การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการสร้างองค์ความรู้ผ่าน Meme Face วิชาดนตรีพื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาดนตรีพื้นฐาน ก่อนและหลังการเรียนด้วยรูปแบบการสร้างองค์ความรู้ ผ่าน Meme Face
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนคลองท่อมราษฎร์รังสรรค์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 235 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้มาจากการสุ่มอย่างง่ายแบบจับฉลาก ตามขั้นตอน ดังนี้ 1) จัดลำดับคะแนนความรู้พื้นฐานทางดนตรีของนักเรียน จำนวน 235 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีคะแนนระดับสูง กลุ่มที่มีคะแนนระดับปานกลาง และกลุ่มที่มีคะแนนระดับต่ำ 2) ทำการสุ่มอย่างง่ายโดยวิธีการจับฉลากนักเรียนทั้ง 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 รวม 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) รูปแบบการสร้างองค์ความรู้ผ่าน Meme Face 2) แบบตรวจสอบความสอดคล้องขององค์ประกอบของการออกแบบการจัดการเรียนรู้ 3) แบบตรวจสอบความถูกต้องขององค์ประกอบของการออกแบบการจัดการเรียนรู้ 4) แผนการจัดการเรียนรู้ 5) แบบตรวจสอบความสอดคล้องขององค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ 6) แบบตรวจสอบความถูกต้องขององค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ 7) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x̄) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าที (t-test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการสร้างองค์ความรู้ผ่าน Meme Face วิชาดนตรีพื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยผลการตรวจสอบความสอดคล้องขององค์ประกอบของการออกแบบการจัดการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ พบว่า ทุกข้อมีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 1.00 และผลการตรวจสอบความถูกต้องขององค์ประกอบของการออกแบบการจัดการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ พบว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมทั้งฉบับอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.65) และ (x̄ = 4.69) ตามลำดับ
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนโดยใช้รูปแบบการสร้างองค์ความรู้ผ่าน Meme Face มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05