การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมสื่อสารที่เน้นภาระงานและกิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงานขั้นตอนการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน ระยะที่ 2 ศึกษาการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมสื่อสารที่เน้นภาระงาน และวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (PDCA) และจัดกิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงาน ระยะที่ 3 ศึกษาผลการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน ก่อนและหลังการพัฒนา กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษในช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-6) จำนวน 5 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 จำนวน 25 คน ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้กิจกรรมสื่อสารที่เน้นภาระงาน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษเพี่อการสื่อสาร แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน กิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงาน แบบสังเกตการทำกิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงานและแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงาน
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าที (t-test Dependent) ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x̄)และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) นำเสนอผลการวิจัยแบบตารางและความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
ระยะที่ 1 ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน โดยภาพรวมจากการประเมินของครูและนักเรียนอยู่ในระดับปฏิบัติปานกลาง
ระยะที่ 2 ผลการศึกษาการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ในวงรอบที่ 1 จัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้กิจกรรมสื่อสารที่เน้นภาระงาน พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และในวงรอบที่ 2 จัดกิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงาน จำนวน 5 โครงงานได้แก่โครงงานเรื่อง Welcome To Udonthani, Global Warming, We Love Fruits, Amazing Thai Herb และ Garbage Flowers ซึ่งพบว่ากิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงานนี้ทำให้นักเรียนมีการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารไปในทางที่ดีขึ้น ร่วมมือกันในการทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ ตั้งใจฟังคำสั่งและปฏิบัติตามอย่างสนุกสนานโดยไม่กลัวว่าจะพูดผิดไวยากรณ์หรือถูกตำหนิ เป็นการแสดงออกอย่างธรรมชาติ มีความเชื่อมั่นในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อความหมายกับคนอื่นได้อย่างมั่นใจ แม้บางครั้งมีถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมเสริมทักษะจากโครงงาน โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.52 อยู่ในระดับมาก
ระยะที่ 3 ผลการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน ก่อนและหลังการพัฒนา ค่าเฉลี่ยความสามารถด้านทักษะทางภาษาทุกด้านโดยรวม ก่อนการพัฒนามีค่าเฉลี่ยจากครู 2.62 และจากนักเรียน 3.11 อยู่ในระดับปานกลาง หลังการพัฒนาพบว่าความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ของนักเรียนมีการพัฒนาขึ้น ค่าเฉลี่ยความสามารถด้านทักษะทางภาษาทุกด้านโดยรวม มีค่าเฉลี่ยจากครูและจากนักเรียนเท่ากับ 4.22 อยู่ในระดับปฏิบัติมาก