บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70 2)เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD 3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้อง 2 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 25 คน โดยได้มาจากการการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) รูปแบบการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบ The One - Group Pretest - Posttest Design เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค STAD จำนวน 12 แผน จำนวน 15 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ ที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.79 ค่าความยากง่าย (P) เท่ากับ 0.45-0.58 ค่าอำนาจจำแนก (r) เท่ากับ 0.23-0.62 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.82 ผลการวิจัยพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ที่พัฒนาขึ้นมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ
72.87/71.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 70/70 ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนมีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ เรื่อง All around us หลังจากการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD อยู่ในระดับมากที่สุด