หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
จิราภรณ์ หอมกลิ่น
จากจังหวัด ยโสธร

สุนทรพจน์.....?เศรษฐกิจพอเพียง?
โพสต์เมื่อวันที่ : 3 ก.ย. 2552 IP : เปิดอ่าน : 7065 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(72.92%-325 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

.....

 เอามาให้ดูเพื่อเป็นตัวอย่างการเขียน.... อาจใช้เป็นตัวอย่างเรียงความ  หรือบทความ  ก็ได้ค่ะ

เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเพียงพออยู่                 เพียงพอรู้พออุ้มชูตัวเองไหว
ดุจดำรัสเอกบดินทร์ปิ่นชาติไทย              ตรัสไว้เป็นแนวทางสร้างสุขตน
รู้ประมาณ  รู้จักออม  รู้จักอด                                   ละลดสิ่งฟุ่มเฟือยไม่เกิดผล
กินของไทยใช้ของไทยไทยทุกคน                         ความยากจนจะห่างไกลไทยยั่งยืน

          ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงครองสิริราชสมบัติ  เป็นเวลา  60  ปีกว่ามาแล้ว  พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย  พระสติปัญญา  ปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ  และทรงริเริ่มโครงการใหม่ ๆ นับพัน ๆ โครงการ  เพื่อมุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่ราษฎรประสบอยู่  โดยให้ประชาชนมีความแข็งแรง  สามารถพึ่งตนเองได้    ซึ่งโครงการต่าง ๆ ล้วนประสบความสำเร็จอย่างงดงามเป็นรูปธรรม   และในวันนี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น
                “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง   การที่พระองค์ได้ทรงคิดและตระหนักมาช้านานว่า  หากเราไม่ไปพึ่งพา ยึดติดอยู่กับกระแสจากภายนอกมากเกินไป  จนได้ครอบงำความคิดในลักษณะดั้งเดิมแบบไทยๆไปหมด มีแต่ความทะเยอทะยานบนรากฐานที่ไม่มั่นคงเหมือนลักษณะฟองสบู่  วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้น หรือไม่หนักหนาสาหัสจนเกิดความเดือดร้อนกันถ้วนทั่วเช่นนี้   ดังนั้น "เศรษฐกิจพอเพียง"  จึงได้สื่อความหมาย ความสำคัญในฐานะเป็นหลักการสังคมที่พึงยึดถือ  โดยมีแนวคิดที่แบ่งที่ดินออกเป็นส่วน ๆ เพื่อทำกิจการต่างๆ คือ สระน้ำ 30 %   นาข้าว 30  %  พืชสวน พืชไร่ 30 %  และที่อยู่อาศัยอีก 10 %   แนวคิดนี้มุ่งหวังให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้  ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งกัน หากเราปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของพระองค์ล้วนประสบแต่ความสุข ไม่มีหนี้สิน  อีกทั้งยังมีผลผลิตมากมายหลายชนิดพอเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีความสุข   แม้จะไม่ร่ำรวยรวดเร็ว แต่ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามทุกข์ภัยก็ไม่ขาดแคลน และสามารถจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยไม่ต้องหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากเกินไป  ฉะนั้นความพอมี พอกินจะสามารถอุ้มชูตัวได้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง              และความพอเพียงนั้นไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง แต่มีการแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างหมู่บ้าน เมือง และแม้กระทั่งระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือการบริโภคนั้นจะทำให้เกิดความรู้ที่จะอยู่ร่วมกับระบบ รักธรรมชาติ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เพราะไม่ต้องทิ้งถิ่นไปหางานทำ เพื่อหารายได้มาเพื่อการบริโภคที่ไม่พอเพียง

      หลักการพิจารณาเศรษฐกิจพอเพียง  คือชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่  และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา  สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

           ส่วนคำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

                เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้  และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

