ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ค้นหากระทู้
ตั้งกระทู้คำถามใหม่ กลับหน้าที่แล้ว
 
รายงานการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล

รายงานการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถ

ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1

ผู้วิจัย นางนรารัตน์ พจนวิชัย

ตำแหน่ง ครู โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม

สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

บทนำ

การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546 : 5) นักการศึกษาทุกสาขาทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญและให้ความสนใจด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยความเชื่อว่า การเรียนรู้ในช่วงวัยนี้มีผลกระทบในระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของคน เพราะเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตในอัตราสูงสุด ดังนั้นสิ่งแวดล้อมที่ดีรอบตัวเด็ก การเลี้ยงดู การดูแลอย่างอบอุ่น ใกล้ชิด การช่วยเหลือและปกป้องจากอันตราย รวมถึงความพร้อมในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานตามวัยได้อย่างเหมาะสมทุกด้าน เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งผลต่อสติปัญญา สมรรถนะ และความสามารถของเด็กอย่างถาวร เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตสมวัยและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2552 : บทนำ)

ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ของเด็กปฐมวัย เพราะกล้ามเนื้อเล็กเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า เทน้ำใส่แก้ว ดื่มนม รับประทานอาหาร การทำงานศิลปะ รวมทั้งการขีดเขียน ถ้าเด็กสามารถใช้กล้ามเนื้อเล็กได้อย่างคล่องแคล่ว มือและสายตาทำงานได้อย่างประสานสัมพันธ์กันดี เด็กก็จะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ได้อย่างสนุกสนานและประสบความสำเร็จ อีกทั้งเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อแขน มือ และนิ้วมือสำหรับการเขียนหนังสือในระยะต่อไป เพราะหากเด็กไม่พร้อม และทำไม่ได้อย่างที่เพื่อน ๆ ทำ อาจเกิดความคับข้องใจหรือเกิดความรู้สึกล้มเหลว ทำให้ขาด ความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความมั่นใจในตัวเอง ในอนาคตของเด็ก (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2552 : 10) ดังนั้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ให้สามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ทำงานอย่างประสานสัมพันธ์กัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การที่จะให้เด็กใช้กล้ามเนื้อเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับ การฝึกฝนให้เพียงพอและต่อเนื่อง ซึ่งเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโต อย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้สามารถเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้สำรวจ ได้เล่น ทดลอง ค้นพบด้วยตนเอง สอดคล้องกับแนวคิดของ กุลยา ตันติผลาชีวะ (2551 : 44) ที่กล่าวว่าการจัด การเรียนการสอนในระดับปฐมวัยเป็นแบบ “พหุจุดประสงค์” ซึ่งหมายถึงว่า การสอนปฐมวัยศึกษาไม่ได้มุ่งที่การพัฒนาสติปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการดูแล การส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีฐานความสามารถพร้อมที่จะเรียนในระบบโรงเรียน จึงเป็นการพัฒนาและสร้างเสริมการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ตามวัย ผ่านการลงมือปฏิบัติ และการสัมผัสวัตถุสิ่งของ

ปัจจุบันเป็นที่น่าวิตกและถือเป็นวิกฤติของเด็กปฐมวัย เนื่องจากข้อเท็จจริงจากการประเมินสถานการณ์และทดสอบพัฒนาการอย่างคัดกรองในเด็กปฐมวัย (อายุ 0 - 5 ปี) พบว่า โดยภาพรวม เด็กปฐมวัยมีแนวโน้มพัฒนาการล่าช้าในด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญาและจริยธรรม ซึ่งประเด็นปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดจากเด็กปฐมวัยที่มีอายุ 3 - 5 ปี ที่รับบริการจากสถานพัฒนา เด็กปฐมวัยในรูปแบบโรงเรียนอนุบาล ยังด้อยคุณภาพในเรื่องการจัดการเรียนรู้ เพราะมีการเร่งสอน อ่านเขียน คิดเลข เพื่อให้สามารถสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไม่ให้อิสระแก่เด็กในการแสดงออก ห้ามเด็กพูด การบังคับให้นั่งเงียบ ๆ ให้การบ้านทุกวัน ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2555 : 6 - 7) สอดคล้องกับอรุณวันท์ ทะพิงค์แก (2545 : 1) ที่กล่าวว่า การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในปัจจุบัน ยังมีโรงเรียนอนุบาลและสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่ยังมุ่งเน้นการเรียนการสอน โดยเร่งให้เด็กอ่านเขียนได้ ก่อนวัยอันสมควร ครูไม่ได้จัดกิจกรรมให้เด็กอย่างเหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะกิจกรรมที่จะพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก อันได้แก่ การฝึกประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนิ้วมือ การประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตา ซึ่งความพร้อมของทักษะ และพัฒนาการทั้งหลายนี้เองจะเป็นตัวพัฒนาทักษะการเขียน การเรียนหนังสือของเด็ก รวมทั้งฝึกให้เด็กรู้จักการช่วยเหลือตนเอง การปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และทำงานหรือกิจกรรมในพัฒนาการขั้นต่อ ๆ ไปได้ อย่างสมบูรณ์

จากการศึกษาพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล ปีที่ 1 ของโรงเรียน

วัดปิยะวัฒนาราม จากเอกสารรายงานประจำปีของสถานศึกษาระดับปฐมวัย ประจำปีการศึกษา 2556 (2556 : 51) พิจารณาจากร้อยละของจำนวนเด็กปฐมวัยตามระดับพัฒนาการ พบว่าเด็กที่มีระดับพัฒนาการดี ร้อยละ 56.00 พัฒนาการปานกลาง ร้อยละ 28.00 และพัฒนาการต่ำควรปรับปรุง ร้อยละ 16.00 ซึ่งนักเรียนกลุ่มที่มีพัฒนาการความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กต่ำ ส่งผลให้ การใช้ชีวิตประจำวันของเด็กปฐมวัยกลุ่มนี้มีปัญหา เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น สวมรองเท้าหรือถอดรองเท้าไม่ได้ รับประทานอาหารหกเลอะเทอะ เพราะไม่สามารถควบคุมมือ ให้จับช้อนตักอาหารเข้าปากได้ดี ปลดกระดุมกางเกงเวลาจะถ่ายอุจจาระไม่ได้ ทำให้ถ่ายอุจจาระ รดกางเกง พับเก็บที่นอนไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจ ขาดความเชื่อมั่น ในตนเอง เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นในการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านี้อยู่เสมอ มีผลต่อการปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ในห้องเรียน ซึ่งสาเหตุมาจากเด็กไม่ได้รับการฝึกฝนหรือส่งเสริมให้ใช้มือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้ที่ทำให้เด็กทุกอย่าง เด็กจึงขาดการทักษะ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กในการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านั้น กล้ามเนื้อเล็กจึงอ่อนแอ ขาดความแข็งแรง ทำให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กถดถอยลงไป และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้ของเด็กในเรื่องต่าง ๆ

ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการจะศึกษาวิจัยเรื่อง ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหารให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และเปรียบเทียบความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม และพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80

2. เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

ความสำคัญของการวิจัย

1. เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กเพิ่มขึ้น

2. ครูสามารถนำชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ไปใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กเพิ่มขึ้นได้

3. เป็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยในพื้นที่หรือผู้เรียนในระดับอื่น ๆ

ขอบเขตของการวิจัย

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากร คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม จำนวน 75 คน

กลุ่มตัวอย่าง คือ การศึกษาจากประชากร เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม จำนวน 25 คน ซึ่งเป็นห้อง ที่ผู้วิจัยสอนประจำชั้น ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง

ตัวแปร

ตัวแปรต้น คือ ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

ตัวแปรตาม คือ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1/1

กรอบแนวคิดในการวิจัย

จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุดกิจกรรม พบว่าชุดกิจกรรมสามารถส่งเสริมพัฒนาการและเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ผู้วิจัยจึงนำมากำหนดเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยครั้งนี้ ดังภาพที่ 1.1

ภาพที่ 1.1 กรอบแนวคิดการวิจัย

สมมติฐานการวิจัย

1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการประกอบอาหารเท่ากับ 80/80

2. เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

นิยามศัพท์เฉพาะ

1. ชุดกิจกรรม หมายถึง ชุดกิจกรรมที่ประกอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนในการ ประกอบอาหาร ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาและพัฒนาขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชุดกิจกรรมประกอบอาหารมีทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 เรื่อง นวด คลึง ปั้น หรรษาพาอร่อย ชุดที่ 2 เรื่อง ตอก ๆ ตี ๆ ไข่นี้แสนอร่อย ชุดที่ 3 เรื่อง ฉีก แกะ ตัด ทอด ๆ ผัด ๆ สุดแสนอร่อย และชุดที่ 4 เรื่อง ตัก ปาด พับ ม้วน ชวนอร่อย ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

แต่ละชุดประกอบด้วย

1.1 ชื่อชุดกิจกรรม

1.2 คำชี้แจง ประกอบด้วย

1.2.1 ความเป็นมาของการพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

1.2.2 แนวทางการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1

(1) สถานที่ในการจัดกิจกรรมประกอบอาหารของเด็กปฐมวัย

(2) เวลาในการจัดกิจกรรมประกอบอาหาร

(3) การเตรียมตัวของครูผู้สอนก่อนจัดกิจกรรม

(4) การปฏิบัติของครูผู้สอนขณะจัดกิจกรรม

(5) การปฏิบัติของครูผู้สอนหลังจัดกิจกรรม

1.3 จุดประสงค์การเรียนรู้

1.4 เนื้อหาสาระที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ ประกอบด้วย

1.4.1 ประสบการณ์สำคัญ

1.4.2 สาระที่ควรเรียนรู้

1.5 แบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน

1.6 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย

1.6.1 กิจกรรมประกอบอาหาร

1.6.2 สื่อการเรียนการสอน

1.6.3 การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของครูและเด็กในกิจกรรมประกอบอาหารแต่ละชนิด

1.6.4 การวัดผลประเมินผล

1.7 แบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียน

1.8 คู่มือการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร คือคู่มือที่จัดขึ้นเพื่อให้ครูผู้สอนสามารถ นำชุดกิจกรรมไปใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วยความเป็นมาของการพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร วัตถุประสงค์ของการพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร แนวทางการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 แบบประเมินย่อยก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร และแผนการจัดประสบการณ์

2. ประสิทธิภาพ หมายถึง

2.1 80 ตัวแรก หมายถึง ประสิทธิภาพของกระบวนการในชุดกิจกรรมประกอบอาหาร คิดเป็นร้อยละจากคะแนนการประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารรายชุด ทั้ง 4 ชุดรวมกัน

2.2 80 ตัวหลัง หมายถึง ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ จากการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร คิดเป็นร้อยละจากคะแนนการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารในภาพรวม

3. ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก หมายถึง ความสามารถในการบังคับ การเคลื่อนไหวของมือ นิ้วมือ ข้อต่อ รวมทั้งการทำงานประสานสัมพันธ์กันระหว่างมือกับสายตา อย่างมีประสิทธิภาพ ในการหยิบ จับ สัมผัส หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ตกหล่น ประเมินได้จากแบบประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 3 ระดับ จำนวน 10 ข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1 การประกอบภาพตัดต่อลงในกรอบ

ข้อที่ 2 การร้อยลูกปัด

ข้อที่ 3 การใช้กรรไกรตัดกระดาษ

ข้อที่ 4 การวาดรูปสี่เหลี่ยม

ข้อที่ 5 การวาดภาพบ้าน

ข้อที่ 6 การเขียนเส้นตามรอยประ

ข้อที่ 7 การวาดรูปคน

ข้อที่ 8 การฉีก ปะ กระดาษ

ข้อที่ 9 การระบายสีในกรอบ

ข้อที่ 10 การพับกระดาษ

วิธีดำเนินการวิจัย

แบบแผนการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) ใช้แบบแผนการทดลองแบบ One Group Pretest – Posttest Design

ความหมายของสัญลักษณ์

T1 แทน การประเมินก่อนการทดลอง (Pre-test)

X แทน การจัดประสบการณ์ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร)

T2 แทน การประเมินหลังการทดลอง (Post-test)

ระยะเวลาในการวิจัย

การวิจัยใช้เวลาครั้งละ 50 นาที สัปดาห์ละ 4 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 8 สัปดาห์ รวม 32 ครั้ง ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557

