์ นั่นหมายความว่าผู้นั้นจะต้องเคารพภักดีและเชื่อฟัง อัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ห้ามกราบไหว้เทวรูปต่างๆ และปฏิบัติตามที่อัลลอฮฺทรงใช้ ละทิ้งในสิ่งที่ อัลลอฮฺทรงห้าม และนอกจากนั้นก็จะต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ในแบบอย่างของอิสลาม โดยดำเนินชีวิตตามแบบอย่างชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด เพราะแบบอย่างการดำเนินชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง สำหรับมุสลิม

                2. ต้องกระทำนมาซ ภาษาอาหรับ เรียกว่า อัศ-เศาะลาฮฺ คำ ว่า นมาซ เป็นภาษาเปอร์เซียแผลงเป็นภาษาไทยว่า ละหมาด การนมาซคือการเคารพภักดีต่อ อัลลอฮฺ หรือการบำเพ็ญสมาธิในอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน โค้ง กราบ และนั่ง โดยจะต้องกระทำวันละ 5 เวลา คือ เช้าตรู่ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เวลากลางวันหลังจากดวงตะวันตรงศีรษะ (เที่ยง) เวลาเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตก เวลาค่ำหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า  และเวลากลางคืนเมื่อฟ้ามืดสนิท (หรือก่อนนอน) การนมาซเป็นการผูกสายใยไว้กับพระผู้เป็นเจ้า เป็นการเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า เป็นการเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า การ นมาซเป็นการขัดเกลาดวงใจให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์ เป็นการยับยั้งการกระทำความชั่ว เพราะคนที่จะไปเข้าหาหรือไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าของเขานั้นเขาย่อมไม่กล้าที่จะกระทำความชั่ว เปรียบเสมือนเราจะเข้าไปหาคนที่เรารัก คนที่เราเคารพนับถือทุกๆ วัน วันละ 5 เวลา  แน่นอนเราย่อมไม่กล้าประพฤติชั่วโดยที่ให้คนที่เราเคารพคนที่เรารักได้รู้ได้เห็นฉันใด ก็เปรียบเสมือนว่าเราจะเข้าไปหาหรือไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นผู้ทรงรอบรู้ทรงเห็นของเรา วันละ 5 เวลาทุกๆวัน ตลอดชีวิตแน่นอนเราย่อมไม่กล้าที่จะกระทำชั่วหรือกระทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงรักฉันนั้น

                การนมาซวันละ 5 เวลา เป็นการสกัดกั้นความคิดที่เลวทรามเป็นช่วงๆ  อย่างมีระบบต่อเนื่องกันในรอบวัน การนมาซไม่ต้องมีเครื่องเซ่นไหว้สังเวย ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน เพราะพระเจ้าในอิสลามไม่ต้องการ สิ่งใดๆ จากมนุษย์ เราจะนมาซหรือไม่นมาซนั้นไม่มีผลกระทบต่อพระเจ้าทั้งสิ้น การนมาซจะกระทำที่บ้านหรือ มัสยิดก็ได้ จะทำคนเดียวหรือหลายคนก็ได้  แต่การนมาซจะเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้เรื่องอิสลามสามารถอ่านคัมภีร์อัล-กุรฺอานได้ และเป็นคนที่มีคุณธรรม จะเป็นคนยากจนมาจากไหนไม่สำคัญ แต่เมื่อเป็นผู้นำการนมาซแล้วแม้แต่ประมุขของประเทศก็ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข

