หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
นายสุรงค์ โพชนิกร
จากจังหวัด ศรีสะเกษ

สิบกลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
โพสต์เมื่อวันที่ : 15 ส.ค. 2552 IP : เปิดอ่าน : 6901 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(50.00%-4 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

.....

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  
       จากพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนที่ทรงเล่าถึงวิธีการซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้อบรมพระราชโอรส และพระราชธิดานั้น ได้สะท้อนถึงกลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันเปี่ยมไปด้วยศาสตร์และศิลป์ โดยอาจสังเคราะห์ออกเป็น 10 วิธีการ เพื่อที่พสกนิกรจักน้อมนำไปปรับใช้สร้างเสริมนิสัยรักการอ่านในครอบครัวของตนได้ ดังนี้

       “...พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร ตอนอาหารนี้ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย ประการแรก ท่านจะได้ดูว่ารับประทานที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่ ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะและประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคนรวมทั้งพี่เลี้ยงชอบที่สุด คือ ท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง หนังสือที่ท่านเอามาเล่า บางทีก็เป็นนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์,ประวัติบุคคลสำคัญและความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ตอนหลังๆ นี้ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษให้เราหัดฟังภาษาด้วย
       
       นานๆ ทีก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่า หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่า มันสนุกตื่นเต้น มีรส มีชาติขึ้นมาทันที
       
       ท่านจะเน้นระบายสี หยิบยกจับความที่น่าสนใจมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่ายไม่ต้องท่อง เรื่องนี้มีความลับอย่างหนึ่ง (ที่เปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือเพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากสมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติมแล้วใช้ตอบข้อสอบ หรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ เรื่องนิทานของสมเด็จแม่ มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นคือเรื่องผี แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มีจ้างก็ไม่เชื่อ ท่านจึงสำทับโดยการเล่าเรื่องผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด
       
       เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทยโดยการอ่านวรรณคดีเรื่องยืนโรงสามเรื่อง คือ พระอภัยมณี, อิเหนา และรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่น ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ
       
       คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอนตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง “ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ” แล้ว สมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์อังกฤษให้ท่อง ให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี๋ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้...”

       
       บางตอนจากพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

       วิธีที่ ๑. ใช้เวลาสบายๆ ของครอบครัวเพื่อส่งเสริมการอ่าน
       
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
       
       “...พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร ตอนอาหารนี้ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย ประการแรก ท่านจะได้ดูว่ารับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่ ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะและประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคนรวมทั้งพี่เลี้ยงชอบที่สุด คือ...”
       
       การน้อมนำไปปรับใช้
       การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านเริ่มต้นที่พ่อแม่ พ่อแม่อ่านลูกก็อ่าน พ่อแม่ควรจัดเวลาการอ่านหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับหนังสือที่ชัดเจน แทนที่จะดูทีวีกลับเปลี่ยนเป็นพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือในระหว่างมื้ออาหาร พาลูกไปร้านหนังสือหรือห้องสมุดทุกสัปดาห์ การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านต้องไม่เคร่งเครียด ควรเป็นเรื่องสบายๆ ที่ทุกคนในครอบครัวมีความสุขร่วมกันได้
       
       วิธีที่ ๒. เลือกหนังสือดีที่เด็กสนุก
       ข้อความในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่”
       
       “…ท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง...”
       
       การน้อมนำไปปรับใช้
       หนังสือดีมีคุณภาพที่สนุก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กผูกพันกับหนังสือและการอ่าน เมื่อใดรู้ว่าลูกชอบเรื่องแบบไหน การส่งเสริมให้เกิดการขวนขวายอ่านเองของลูก ก็จะง่ายขึ้น
       
       วิธีที่ ๓. ให้เด็กได้รู้เรื่องราวหลากหลาย จากพหุวัฒนธรรม
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
       
       “...หนังสือที่ท่านเอามาเล่าบางทีก็เป็นหนังสือนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์, ประวัติบุคคลสำคัญหรือความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ตอนหลังๆ นี้ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษให้เราหัดฟังภาษาด้วย...”
       
       การน้อมนำไปปรับใช้
       หนังสือหรือเรื่องราวบางแนวอาจไม่สนุกหรือน่าสนใจนักสำหรับเด็กๆ แต่การแนะนำที่มีเสน่ห์โดยพ่อแม่จะขยายขอบฟ้าแห่งการเรียนรู้ของลูกให้กว้างไกลและสร้างแรงบันดาลใจที่หลากหลาย ทำให้ลูกมีความรอบรู้ที่กว้างขวาง มีจิตใจที่เปิดรับความแตกต่าง รู้เหตุผลที่มาที่ไปของวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกนี้
       
       วิธีที่ ๔. มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิด
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
        
       “...นานๆ ทีก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท...”
       
       การน้อมนำไปปรับใช้
       การพัฒนาทักษะการคิดเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่ควรทำควบคู่ไปกับการสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน เพราะในท้ายที่สุด เราหวังว่าเด็กๆ จะใช้ประโยชน์จากการอ่านได้ เด็กๆ ไม่อ่านเพื่อที่จะเชื่อ แต่อ่านเพื่อที่จะคิด ทั้งทักษะการคิดระดับต้น(จำ-เข้าใจ-ประยุกต์ใช้) และทักษะการคิดระดับสูง(วิเคราะห์-สังเคราะห์-ประเมิน) ดังนั้นการจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการคิดและสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
       
       วิธีที่ ๕. ใช้ทักษะนาฏการในการเล่า
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
       
       “...เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่า หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่า มันสนุกตื่นเต้นมีรสมีชาติขึ้นมาในทันที...”
       