วิธีดำเนินการการวิจัย

1. ก่อนทำการทดลอง ผู้วิจัยทำการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของเด็กปฐมวัยกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้แบบประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 10 ข้อ ตรวจพิจารณาผลงานของเด็ก แล้วพิจารณาให้คะแนนตามเกณฑ์การให้คะแนน จดบันทึกไว้เป็นคะแนนการประเมินก่อนเรียน

2. ดำเนินการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ด้วยแบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเล็ก ของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 2 ข้อ ตรวจผลงานของเด็กแล้วพิจารณาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด จดบันทึกคะแนนไว้เปรียบเทียบกับคะแนน การประเมินย่อยหลังเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1

3. ดำเนินการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ให้กับเด็กปฐมวัย โดยใช้เวลาในการจัด จำนวน 2 สัปดาห์

4. ดำเนินการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ด้วยแบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเล็ก ของเด็กปฐมวัยหลังเรียน ซึ่งเป็นแบบประเมินย่อยชุดเดียวกับก่อนเรียน จำนวน 2 ข้อ ตรวจผลงานแล้วพิจารณาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด นำคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกับคะแนนก่อนเรียน เพื่อดูผลการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย จากการเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1

5. ดำเนินการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 2 - 4 เช่นเดียวกับการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ตามข้อที่ 2 - 4

6. จดบันทึกคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารรายชุด ทั้ง 4 ชุด ไว้หาประสิทธิภาพของกระบวนการ ( ) ของชุดกิจกรรมประกอบอาหารต่อไป

7. เมื่อสิ้นสุดการทดลองใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ทั้ง 4 ชุดแล้ว ผู้วิจัยดำเนินการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียนในภาพรวม โดยใช้แบบประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ฉบับเดียวกับการประเมินก่อนเรียน จำนวน 10 ข้อ ใช้เกณฑ์การให้คะแนนและการแปลความหมายเช่นเดียวกัน จดบันทึกคะแนน ไว้หาประสิทธิภาพของกระบวนการ ( ) ของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

8. หาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร โดยนำคะแนนจากการประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารรายชุด ทั้ง 4 ชุด จากข้อ 6. และคะแนนจากการการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของเด็กปฐมวัยหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารในภาพรวม จากข้อ 7 มาคำนวณหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร / เพื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้

9. นำคะแนนที่ได้จากการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ตามข้อ 1. ข้อ 6. และข้อ 7. มาวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าทางสถิติ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าร้อยละ (%) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนเรียน และคะแนนหลังเรียนของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สถิติทีแบบไม่อิสระ (t-Test Dependent)

การวิเคราะห์ข้อมูล

1. การหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80

2. เปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน และหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร โดยวิเคราะห์จากคะแนนการประเมินก่อนเรียน และคะแนนการประเมินหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติหาคุณภาพของเครื่องมือใช้ IOC หาค่าความสอดคล้องของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เก็บรวบรวมข้อมูลจากการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน และใช้ หาค่าความเที่ยงของแบบประเมิน สถิติบรรยาย ได้แก่ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยสถิติ หาคุณภาพนวัตกรรม ใช้ / หาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร สถิติอ้างอิงใช้ (t-Test) แบบไม่อิสระเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร

สรุปผลการวิจัย

1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการประกอบอาหาร ( / ) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.68/85.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้

2. ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรม ประกอบอาหารสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

