ชื่องานวิจัย: การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์ สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนสมคิดวิทยา
ผู้วิจัย: ศศิธร สุขศิริ
ปีที่พิมพ์: พ.ศ.๒๕๕๘
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อศึกษาระดับการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานโรงเรียนสมคิดวิทยา ๒. เพื่อศึกษาระดับประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโรงเรียนสมคิดวิทยา ๓. เพื่อศึกษาการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโรงเรียนสมคิดวิทยา ประชากร คือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูผู้สอนระดับปฐมวัยโรงเรียนสมคิดวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รวมทั้งสิ้น 1๔ คน ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๖ คน
ครูผู้สอนระดับปฐมวัย จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 สถานภาพผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นคำถามชนิดจัดอันดับคุณภาพ 5 ระดับตามแนวคิดของลิเคิร์ท (Likerts five rating scale) รวม 80 ข้อ ระเบียบวิธีวิจัย ดำเนินตามระเบียบวิธีวิจัย โดยใช้แบบแผนการวิจัยเชิงพรรณนา(descriptive research) ที่มีแบบแผนการวิจัยในลักษณะของตัวอย่างกลุ่มเดียว ศึกษาสภาวการณ์ไม่มีการทดลอง (the one shot non experimental case study) สถิติที่ใช้ คือ ความถี่ (f) และร้อยละ(%) วิเคราะห์ระดับการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานและระดับประสิทธิภาพการจัด ประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโรงเรียนสมคิดวิทยา ใช้มัชฌิมเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าสหสัมพันธ์
ผลการวิจัยพบว่า
๑.การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานโรงเรียนสมคิดวิทยา อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ หลักการพัฒนาทั้งระบบ หลักการมีภาวะผู้นำแบบเกื้อหนุน หลักการความรับผิดชอบและตรวจสอบ หลักการบริหารตนเอง หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม และหลักการกระจายอำนาจ
๒. ประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโรงเรียนสมคิดวิทยา อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้านเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ มีการจัดกิจกรรมพัฒนาสติปัญญา มีการจัดกิจกรรมพัฒนาด้านสังคม มีการจัดกิจกรรมด้านร่างกาย และมีการจัดกิจกรรมด้านอารมณ์และจิตใจ
๓. การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโรงเรียนสมคิดวิทยา มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีความสัมพันธ์เชิงบวก พิจารณารายด้านเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านหลักบริหารแบบมีส่วนร่วม ด้านหลักความรับผิดชอบและการตรวจสอบ ด้านหลักการพัฒนาทั้งระบบ ด้านหลักการบริหารตนเอง ด้านหลักการมีภาวะผู้นำแบบเกื้อหนุน และหลักการกระจายอำนาจ.