บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง ไฟฟ้าสถิต รายวิชา ว33204 ฟิสิกส์ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง ไฟฟ้าสถิต จากการเรียนโดยใช้ชุดการเรียนรู้ร่วมกับการสอนแบบสืบเสาะ หาความรู้ (3) ศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ไฟฟ้าสถิต โดยใช้ชุดการเรียนรู้ร่วมกับการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้
รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนรามวิทยา รัชมังคลาภิเษก สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ไฟฟ้าสถิต รายวิชา ว33204 ฟิสิกส์ 4 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 10 ชุด และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน (2) เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่า 0.90 และแบบวัดเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า (1) ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ไฟฟ้าสถิต รายวิชา ว33204 ฟิสิกส์ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.45/81.75 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 (2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้ร่วมกับการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง ไฟฟ้าสถิต มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย และ (3) นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้ร่วมกับการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง ไฟฟ้าสถิต มีเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.17 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.70