                3 การถือศีลอด  คือการละเว้นจากการกิน  การดื่ม  การเสพ  การพูดจาเหลวไหล  การมีจิตอกุศล  การร่วมเพศ  การประพฤติชั่วทุกรูปแบบ  การถือศีลอดเป็นการขัดเกลากิเลสตนเอง  ฝึกตนเองให้มีความอดทนต่อสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ให้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง  ไม่ว่าจะอยู่ในที่ลับหรือที่เปิดเผย  ดังนั้น  การอดอยากจึงมิใช่เป้าหมายของการถือศีลอดเพราะผู้ใดถือศีลอดแต่เขายังเป็นคนโกหก  ยังมีจิตอกุศล  มีความอิจฉาริษยา  มีการด่าทอและให้ร้ายป้ายสีผู้อื่น  เขาผู้นั้นจะไม่ได้อะไรจากการถือศีลอดนอกจากความหิวและความกระหายอย่างเดียวเท่านั้น  มุสลิมทุก ๆ คนต้องถือศีลอด  นอกจากเด็ก  คนชรา  แม่ที่กำลังให้นมลูก  หรือกำลังตั้งครรภ์  คนป่วย  คนเดินทาง  คนทำงานหนัก  การถือศีลอดกระทำกันในเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม  เดือนนั้นเรียกว่าเดือนเราะมะฎอน    ซึ่งเดือนนี้อาจจะตรงกับเดือนใดเดือนหนึ่งระหว่าง มกราคม- ธันวาคม หมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ ระยะเวลาของการถือศีลอดมีจำนวน 29-30  วัน โดยแต่ละวันเริ่มตั้งแต่เวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น จนถึงเวลาดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า การถือศีลอดเป็นเวลาหนึ่งเดือนนั้นก็คล้ายกับการเข้าค่ายฝึกอบรมประจำปี ทั้งนี้เพื่อจะได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ในรอบปีที่ผ่านมาว่าเราได้แก้ไขตัวเองหรือเปล่าอย่างไร ในระยะเวลาของการถือศีลอดเป็นเวลาหนึ่งเดือนนั้นเป็นโอกาสอันดีงามของผู้ที่จะกลับตัวหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาทางด้านชีวิตและจิตใจให้สูงส่ง และเพื่อจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่นับจากนี้ไป (และในขณะถือศีลอดไม่มีข้อห้ามในการกลืนน้ำลาย ถ้าปากสะอาดไม่มีเศษอาหารติดอยู่)

                4. การจ่ายซะกาต  ซะกาตหรือซะกาฮฺ หมายถึง  ทรัพย์สินส่วนเกินจำนวนหนึ่ง ซึ่งมุสลิมต้องจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับเมื่อครบรอบปี แล้วไม่ทำการบริจาค ผู้นั้นก็เป็นผู้หนึ่งที่ทำผิดบัญญัติของอิสลาม ทรัพย์สินที่จะต้องจ่ายซะกาตมีดังนี้ เงินทอง , ปศุสัตว์, ผลผลิตทางการเกษตร สินค้าใน สต็อก และขุมทรัพย์หรือทรัพยากรธรรมชาติที่ค้นพบ ซึ่งถ้ามีจำนวนถึงพิกัดอัตราแล้วจะต้องจ่ายซะกาตตั้งแต่ 2.5% ถึง 20 %  ส่วนผู้ที่ดูแลเงินซะกาต คนที่เข้ารับนับถืออิสลามใหม่ๆ การไถ่ ทาสหรือเชลย คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพื่อประโยชน์ต่อสังคมในวิถีทางอัลลอฮฺ และคนที่พลัดถิ่นหรือคนเดินทาง (ไม่มีพาหนะกลับภูมิลำเนาเดิม) ซะกาตนี้รัฐจะเป็นผู้เรียกเก็บจากประชาชนผู้มีรายได้ดังกล่าว (คล้ายๆ กับการเรียกเก็บภาษีรายได้ของกรมสรรพากรนั่นเอง) ผู้ใดมีทรัพย์สินรายได้ตามกำหนดแล้วปดบังอำพรางไม่ยอมชำระ ผู้นั้นมีโทษเพราะถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการประกาศสงครามกับ อัลลอฮฺ