อภิปรายผลการวิจัย

จากผลการวิจัย สามารถอภิปรายผลได้ตามลำดับหัวข้อต่อไปนี้

1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.68/85.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เนื่องจากชุดกิจกรรมประกอบอาหารที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ได้ผ่านการวิเคราะห์เนื้อหา การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ และมีลำดับขั้นตอนการทำกิจกรรมที่ชัดเจน มีการทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง การจัดประสบการณ์ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จึงเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้ทำงานกับเครื่องปรุงและวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร โดยการ ใช้มือและนิ้วมือหยิบ จับ อุปกรณ์ต่าง ๆ การตัก การคน เครื่องปรุงหรือส่วนผสมของอาหาร การนวด คลึง ปั้น แกะ ฉีก ตัดด้วยกรรไกร ได้ตอกไข่ ตีไข่ พับแผ่นเกี๊ยว ม้วนแผ่นเกี๊ยว ละเลง ลูบไล้ ในขณะประกอบอาหาร จนพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กให้สูงขึ้นได้ในที่สุด สอดคล้องกับงานวิจัยของ ดวงฤดี มะทะการ (2550 : 27 - 28) ที่ได้วิจัยเรื่อง ชุดกิจกรรมการเตรียมความพร้อม ทางวิทยาศาสตร์โดยใช้กิจกรรมศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า การสร้าง และหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเตรียมความพร้อมทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวนทั้งหมด 10 ชุด มีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยเท่ากับ 76.95/79.7 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 70/70 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุดกิจกรรม มีผลทำให้นักเรียนเข้าใจ และเกิดทักษะการเรียนรู้อย่างแท้จริง เนื่องจากนักเรียนได้ทำกิจกรรม ด้วยตนเอง ได้ลงมือปฏิบัติจริง และสอดคล้องกับงานวิจัยของ นวพร เรืองสมบัติ (2553 : 70 - 71) ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การสร้างชุดกิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย ผลการวิจัยพบว่า ชุดกิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยมีประสิทธิภาพ 89.10/88.83 ซึ่งแสดงว่าชุดกิจกรรม ทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมความฉลาดทางอารมณ์ให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากชุดกิจกรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นได้ผ่านการวิเคราะห์เนื้อหา มีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ที่ชัดเจน และมีลำดับขั้นตอนการทำงาน มีการทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง กิจกรรมในชุดกิจกรรม เน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ อาศัยหลักการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้จากประสบการณ์เดิม และเรียนรู้จากการปฏิบัติ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

2. ผลการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร โดยการเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของเด็กปฐมวัยก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร พบว่า คะแนนความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 20.36 คะแนน และมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 25.76 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน พบว่า ค่าทีที่คำนวณได้มีค่าเท่ากับ 6.877 ซึ่งสูงกว่าค่าทีจากตาราง ที่มีค่าเท่ากับ 2.495 จึงสรุปได้ว่า คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ แสดงให้เห็นว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหารที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สามารถพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยให้สูงขึ้นได้ เป็นเพราะว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เปิดโอกาสให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรงในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือและสายตา จากการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือและสายตาทำงานร่วมกันกับสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ในการประกอบอาหารที่หลากหลาย ซึ่งเป็นอาหารที่ง่าย น่าสนใจ และมีรสชาติอร่อย จึงมีผลทำให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของ ทำเนียบ เพียงตา (2556 : 46) ที่กล่าวว่า การจัดกิจกรรมประกอบอาหารเป็นการจัดกิจกรรมที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติการทดลองประกอบอาหารจากของจริงในหลายรูปแบบ ให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัส ในการเรียนรู้ เรียนรู้กระบวนการทำงาน มีการสร้างองค์ความรู้ และปฏิบัติกิจกรรมได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับงานวิจัยของจุฑามาศ เรือนก๋า (2553 : 42) ที่พบว่า สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ และกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม ซึ่งช่วยให้การดำเนินกิจกรรม เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ และสอดคล้องกับข้อสังเกตที่ได้จากการศึกษาของ ศรินยา ทรัพย์วารี (2552 : 74) ที่พบว่า การเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ของจริง ได้ลงมือกระทำกับสื่อ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทำให้เกิดความสนใจ ตั้งใจ มีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม จะเห็นว่ากิจกรรมประกอบอาหารในชุดกิจกรรมแต่ละชุด ล้วนมีความหมายต่อตัวเด็ก เพราะเมื่อประกอบอาหารเสร็จ เด็กจะได้รับประทานอาหารที่ทำมาจากฝีมือของเด็กเอง จึงทำให้เด็กมีความสนใจ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และลงมือทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจ ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้อง กับปรัชญาการศึกษาของ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่กล่าวว่า เด็กเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือปฏิบัติ จึงควรจัดให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของ เด็กและผู้ใหญ่ สอดคล้องกับแนวคิดของสมกมล บุญมี (2551 : 11-12) ที่กล่าวว่า การจัดประสบการณ์การประกอบอาหารช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อเล็กของเด็กจากการหั่น ล้าง ปั้น คลึง นวดแป้ง การบด การผสม การคลุกอาหาร สอดคล้องกับ การใช้ชีวิตประจำวัน และธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ที่มีความอยากรู้อยากเห็น สนใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สอดคล้องกับแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2548 : 52) ที่กล่าวว่า การจัดประสบการณ์ควรจัด ให้เด็กได้ลงมือกระทำ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้เคลื่อนไหว สำรวจ เล่น สังเกต สืบค้น ทดลองและคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง

