การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกัลยาณวัตร 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 70 และจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกัลยาณวัตร
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกัลยาณวัตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 53 คน รูปแบบการศึกษาใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรการปฏิบัติ 3 วงจร เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง จำนวน 12 แผน แต่ละแผนใช้เวลา 55 นาที
2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบบันทึกผลหลังการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์นักเรียน ใบกิจกรรม แบบฝึกทักษะ แบบทดสอบท้ายวงจร และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความคิดเห็น ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ศึกษาได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกแผนการจัดการเรียนรู้ ด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ เมื่อสิ้นสุดแต่ละวงจรให้นักเรียนทำแบบทดสอบท้ายวงจร และทำการสะท้อนผลการปฏิบัติแล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ อภิปรายเพื่อปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละวงจรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและปรับปรุงใช้ในวงจรต่อไป การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และสรุปเป็นความเรียง
ผลการศึกษา พบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียน มีการแบ่งหน้าที่ในกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มมีความสำคัญและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในการเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจและกระตือรือร้นในการทำงาน นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและชื่นชมผลงานของตนเองและกลุ่ม ทำให้นักเรียนเกิดความรักและมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนมีการนำเสนอผลงานหรือแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจที่มีกับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการช่วยให้นักเรียนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) ขั้นการทบทวนความรู้เดิม เป็นขั้นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนโดยครูผู้สอนแจ้งเรื่องที่จะเรียน แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ และทบทวนความรู้เดิมในเรื่องที่เคยเรียนมาแล้วในคาบที่แล้ว เป็นการดึงความรู้ของนักเรียนในเรื่องที่เรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน 2) ขั้นการแสวงหาความรู้ใหม่ ทำความเข้าใจข้อมูลและเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เป็นขั้นที่ให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองในการเรียนแต่ละครั้ง โดยให้นักเรียนศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เช่น แผนภาพ ตารางฯลฯ ขั้นนี้เป็นการแสวงหาข้อมูล ความรู้ใหม่ที่นักเรียนยังไม่มีจากแหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งครูอาจเตรียมมาให้นักเรียน หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้นักเรียนไปแสวงหาก็ได้ พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนได้คิด ช่วยกันสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม 3) ขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม เป็นขั้นที่นักเรียนจะเข้าสู่กลุ่มย่อยเพื่อทำงานกลุ่มร่วมกัน การเรียนกิจกรรมกลุ่มการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในกลุ่ม จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย การมีส่วนร่วมในกลุ่ม สมาชิกจะต้องร่วมกันทำงานในใบกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมในขั้นนี้ทำให้นักเรียนเกิดทักษะในการทำงานร่วมกัน นักเรียนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทุกคนถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การทำงานนักเรียนได้คิด โดยมีคู่คิด คิดเป็นทีม และการระดมสมองกิจกรรมในขั้นนี้นักเรียนจะต้องเตรียมนำเสนอความรู้ของกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนและสมาชิกทราบและเกิดความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทุกคนช่วยกันและเตรียมผลงานเพื่อนำเสนอต่อเพื่อนทั้งชั้น 4) ขั้นการสรุปและจัดระเบียบความรู้ เป็นขั้นที่ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือมโนมติของเนื้อหาในบทเรียนที่นักเรียนได้เรียนรู้ในแต่ละครั้ง จากการตอบคำถาม การอภิปราย 5) ขั้นการแสดงผลงาน เป็นขั้นที่นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานของกลุ่มตนเอง ส่งตัวแทนในแต่ละกลุ่มมาเสนอผลงานการแก้ปัญหาของกลุ่มหรือเสนอแนววิธีคิดหาคำตอบต่อกลุ่มอื่น โดยนักเรียนทั้งชั้นร่วมกันอภิปรายเพื่อตรวจสอบวิธีคิด แนวทางการแก้ปัญหา ขั้นตอนการทำงาน ข้อสรุปความรู้ที่ได้จากการทำงาน นักเรียนนำผลงานของกลุ่มตนเองติดไว้ที่ป้ายนิเทศในห้องเรียนเพื่อให้นักเรียนกลุ่มอื่นชื่นชมผลงาน 6) ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นขั้นที่นักเรียนทำแบบฝึกทักษะ ซึ่งขั้นนี้เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความความชำนาญ ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำในเรื่องนั้น ๆ
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 81.26 และนักเรียนจำนวนร้อยละ 86.79 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
3. นักเรียนมีความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา ด้านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ด้านความรู้ที่ได้รับ และด้านบรรยากาศในการเรียน ทุกด้านอยู่ในระดับมาก