                5. การทำฮัจญ์ การทำฮัจญ์เป็นข้อกำหนดสำหรับมุสลิมทุกๆ คนที่บรรลุนิติภาวะ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องไปทำฮัจญ์ครั้งหนึ่งในชีวิตแต่มีเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นต้องอยู่ในสภาพพร้อมทั้งในด้านการเงิน สุขภาพจิตและสุขภาพกาย การคมนาคมสะดวกและมีปลอดภัย พิธีฮัจญ์กระทำที่เมืองมักกะฮฺ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับมุสลิมที่จะได้พบปะกับมวลมุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกเป็นประจำทุกปี ขณะทำพิธีฮัจญ์นั้นทุกคนจะอยู่ในสภาพเดียวกันหมด  คือ ผู้ชายแต่งกายด้วยผ้าขาว 2 ชิ้น ผู้หญิงแต่งกายด้วยการคลุมศีรษะเหลือให้เห็นใบหน้าและฝ่ามือ ในสภาพเช่นนี้ จึงไม่รู้ว่าใครเป็นกษัตริย์ใครเป็นขอทาน ไม่มีความแตกต่างในเรื่องผิวพรรณ ชั้นวรรณะ และความรวยความจน ในวันที่ 9 ของเดือนที่มีการทำพิธีหัจญ์ทุกคนต้องมาชุมนุมกันกลางทะเลทรายที่ทุ่งอารอฟะฮฺเหมือนกันหมด การทำพิธีฮัจญ์เป็นการทำลายระบบชนชั้นวรรณะและความรวยจนในขั้นตอนหนึ่ง คนที่อยู่ในระหว่างการทำฮัจญ์จะต้องอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับเหมือนกันหมดทุกคน ไม่มีการยกเว้น ไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษ การทำฮัจญ์เป็นการฉายภาพให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมีศักดิ์ศรีและความเป็นคนเท่าเทียมกันหมดทุกคน การทำฮัจญ์ไม่ใช่เป็นการไปล้างบาปหรือไปสักการะหินดำ ผู้ที่ไปฮัจญ์เมื่อกลับมาแล้วก็ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์หรือตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มียศเป็นพระ เพราะในอิสลามไม่มีพระและนักบวช เพราะฉะนั้นคนที่ไปทำฮัจญ์กลับมาจึงไม่มีบัตรพิเศษหรือสิทธิพิเศษใดๆ ในอิสลาม ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าใจว่าผู้ที่ไปทำฮัจญ์กลับมา แล้วจะได้ตำแหน่งฮัจญี และมีสิทธิมีภรรยาได้ 4 คนนั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะมุสลิมชายทุกๆ คนที่ไม่ได้ไปทำฮัจญ์ ก็สามารถมีภรรยาได้ 4 คน โดยมีเงื่อนไขมากมายเช่น ต้องให้ความยุติธรรมแก่ภรรยาทั้งหมด ต้องไม่นับภรรยาคนแรกว่าเป็นภรรยาหลวง และภรรยาคนต่อมาว่าเป็นภรรยาน้อย ต้องให้ภรรยาทั้งหมดมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน บุตรที่เกิดจากภรรยาหลังต้องมีสิทธิเท่ากับบุตรที่เกิดจากภรรยาคนแรกทุกประการ ฯลฯ การที่มีการเรียกผู้ชายที่ไปทำฮัจญ์แล้วว่า ฮัจญี หรือผู้หญิงที่ทำฮัจญ์แล้วว่า ฮัจญะฮฺ นั้น ต่างก็เรียกกันไปเอง ไม่มีในคำสอนของอิสลาม

 

ลักษณะทั่วไปของอิสลาม

1.       ไม่ใช่ศาสนาที่เกิดใหม่ แต่เป็นศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากศาสนาก่อนๆ

