บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการสังเกต ทักษะด้านการจำแนกประเภท และทักษะด้านการสื่อความหมาย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ ก่อนและหลังทำกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ ในแต่ละช่วงสัปดาห์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นเด็กปฐมวัยที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3 อายุระหว่าง 5-6 ปี โรงเรียนวังโป่งดำรงวิทย์ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวนทั้งสิ้น 22 คน เป็นเพศชาย 15 คน และเพศหญิง 7 คน ในการศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มเป้าหมายทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่าง เพื่อจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที รวมทั้งสิ้น 50 ครั้ง นำกิจกรรมทั้ง 25 กิจกรรมมาจัดในสัปดาห์ที่ 1-5 เมื่อจัดกิจกรรมครบแล้ว นำกิจกรรมทั้ง 25 กิจกรรมมาจัดกิจกรรมซ้ำอีกในสัปดาห์ที่ 6-10 รวมจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 50 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า คือ แผนการจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ และแบบทดสอบวัดทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์แบบ One Group Pretest - Posttest Design
ผลการศึกษาพบว่า
1.เด็กปฐมวัยมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก่อนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ ในภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้ เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับพอใช้ทุกด้าน ส่วนทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หลังที่ได้รับการจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ ในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับดีมากทุกด้าน ดังนั้น การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ หลังทำการทดลองสูงกว่าก่อนทำการทดลอง
2. ผลการเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ ในภาพรวม พบว่า หลังทำการทดลองสูงกว่าก่อนทำการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า หลังทำการทดลองสูงกว่าก่อนทำการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทุกด้าน ดังนั้นเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการปั้นประกอบอุปกรณ์ หลังทำการทดลองมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น ทั้งรายด้านและในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาก่อนและหลังทำการทดลองแล้ว พบว่า หลังทำการทดลองเด็กปฐมวัยมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สูงกว่าก่อนทำการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งรายด้านและในภาพรวม