       การน้อมไปปรับใช้
       วิธีการแบบนาฏการที่ง่ายที่สุดในการเล่าเรื่องสำหรับเด็กๆ คือ ๑.แยกเสียงบรรยายหรือการเล่าโดยทั่วไป ออกจากเสียงบทสนทนาของตัวละคร ๒.เล่าอย่างมีชีวิตชีวาโดยเห็นภาพพจน์ของสิ่งที่เล่าและภาวะอารมณ์ของตัวละคร ๓.ออกเสียงชัดเจน ถูกอักขรวิธี แต่ในขณะเดียวกันก็มีลูกเล่นแปลกๆ บ้าง ๔.และที่สำคัญที่สุด มีความสุขในขณะเล่าไปพร้อมกับเด็กๆ
       
       วิธีที่ ๖. ใช้กิจกรรมศิลปะเชื่อมโยงกับการอ่าน
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
       
       “...ท่านจะเน้นระบายสี...”
       
       การน้อมไปปรับใช้
       กิจกรรมศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือและการอ่าน นอกจากช่วยพัฒนาสุนทรียภาพในเด็กแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในมิติอื่นๆของเรื่องราว เป็นเสมือนการวิจัยย่อมๆ ที่เด็กๆ กระทำได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย กิจกรรมศิลปะมีหลากหลาย อาทิ วาดรูประบายสี (ด้วยเทคนิคต่างๆ – สีเทียน – สีไม้ – สีน้ำ – สีน้ำมัน – สีโปสเตอร์ – สีดิน – สีดอกไม้ – สีพืชผัก) ทำประติมากรรม,ทำหุ่น,ทำละคร,ร้องเพลง
       
       วิธีที่ ๗. สอนให้รู้จักสกัดความรู้และจับใจความสำคัญ
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
       
       “...หยิบยกจับความที่น่าสนใจขึ้นมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่ายไม่ต้องท่อง เรื่องนี้มีความลับอย่างหนึ่ง (ซึ่งเปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือเพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากที่สมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติมแล้วใช้จอบข้อสอบหรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ...”
       
       การน้อมไปปรับใช้
       เมื่ออ่านแล้วต้องสามารถจับใจความสำคัญและสกัดความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ แรกเริ่มพ่อแม่อาจช่วยสรุป ช่วยสกัดอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยสร้างความคุ้นเคยในระเบียบวิธีการแก่เด็กๆ เป็นปฐม ต่อมาอาจฝึกให้เด็กใช้แผนภูมิ แผนภาพต่างๆ เช่น แผนภาพใยแมลงมุม แผนภาพก้างปลา เพื่อหัดจับใจความสำคัญและสกัดความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองได้ หลายคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่ที่จริงแล้วไม่ยากเลยหากเด็กได้มีการฝึกฝนทักษะเหล่านี้อยู่เป็นประจำ
       
       วิธีที่ ๘. ต่อยอดจากประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “
       “...เรื่องนิทานของสมเด็จแม่ มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นคือเรื่องผี แต่ก่อนหน้านี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มี จ้างก็ไม่เชื่อ ท่านจึงสำทับโดยการเล่าผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด..."
       
       การน้อบไปปรับใช้
       พ่อแม่ต้องไวในเรื่องการรับรู้และความสนใจของลูก และเป็นฝ่ายช่วงชิงใช้ประโยชน์จากความสนใจที่เกิดขึ้นแล้วนั้นๆ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้เสริมหรือนำมาใช้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง
       
       วิธีที่ ๙. นำเด็กสู่โลกแห่งวรรณคดี
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
       
       “...เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทยโดยให้อ่านวรรณคดีเรื่องยืนโรงสามเรื่อง คือพระอภัยมณี,อิเหนาและรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่น ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอน...”

       
       วิธีที่ ๑๐. พัฒนาทักษะไพรัชภาษาพาสู่โลกกว้าง
       ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
       
       “...ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง “ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ” แล้วสมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์ภาษาอังกฤษให้ท่อง ให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี๋ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้...”
       
       การน้อมนำไปปรับใช้
       การอ่านทำให้รู้จักตนเอง และรู้จักโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทักษะการอ่านไพรัชภาษาในเด็กซึ่งกำลังเติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกทุกวันนี้ ตำราไทยที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศนั้นล่าช้ากว่าเวลาจริงของเอกสารนั้นๆ อยู่หลายปี บางเล่มเป็นสิบปี การที่เด็กเข้าถึงหนังสือต่างประเทศได้ ทำให้ไทยรู้เขารู้เรา สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีสากลมาประสมกับความรู้ไทย เพื่อสร้างสรรค์ประเทศของเราให้จำเริญยิ่งๆ ขึ้นไป


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000092639

 

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง สิบกลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

นายสุรงค์ โพชนิกร
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
นายสุรงค์ โพชนิกร..