.....ลักษณะของขลุ่ยที่ดี
ขลุ่ยที่ดีนอกจากควรทำมาจากไม้ไผ่แล้ว ควรพิจารณาสิ่งอื่นๆประกอบด้วยกัน คือ
1. เสียง ขลุ่ยที่จะใช้ได้นั้น เสียงต้องไม่เพี้ยนตั้งแต่เสียงต่ำสุดจนถึงเสียงสูงสุด คือทุกเสียงต้องห่างกัน 1 เสียง ตามระบบบันไดเสียงของดนตรีไทย เสียงคู่แปดจะต้องเท่ากัน เสียงเลียน หรือนิ้วควงจะต้องตรงกัน เสียงแท้ เสียงต้องโปร่ง ใส มีแก้วเสียงไม่แหบพร่า หรือ แตก ถ้าเล่นในวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีที่เสียงตายตัว เช่นระนาดหรือ ฆ้อง จะต้องเลือกขลุ่ยที่มีระดับเสียงเข้ากับเครื่องดนตรีเหล่านั้น
2. ลม ขลุ่ยที่ดีจะต้องกินลมน้อย ไม่หนักแรงเวลาเป่า ซึ่งจะทำให้ระบายลมได้ง่าย
3. ลักษณะของไม้ที่นำมาทำ จะต้องเป็นไม้ที่แก่จัด หรือ แห้งสนิทโดยสังเกตจากเสี้ยนของไม้ ควร
เป็นเสี้ยนละเอียดที่มีสีน้ำตาลแก่ค่อนข้างดำ ตาไม้เล็กๆ เนื้อไม่หนาหรือบางเกินไป คือต้องเหมาะสมกับประเภทของขลุ่ย ว่าขลุ่ยอะไร ในกรณีที่ไม้ไผ่แก่จัดหรือไม่แห้งสนิทเมื่อทำแล้วในระยะหลังจะแตกร้าวได้ง่าย เสียงจะเปลี่ยนไปและมอดจะกัดกินเสียหาย
ดาก ควรทำจากไม้สักทอง ไม่มีขุย หรือขนแมวขวางทางลมการใส่ดากต้องไม่ชิดหรือห่างไม้
ไผ่ซึ่งเป็นตัวเลาขลุ่ยจนเกินไป เพราะถ้าใส่ชิดจะทำให้เสียงทึบ ตื้อ ถ้าใส่ห่างจะทำให้เสียง โว่ง กินลมมาก นอกจากนี้การหยอดขี้ผึ้งที่ดาก ต้องทำอย่างประณีต ละลายขี้ผึ้งให้ไหลเข้าไปอุดช่องว่างที่ไม่ต้องการรอบๆดาก ให้เต็มเพื่อไม่ให้ลมรั่วออก
รูต่างๆบนเลาขลุ่ย จะต้องเจาะอย่างประณีตขนาดความกว้างของรูต้องเหมาะกับขนาดของไม้ ไม่กว้างเกินไป
ขลุ่ยในสมัยโบราณรูต่างๆที่นิ้วปิดจะต้องคว้านด้านในให้เว้า คือผิวด้านในรูจะกว้างกว่าผิวด้านนอก ซึ่งจะทำให้เสียงของขลุ่ยกังวานดียิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันไม่ได้คว้านภายในรูเหมือนแต่ก่อน อาจจะเนื่องมาจากความเอาใจใส่ของคนทำขลุ่ยน้อยลง ทำให้เห็นแค่เพียงว่าภายนอกเหมือนขลุ่ยเท่านั้น
ลักษณะประกอบอื่นๆ เช่นสีผิวของไม้สวย ไม่มีตำหนิขีดข่วน ไม่คดงอ เทลายได้สวยละเอียด
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลกระทบต่อเสียงของขลุ่ยแต่อย่างใด เพียงนำเสนอเพื่อเลือกขลุ่ยได้ถูกใจเท่านั้น