2.       นับถือยกย่องศาสดาทั้งหลายทุกๆ คนที่มาก่อนศาสดามุฮัมมัด

3.       อำนาจทางกฎหมายหรือธรรมนูญสูงสุดมาจากพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่จะได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายนั้นเป็นพิเศษ ผลประโยชน์ทั้งหลายจะต้องตกอยู่กับประชาชนทั่วไปอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะผู้อ่อนแอหรือผู้ที่ยากไร้

4.       เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ เพราะอิสลามแปลว่าสันติ

5.       มีการศรัทธา และมีการปฏิบัติควบคู่กันไป ไม่ใช่ศรัทธาอย่างเดียว หรือปฏิบัติอย่างเดียว

6.       ในเรื่องศาสนกิจแล้ว ไม่มีผู้ใดได้รับสิทธิพิเศษจากพระผู้เป็นเจ้า นอกจากผู้ที่บกพร่องทางจิต หรือทางกายภาพ

7.       เป็นระบอบการปกครองและเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต

8.       ไม่มีนักบวช นักพรต สมณะศักดิ์และชนชั้น (ดังนั้น) ทุกคนต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ  และให้เกียรติแก่ผู้ใช้แรงงาน

9.       ข้อห้ามมีบทลงโทษ เช่น ผู้ที่ดื่ม สุราจะได้รับการถูกเฆี่ยน 80 ครั้ง และผู้ที่ผิดประเวณีจะได้รับการถูกเฆี่ยน 100 ครั้ง ผู้ที่ขโมยโดยสันดานจะถูกตัดมือ ฯลฯ

10.   สตรีมีสิทธิเท่าเทียมชาย แต่มีหน้าที่แตกต่างกันและสตรีทุกคนได้รับการตอบแทนตามผลงานที่ ตัวเองได้ กระทำไว้อย่างเท่าเทียมกัน

11.   พฤติกรรมหรือผลงานในทางสังคมของมนุษย์จะเป็นเครื่องตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงรัก

12.   สอนให้มนุษย์มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ประณามการสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย

13.   การเริ่มศักราชใหม่หรือวันปีใหม่ของอิสลามไม่ได้นำวันเกิดและวันสิ้นชีวิตของศาสดาหรือวันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวของศาสดามากำหนดวันขึ้นปีใหม่  แต่วันปีใหม่ได้กำหนดเอาจากเหตุการณ์ของการอพยพของท่านศาสดามุฮัมมัดและประชาชนที่อพยพจากสภาพที่เลวร้ายไปสู่สภาพที่ดีกว่า (จากเมืองมักกะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺ)

14.   ทุกๆ คนเกิดมาบริสุทธิไม่มีมลทินหรือบาปติดตัวมา ดังนั้นจึงไม่มีพิธีการล้างบาปในอิสลาม

15.   ในอิสลามไม่มีการกำหนดวันหมดอายุความของคดีใดๆ ของผู้กระทำความผิด ผู้กระทำผิดจะพ้นผิดไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับการตัดสินหรือมีการตกลงกันระหว่างคู่กรณีหรือมีการชดใช้ค่าเสียหาย เช่น เป็นฆาตกรโดยเจตนาจะพ้นผิดได้ก็ต่อเมื่อได้รับการตัดสิน ไม่ใช่หลบหนีไป 20 ปี แล้วถือว่าหมดอายุความนั้น หรือพ้นผิดได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับการตัดสินหรือมีการตกลงกันระหว่างคู่กรณีหรือมีการชดใช้ค่าเสียหาย เช่น เป็นฆาตกรโดยเจตนาจะพ้นผิดได้ก็ต่อเมื่อได้รับการตัดสิน ไม่ใช่หลบหนีไป 20  ปีแล้วถือว่าหมดอายุความนั้น หรือพ้นผิด

16.   ความโง่เขลา ความฉลาด ความรวยความจน ความทุกข์ยากทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งนั้น มิใช่เกิดขึ้นโดยพระผู้เป็นเจ้าทรงหยิบยื่นให้เป็นการตายตัว แต่ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจขาดความรับผิดชอบ ต่อประชาชน

