.....“เพลงกล่อมลูก” ท่วงทำนองแห่งรักจาก “แม่”
หากลองนึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณยังจำอ้อมกอดอบอุ่นบนอกในอ้อมแขนของแม่ได้ไหม? แม่โอบกอดเราอย่างเบามือ เห่กล่อม พัดวี ยุงริ้นไม่ให้ต้องผิวกาย ทะนุถนอมกล่อมเกลาด้วยความรัก น้ำเสียงของแม่ อ้อมกอดของแม่อบอุ่น ช่วยให้ลูกน้อยอุ่นใจ ผ่อนคลาย รู้สึกปลอดภัย และหลับใหลอย่างเป็นสุข
ขณะที่พ่อแม่จำนวนมากในยุคนี้ละเลย ทิ้งลูกไว้กับเสียงเพลงจากแผ่นซีดี หรือเปิดนิทานจากเทปให้ลูกฟัง บ้างให้ความสนใจกับการพัฒนาสมองของลูกน้อยด้วยดนตรีของ “โมสาร์ท” จนลืมไปแล้วว่า เรามี “เพลงกล่อมลูก” ภูมิปัญญาไทย ที่สั่งสมถ่ายทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งเป็นท่วงทำนองแห่งรักจากแม่ที่ผูกเกี่ยวสายใยความอบอุ่นด้วยสัมผัสทางตา หู กาย ใจ
รศ.โสภนา ศรีจำปา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล อธิบายที่มาของเพลงกล่อมลูกว่า เพลงกล่อมลูกถือเป็นคติชาวบ้านที่ใช้ภาษาเป็นสื่อ เป็นวรรณกรรมที่ไม่มีการเขียนหรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยการท่องจำและบอกเล่าต่อๆ กันมา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามธรรมชาติที่แม่ได้ถ่ายทอดความรัก ความอบอุ่น ห่วงใยไปตามกระแสเสียงส่งถึงลูกน้อย
บทเพลงกล่อมลูกมักมีท่วงทำนองเห่กล่อมแช่มช้า ละมุนละไมอ่อนโยนเพื่อให้เด็กหลับง่าย และหลับอย่างเป็นสุข เนื้อหาถ้อยคำมักสะท้อนความเป็นอยู่ วิถีชีวิต นิทานพื้นบ้าน ที่มีความหมายในเชิงอบรมสั่งสอน พรรณนาความรักความผูกผันและฟูมฟักให้เด็กซึมซับความเป็นเด็กดี เป็นคนดีของสังคม
นอกจากนี้ เพลงกล่อมลูกของไทยในแต่ละภาคก็มีท่วงทำนองและเนื้อร้องที่แตกต่างกันไปด้วย อย่างทางภาคเหนือก็จะเรียกว่า “เพลงอื่อลูก” ทางอีสานเรียกว่า “เพลงนอนสาหล่า” ส่วนทางใต้จะเรียกว่า “เพลงชาน้อง” หรือ “เพลงช้าน้อง” และทางภาคกลางจะเรียก “เพลงกล่อมลูก” หรือ “เพลงกล่อมเด็ก” นั่นเอง
กระนั้น แม้ว่าเพลงกล่อมลูกในแต่ละภาคของไทยเรา จะมีเนื้อหาท่วงทำนองที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสำเนียงการร้อง ที่ใช้ภาษาถิ่นของตนเอง แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ จังหวะและอารมณ์ของแม่ที่มุ่งหวังให้ลูกรู้สึกอบอุ่น และนอนหลับอย่างสบายใจ
“ทุกวันนี้เพลงกล่อมลูกค่อยๆ เลือนหายไป พ่อแม่ยุคใหม่มักเลือกเปิดเพลงให้ลูกฟัง ถึงแม้ประโยชน์ที่ได้รับจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือสัมผัสของความรักความอบอุ่น รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูเพลงกล่อมลูกซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทย”
ภาคอีสาน
นอนเสียหล่า หลับตาแม่สิกล่อม
นอนให้เย๊น ตะเวนแดงแดง
นอนเอาแฮง กินแกงบักเข่า
นอนหลับย๊าว เอาเข่าเอ๊าเคินน......
เอ่ เอะ เอ้ เอ เอ.....
ภาคกลาง
ตัวอย่าง 1
พี่ไปไหน ซื้ออะไรมาฝาก
แหวนทองปนนาค น้องไม่กล้าใส่
แหวนที่พี่ให้ น้องซ่อนไว้ใต้ชายสไบ
น้องไม่กล้าใส่ ไม่มีอะไรตอบแทนพี่....
เอ่ เอ๊...
ตัวอย่าง 2
โอละเห่เอย แม่จะเห่ให้นอนวัน
ตื่นขึ้นมาจะอาบน้ำทำขวัญ นอนวันเถิดแม่คุณ
พ่อเนื้อเย็นเอย แม่มิให้เจ้าไปเล่นที่ท่าน้ำ
จระเข้เหรามันจะคาบเจ้าเข้าถ้ำ เจ้าทองคำพ่อคุณ
(จากหนังสือ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ผศ. ประเทือง คล้ายสุบรรณ์)
เพลงกล่อมเด็กภาคใต้.. (กรุณาอ่านแบบสำเนียงใต้)
ไก่เถือนเหอ.. ขันเทือนทั้งบ้าน
ลูกสาวขี้คร้าน นอนให้แม่ปลุก
ฉวยได้ด้ามขวาน ตีบ้านดังพลุก
นอนให้แม่ปลุก ลูกสาวขี้คร้านการ.....ฯลฯ
พี่ชายเหอ.. รักนุช ชมนุชสักกี่วัน
ชมแต่ดอกบัวผุด บุศบรรณ ชมเรเร่วัน จำปาทอง
ชมแต่แก้วโมฬีสีสุกใส ยังไม่บายคลายใจ เหมือนชมน้อง
ชมนางข้างในห้อง ชมน้องข้างในใจ....
ฮาเฮ้อออ..เห้อ เอ่ เอ๊....
จะกล่าวเติง จะกล่าวเติงมอญใหม่
ตกมาอยู่เมืองไทยนานนักหนา
ตัวของมอญชื่อมะเติ่ง เมียชื่อเหมยเจิง เป็นภรรยา
พอรุ่งแจ้ง พอรุ่งแจ้งแสงทอง พระอาทิตย์สาดส่อง อยู่บนเวหา
จึงเรียกแม่เหมย ภรรยา สายแล้วหล่อนจ๋า รีบคราไคล......
เรียกน้องทำไมจ๊ะ พี่เติงจ๋า ส่วนตัวน้องยาไม่ไปไหน
จะจัดแจงแป้งน้ำมันเข้าทันใด แล้วจะได้ไปขายท้ายธานี..
เอ้อ..เออ เออ เอิงเอยยย......
ขอบคุณที่มาข้อมูลwww.arunsawat.com
Advertisement