1. เงื่อนไขความรู้  ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

2. เงื่อนไขคุณธรรม  ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

                เพื่อให้เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง   วันนี้ขอยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบผลสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดยโสธร  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในระดับชาติ ของเรา คือคุณแหลม  ยโสธร  อยู่เลขที่ 147 หมู่ 11 บ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม  เขามีแนวคิดว่าทุกวันนี้ชาวนาไม่ได้เป็นอาชีพในฝันของคนไทย เหตุเพราะคิดว่ามันเป็นอาชีพ ที่ไม่น่าพิสมัย แต่สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ชาวนานั้นคือชีวิตจริง และเป็นจริงมาทุกขณะชีวิต ความคิดดังกล่าวคือสิ่งเดียวกับแนวคิดในการดำรงอยู่ของกลุ่ม ที่มีชื่อเรียกว่า อรหันต์ชาวนาซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวนาแห่งบ้านโนนยาง อ.กุดชุม จ.ยโสธร ที่มีแนวคิดในการทำเกษตรแบบผสมผสานและเน้นการพึ่งตัว เองเป็นหลัก ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งผู้ที่เป็นแฟนรายการ คนค้น ฅนคงจะคุ้นกับชื่อของ แหลม อรหันต์ชาวนาในฐานะแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม เป็นอย่างดี ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ล่าสุดได้มีการจัดสร้างโรงเรียนอรหันต์ ชาวนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวคิดของแหลม ให้แพร่หลายเป็นแบบอย่างของวิถีแห่งความพอเพียง  ซึ่งหากจะอธิบายให้เข้าใจถึงความเป็นแหลมด้วยประโยคสั้นๆ คงต้องพูดถึงแนวคิดของเขาที่ ไม่ออกไปหาเงิน แต่ให้เงินเข้ามาหาเอง
            ไร่นาของเขามีทั้งการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ปลูกสมุนไพร และปลูกข้าว ซึ่งเป็นการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานสามารถเก็บดอกเก็บผลกินได้ตลอดปี เขาจะไม่เน้นปลูกผักจำพวกผัก คะน้าหรือผักกาด เพราะนอกจากอายุจะสั้น ต้องคอยปลูกใหม่ตลอดเวลาหลังจากออก ผลผลิตแล้ว เพราะพืชพวกนี้ยังไม่มีความสามารถที่จะเติบโตได้ด้วยตัวเอง ต้อง เอาปุ๋ยเอายาฆ่าแมลงไปเร่งถึงจะโตจะเห็นได้ว่าเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานที่ว่านี้ ประสบความสำเร็จเพราะตั้งอยู่บนแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง        

                อันที่จริงมีตัวอย่างอีกมากมายที่ดำเนินชีวิตบนความพอเพียงตามแนวพระราชดำริ   แล้วประสบความสำเร็จ  แต่ไม่อาจนำมากล่าว    ที่นี้ได้ในเวลาอันจำกัด    
     
           จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่พระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศให้ใช้ชีวิตอย่างพอมี พอกิน พอใช้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ เพื่อให้ชาวไทยทั้งชาติสามารถฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ ปัจจุบัน แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นบ้างตามลำดับก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะถูกมองข้าม หรือยุติลงแค่นั้น ทว่ากลับได้รับการยอมรับในการนำมาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต  เศรษฐกิจพอเพียง  จึงเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่มีความลุ่มลึก และมีความเป็นองค์รวมรอบด้านทุกมิติ ตลอดจนมีความเป็นสากลสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในสังคมทุกระดับทุกภาคส่วน และเกิดประโยชน์สุขอย่างแท้จริง

เศรษฐกิจพอเพียงเสียงจากพ่อ                  อย่ารีรอขอให้จำทำให้เห็น
กินพอดีมีพออยู่รู้ประเด็น                                      หายลำเค็ญเป็นเศรษฐีมีสุขพลัน
อยู่พอเพียงเลี้ยงตัวได้ไม่อายอด                             เพราะต้องจดจ่ายและรับดับกระสันต์
รับเท่าใดไม่จ่ายหมดทดไว้กัน                               รวยนิรันดร์มั่นสายกลางทางสมดุล

                                  **********************

                                                            โดย    จิราภรณ์    หอมกลิ่น

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง สุนทรพจน์.....?เศรษฐกิจพอเพียง?
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

จิราภรณ์ หอมกลิ่น
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
จิราภรณ์ หอมกลิ่น..