17.   ความดี ความเลวของมนุษย์มิได้เกิดขึ้นโดยสันดาน แต่เกิดขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ใกล้ชิดเป็นตัวกำหนดแต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวเสมอไป แต่ส่วนมากมักจะเป็นเช่นนั้น

18.   อิสลามไม่ได้แยกการเมืองออกจากศาสนา เพราะศาสนาและการเมืองนั้นเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะถ้าการเมืองไร้คุณธรรม ประเทศชาติและประชาชนก็จะเสียหาย

19.   ทุกๆ อิริยาบถ หรือความนึกคิดต่างๆ ที่จะต้องดำเนินไปตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย และตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน อิสลามได้มีคำสอนไว้หมดแล้ว

20.   ความดีความชั่วของมนุษย์ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์เพราะฉะนั้นจึงถ่ายทอดให้กันไม่ได้

21.   ในอิสลามไม่มีผู้วิเศษและไม่ได้ตั้งบุคคลใดให้เป็นสื่อกลางหรือนายหน้าระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มนุษย์ทุกๆคนไม่ว่าจะมีสภาพฐานะยากจนหรือร่ำรวย  หรือจะมาจากชนชั้นใดก็ตาม ก็มีสิทธิที่จะเข้าหาและวิงวอนร้องขอต่อพระผู้เป็นเจ้าได้โดยตรง มิต้องจ้างวานหรือให้ของกำนัลแก่ผู้ใดเพื่อที่จะให้เขามาเป็นสื่อ ตัวแทนให้

22.   เนื่องจากอิสลามไม่มีระบบพระ ไม่มีระบบสงฆ์ ไม่มีสามเณร ไม่มีชี ไม่มีนักบวช นักพรต ไม่มียศไม่มีตำแหน่งไม่มีการล้างบาป เพราะฉะนั้น มุสลิมทุกๆ คนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบข้อบังคับของศาสนาเหมือนกันหมด ยกเว้นเด็ก ผู้เสียสติ ผู้อ่อนแอ ไร้ความสามารถ

23.   ในอิสลามไม่มีเครื่องแบบ หรือยูนิฟอร์ม สำหรับสวมใส่

24.   เน้นเรื่องประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก 

25.   คนที่ดีที่สุดในทรรศนะอิสลามนั้นไม่ใช่คนชาติอาหรับ แต่ตะเป็นคนชาติใดก็ได้ที่มีความยำเกรง อัลลอฮฺ คือ คนๆ นั้นเป็นคนที่มีจริยธรรมอันสูงส่ง

26.   ในศาสนาอิสลามถือว่า การเสพสิ่งมึนเมา การเล่นการพนันการประพฤติผิดในกาม การขโมยนั้นมีความผิดมากกว่าการกินเนื้อหมู

27.   อิสลามสอนให้มนุษย์เป็นมือบนมิใช่เป็นมือล่าง (เป็นผู้ให้มิใช่เป็นผู้แบมือรับ )

 

 

ข้อห้ามในอิสลาม

                1. ห้ามตั้งหุ้นส่วนหรือตั้งภาคี หรือนำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเทียบเทียมกับ อัลลอฮฺ เช่น เมื่อเวลามีการเคารพภักดีอัลลอฮฺ ในขณะเดียวกันก็ไปไหว้ต้นไม้ เทวรูป และวัตถุต่างๆ หรือในขณะที่มีการทำบุญเพื่ออัลลอฮฺแต่พร้อมกันนั้นก็แอบแฝงด้วยการหวังชื่อเสียงควบคู่กันไปด้วย

                2. ห้ามกราบไหว้บูชาดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ รูปปั้น รูปภาพ ต้นไม้ ก้อนดิน จอมปลวก แม่น้ำ ผีสางนางไม้ เทวดา ตลอดจนวิญญาณ ต่างๆ ในอิสลามไม่มีเจ้าที่ เจ้าพ่อ เจ้าแม่  ศาลพระภูมิ

