ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่าน
และเขียนภาษาไทย สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางไอลดา เกิดนาค ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การรายงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานการพัฒนากิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (2) เพื่อพัฒนากิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 60/60 (3) เพื่อศึกษาผลของการจัดกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะแจงตามความมุ่งหมาย (Purposive Sampling) จากนักเรียนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และสมัครใจร่วมเข้ารับการทดสอบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุก จำนวน 18 แผน ชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน จำนวน 9 ชุด แบบทดสอบความสามารถด้านการอ่าน แบบทดสอบความสามารถด้านการเขียน แบบสังเกตพฤติกรรมการอ่านและการเขียน และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และโดยใช้สถิติ The Wilcoxon matched pairs signed ranks test ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1. ผลการพัฒนากิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ผลจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 คน พบว่าแผนการจัดกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.69 แสดงว่าแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการจัดกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 64.29/63.70 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
2. ผลการจัดกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปรากฏว่า นักเรียนที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย มีความสามารถด้านการอ่านและการเขียนหลังเรียนสูงก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 รวมทั้งมีพฤติกรรมการอ่านและการเขียนที่สะท้อนแนวโน้มของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้แบบเชิงรุกร่วมกับชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด