การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) สร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีพยัญชนะควบกล้ำประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศปริยัติราษฎร์รังสรรค์) 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การอ่านและการเขียนคำที่มีพยัญชนะควบกล้ำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศปริยัติราษฎร์รังสรรค์) ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกเสริมทักษะประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD 3) ศึกษาพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศปริยัติราษฎร์รังสรรค์) 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศปริยัติราษฎร์รังสรรค์) ที่มีต่อ การจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศปริยัติราษฎร์รังสรรค์) จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีพยัญชนะควบกล้ำประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD จำนวน 6 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD จำนวน 20 แผน 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การอ่านและการเขียนคำที่มีพยัญชนะควบกล้ำ จำนวน 30 ข้อ 4) แบบประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม 5) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t test for dependent samples)
ผลการศึกษา พบว่า
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีพยัญชนะควบกล้ำประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD เมื่อทดลองใช้กับนักเรียนจำนวน 30 คน ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เท่ากับ 82.37/82.67 และเมื่อทดลองกับนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 20 คน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.79/83.17 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การอ่านและการเขียนคำที่มีพยัญชนะควบกล้ำ ก่อนและหลังการทดลองใช้แบบฝึกเสริมทักษะประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศปริยัติราษฎร์รังสรรค์) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยคะแนนหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง
3. พฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศปริยัติราษฎร์รังสรรค์) โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายพฤติกรรมพบว่า ทุกรายพฤติกรรมอยู่ในระดับปานกลาง เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ การมีส่วนร่วมในการทำงาน การแสดงความคิดเห็นและรับฟังผู้อื่น การทำงานเสร็จทันเวลา การรับ- ผิดชอบงาน และการมีขั้นตอนในการทำงาน
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนายาง (วิเทศ-ปริยัติราษฎร์รังสรรค์) ต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะประกอบการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า มีข้อที่มีคะแนนเฉลี่ย อยู่ในระดับมากทุกข้อ ยกเว้นข้อที่ 8 นักเรียนยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนมากขึ้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ แบบฝึกช่วยให้การอ่านและการเขียนคำที่มีพยัญชนะควบกล้ำถูกต้องมากขึ้น รองลงมา ได้แก่ นักเรียนชอบการเรียนเป็นกลุ่ม และแบบฝึกช่วยให้การเรียนสนุกไม่น่าเบื่อ