                3. ห้ามเชื่อเรื่องดวงชะตา ราศี ผูกดวง ดูหมอ ห้ามถือโชคลาง ของขลัง ไม่มีฤกษ์ยาม และไสยศาสตร์ ทั้งหลาย ปลูกบ้านก็ไม่มีการวางศิลาฤกษ์ หรือเสาเอก  (ที่เห็นทำกันนั้นเป็นการเลียนแบบศาสนาอื่น)

4. ห้ามเล่นการพนันทุกรูปแบบ ห้ามเสี่ยงทาย เสี่ยงโชค ห้ามเล่นการพนันในรูปแบบของการแข่งม้า ห้ามซื้อขายหวยใต้ดิน และ ล็อตเตอรี่  ห้ามนำสิ่งของต่างๆ มาออกเบอร์หรือเป็นผู้ซื้อเบอร์

5. ห้ามกินหมู ห้ามดื่มกินเลือดสัตว์ทุกชนิด ห้ามกินสัตว์ที่ตายเองโดยมิได้เชือดด้วยพระนามของ อัลลอฮฺก่อน ยกเว้นปลาหรือสัตว์น้ำ  (คือต้องเชือดโดยมุสลิมถ้าเป็นสัตว์บก)

                6. ห้ามกินอาหารอย่างฟุ่มเฟือย สุลุ่ยสุร่าย ห้ามกินและดื่มสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แก่ร่างต่อร่างกาย

7. ห้ามเสพสิ่งมึนเมาทุกชนิด   ทุกรูปแบบ เช่น สุรา ยาเมา ยาบ้า เหล้าเบียร์ กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน ทินเนอร์ และสิ่งใดก็ตามถ้าเสพไปแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสติปัญญา อิสลามห้ามทั้งสิ้น  นอกจากนั้นยังห้ามกินอาหารจนแน่นกระเพาะอีกด้วย

                8. ห้ามผิดประเวณีกับหญิงทุกๆคน ไม่ว่าจะด้วย การยินยอมสมัครใจ หรือให้ค่าตอบแทนอย่างคุ้มค่าก็ตาม และที่เป็นสื่อชักนำไปสู่อบายมุขอิสลามก็ห้ามเช่นกัน  เช่น ห้ามเข้าใกล้หนังสือโป๊ ภาพยนตร์ลามก บาร์ ไนต์คลับ สถานที่อาบอบนวด บ่อนไพ่ สนามม้า แผง ล็อตเตอรี่

                9. ห้ามฆ่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยเจตนา โดยปราศจากความเป็นธรรมและไม่มีเหตุผล แต่การฆ่าสัตว์มารับประทาน หรือการฆ่าสัตว์ร้ายที่จะทำอันตรายแก่มนุษย์ (เช่น สุนัขบ้า ฯลฯ) อิสลามอนุญาตให้ ฆ่าได้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์

                10. ห้ามติดสินบนทุกชนิด และโกงเวลาหน้าที่การงาน

                11. ห้ามสู่รู้เรื่องส่วนตัวของผู้อื่น และอย่านำเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคมมาเปิดเผยหรือโจมตี

                12. ห้ามเฉยเมยเมื่อมีคนทักทาย ต้องตอบรับคำทักทายด้วยถ้อยคำที่ดีกว่า

                13. ห้ามบริโภคอาหารใดๆ ที่รู้ว่าอาหารนั้นได้มาจากการทุจริต

                14. ห้ามทำการใดๆ ที่สร้างความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น

                15. ห้ามเข้าไปในบ้านของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน

                16. ห้ามประกอบอาชีพใดๆ ที่ขัดต่อศีลธรรมและคุณธรรม ซึ่งอาชีพเหล่านั้นจะชักนำผู้อื่น และตัวเองไปสู่ความหายนะ เช่น การตั้งซ่องโสเภรี ขายสุรา ตั้งบาร์ ไนต์คลับ อาบอบนวด  ตั้งบ่อนและขาย ล็อตเตอรี่

                17. ห้ามทำหมันถาวรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามเงื่อนไขของศาสนา แต่การยืดระยะเวลาการตั้งครรภ์สามารถกระทำได้ตามที่ศาสดาแนะนำไว้

                18. ห้ามเป็นคนหลงชาติ หลงตระกูล

                19. ห้ามกักตุนสินค้า ห้ามค้ากำไรเกินควร ห้ามขายสินค้าที่มีคุณภาพเสื่อม

                20. ห้ามสตรีแต่งกายด้วยเสื้อผ้าบางๆ หรือทรงรัดรูป ยั่วยวน ซึ่งเป็นบ่อเกิดปัญหาอาชญากรรมทางเพศ

                21. ห้ามใช้เวลาและทรัพย์สินไปในทางที่ไร้ประโยชน์

                22. ห้ามกระทำการใดๆ ที่จะสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น การสูบบุหรี่ หรือส่งเสียงเอะอะเอ็ดตะโรเป็นที่รำคาญต่อผู้อื่น

                23. ห้ามร่วมประเวณีกับสตรีในขณะที่มีรอบเดือน

24. ห้ามเรียกผู้อื่นโดยฉายาแทนชื่อของเขา

25. ห้ามคบกับทรราชและผู้กดขี่

26. ห้ามหนีทัพในขณะประจัญบาน

27. เมื่อมีคนอยู่ด้วยกันสามคน ห้ามคนสองคนพูดภาษาที่คนที่สามฟังไม่รู้เรื่อง

28. สตรีที่ถูกหย่า ห้ามแต่งงานใหม่จนกว่าจะมีรอบเดือน 3 ครั้ง

29. ห้ามจุดธูปเทียน ประทัด ดอกไม้ไฟ วางพวงหรีดพวงมาลา ในกิจกรรมของศาสนา

30. ห้ามกินดอกเบี้ยทุกรูปแบบทุกชนิด

31. ห้ามถ่ายปัสสาวะและอุจจาระลงในแม่น้ำลำคลอง บนถนนในรูโพรง บริเวณใต้ร่มเงา ของต้นไม้ที่ใช้สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ใต้ต้นไม้ที่มีลูกผลใช้รับประทาน และเมื่อถ่ายเสร็จแล้วต้องมีการชำระล้างให้สะอาดด้วย

32. เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ณ ที่ใด ห้ามคนในเมืองนั้นเดินทางออกมาและห้ามคนที่อยู่ในเมืองอื่นเดินทางเข้าไปในเมืองนั้น

33. ห้ามมีการหยอกล้อด้วยอาวุธละของมีคม

นอกจากนี้ยังมี ข้อห้าม อื่นอีกมากมาย แต่ไม่สามารถนำมาเสนิทั้งหมดได้โดยรวบรัดในที่นี้ (ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในภายหลัง)

 

ข้อต้องปฏิบัติในอิสลาม

1.       ต้องเผยแผ่สัจธรรมแก่ผู้อื่น (ตามความรู้ความสามารถของตน)

2.       กำจัดสิ่งแหลมคมที่อาจเป็นอันตรายออกจากทางสัญจร

3.       บอกทางให้แก่ผู้ที่หลงทาง

4.       จงลุกขึ้นทำการต่อสู้ถ้ามีการกดขี่ทุกรูปแบบ

5.       จงพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม

6.       จงแต่งงาน และการแต่งงานที่ดีที่สุดนั้นต้องมีการใช้จ่ายน้อย และวุ่นวายน้อยที่สุด

7.       เมื่อเวลาจะมีการกู้ยืม จงเขียนสัญญา

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง แนะนำอิสลาม
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

นายยาเบ็น เรืองจรูญศรี
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
นายยาเบ็น เรืองจรูญศรี..