ชื่อเรื่อง การพัฒนาความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์เรื่อง การนับ การจับคู่
การจัดลำดับ การจัดประเภทและการเปรียบเทียบ โดยใช้แบบฝึก
ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านใจดี
จังหวัดศรีสะเกษ
ชื่อผู้วิจัย นายศักดิ์ศิลป์ กลางมณี
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เรื่องการนับ การจับคู่ การจัดลำดับ การจัดประเภทและการเปรียบเทียบ โดยใช้แบบฝึกในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านใจดี จังหวัดศรีสะเกษ และ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินพัฒนาการทางการเรียนก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ โดยใช้แบบฝึกในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านใจดี จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มเป้าหมายของการวิจัย คือ เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัด ศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 จำนวน 15 คน ได้มาโดย การเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) การออกแบบวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการใช้กับนักเรียนกลุ่มเดียว ดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1) วางแผน (Planning) 2) ขั้นปฏิบัติตามแผน (Acting) 3) ขั้นสังเกตการณ์ (Observing) และ 4) ขั้นการสะท้อนการปฏิบัติ (Reflecting ) โดยใช้เครื่องมือการวิจัย 3 ประเภท ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์ 12 หน่วย หน่วยละ 5 แผน การจัดประสบการณ์ ชุดแบบฝึก จำนวน 60 ชุด และแบบวัดและประเมินผลผู้เรียน เป็นแบบกิจกรรมประเมินก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน มีค่าความสอดคล้อง (IOC) มีค่าตั้งแต่ 0.5 ขึ้นไปทุกรายการ ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลตามแผนการวิจัยด้วยตนเอง ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ถ้าเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์แบบเนื้อความส่วนข้อมูลเชิงปริมาณใช้วิธีวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การคำนวณผู้วิจัยได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. การพัฒนาความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เรื่องการนับ การจับคู่ การจัดลำดับ การจัดประเภทและการเปรียบเทียบ โดยใช้แบบฝึกในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านใจดี จังหวัดศรีสะเกษ มีค่าประสิทธิภาพ 87.07/87.67 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ประสิทธิภาพที่ตั้งไว้ 80/80
2. การเปรียบเทียบผลการประเมินพัฒนาการความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลัง การจัดประสบการณ์ โดยใช้แบบฝึกในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านใจดี จังหวัดศรีสะเกษ พบว่า ผลการประเมินพัฒนาการความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์หลังจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนจัดประสบการณ์ ในภาพรวมเท่ากับร้อยละ 49.67 โดยที่ร้อยละของการประเมินพัฒนาการความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังจัดประสบการณ์ มีค่าเท่ากับ 38.00 และ 87.67 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบผลต่างของการประเมินพัฒนาการความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังจัดประสบการณ์ โดยใช้ t-test นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีพัฒนาการหลังจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01