การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมาย คือ ๑) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๒) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒
๓) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ก่อนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และ ๔) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๒ โรงเรียนคลองไผ่วิทยา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๓๕ คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบบแผนการศึกษา คือ ศึกษาแบบกลุ่มเดียว วัดก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest - Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ๑) แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ จำนวน ๕ ชุด ที่ผ่านการประเมินความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๕๓ ๒) แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ จำนวน ๗ แผน (รวมแผนปฐมนิเทศและแผนปัจฉิมนิเทศ) ใช้เวลาทั้งสิ้น ๑๗ ชั่วโมง มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๗๒ ๓) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ ๔ ตัวเลือก จำนวน ๓๐ ข้อ ใช้เวลา ๔๕ นาที ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง ๐.๓๐ - ๐.๗๐ และค่าความยากง่ายรายข้อระหว่าง ๐.๓๒ ถึง ๐.๗๓ โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๗๙ และ ๔) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ จำนวน ๑๕ ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ ๐.๔๔ - ๐.๗๗ มีค่าความเชื่อมั่นด้วยสัมประสิทธิ์แอลฟา (Coefficient Alpha) เท่ากับ ๐.๙๒ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ การทดสอบที (dependent t-test) โดยได้ดำเนินการศึกษาในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ระหว่างวันที่ ๓๑ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๑๑ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
ผลการศึกษาพบว่า
๑. แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มีประสิทธิภาพด้านกระบวนการ (E๑) และประสิทธิภาพด้านผลลัพธ์ (E๒) เท่ากับ ๘๘.๙๕/๙๓.๒๕ สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ๘๐/๘๐
๒. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มีค่าเท่ากับ ๐.๘๖๕๙ หรือคิดเป็นร้อยละ ๘๖.๕๙
๓. นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .๐๑
๔. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = ๔.๕๑, S.D. = ๐.๖๔)