บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย
ชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยบูรณาการแนวคิดสะเต็มศึกษา
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชาย หญิงที่มีอายุระหว่าง 5 - 6 ปี ชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเด่นชัย สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ จำนวน 20 คน ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ซึ่งเป็นห้องเรียนที่ผู้รายงานเป็นครูประจำชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยบูรณาการแนวคิดสะเต็มศึกษา จำนวน 7 หน่วยการเรียนรู้ 35 แผน คู่มือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยบูรณาการแนวคิดสะเต็มศึกษา เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย และแบบทดสอบการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย จำนวน 20 ข้อ จำแนกออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเปรียบเทียบ ด้านการจำแนกประเภท ด้านการเชื่อมโยง ด้านการสรุปความ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที
(t-test Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการแนวคิดสะเต็มศึกษา
เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย หลังการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการแนวคิด
สะเต็มศึกษา เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย มีคะแนนความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลโดยภาพรวมสูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อยู่ในระดับดี และมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05