นอกจากนี้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารได้ถูกจัดหมวดหมู่เป็นชุด ตามลักษณะของการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตาทำงาน ทั้งนี้เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือและสายตาในแต่ละอย่างให้เพียงพอต่อการพัฒนา เช่น ในชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 เรื่อง นวด คลึง ปั้น หรรษาพาอร่อย กิจกรรมประกอบอาหารในชุดนี้ เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ ในการนวด คลึง และปั้นแป้งหรือเครื่องปรุงอื่น ๆ ให้มีรูปร่างตามชนิดของอาหาร ซึ่งวัสดุหรือเครื่องปรุงอาหารแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น ขนมไข่นก เด็กจะได้ปั้นแป้งผสมกับมันเทศบด ซึ่งจะมีเนื้อแป้งที่นุ่มเหนียวและเนียน ซึ่งง่ายต่อการปั้น ให้เป็นก้อนกลม ๆ การทำขนมกะลอจี๊ เด็กก็จะได้ปั้นแป้งให้เป็นก้อนกลม ๆ ก่อนที่จะใช้ฝ่ามือกด ให้แบนเล็กน้อย ซึ่งเด็กจะต้องรู้จักควบคุมน้ำหนักแรงกดของฝ่ามือ เพื่อไม่ให้แป้งหนาหรือบางจนเกินไป การทำขนมไข่ปลา เด็กจะได้ฝึกคลึงแป้งให้เป็นเส้นยาว ๆ และปลายเรียวแหลมทั้งสองด้าน การนวด การคลึง และการปั้นแป้ง หรือส่วนประกอบเครื่องปรุงของอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะข้าวปั้นปลาทอด ทอดมันรวมมิตร มันบดทอดปูอัด ลักษณะของเครื่องปรุงจะแตกต่างออกไปจากขนมไข่นก ขนมกะลอจี๊ และขนมไข่ปลา เพราะส่วนผสมเกิดจากการผสมเครื่องปรุงหลาย ๆ อย่าง ที่เนื้อไม่ได้เนียนละเอียดเหมือนกับแป้ง จึงให้ความรู้สึกในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ทุกกิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตา ในการนวด คลึง และปั้นในลักษณะเดียวกัน ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ชุดที่ 2 เรื่อง ตอก ๆ ตี ๆ ไข่นี้แสนอร่อย กิจกรรมในชุดนี้ ทำให้เด็กได้มีโอกาสตอกไข่และตีไข่ผสมกับเครื่องปรุงด้วยตนเอง เป็นการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตากระทำซ้ำ ๆ ในลักษณะเดียวกัน ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ชุดที่ 3 เรื่อง ฉีก แกะ ตัด ทอด ๆ ผัด ๆ สุดแสนอร่อย มีกิจกรรมจำนวน 8 กิจกรรม กิจกรรมประกอบอาหารในชุดนี้ เด็กจะได้มีโอกาสใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตา ในการฉีก การแกะ และใช้กรรไกรตัดเครื่องปรุงหรือส่วนผสมของอาหาร เด็กจะได้ใช้นิ้วมือฉีกปูอัด เนื้อหมู เห็ดนางฟ้าให้เป็นเส้น การแกะเมล็ดข้าวโพดออกจากฝัก การใช้กรรไกรตัดแผ่นเกี๊ยว แผ่นมัน แผ่นเผือก แผ่นฟักทองให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ชุดที่ 4 เรื่อง ตัก ปาด พับ ม้วน ชวนอร่อย กิจกรรมในชุดนี้ทำให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตา ในการหยิบจับช้อนเพื่อตักเครื่องปรุง วางลงบนแผ่นเกี๊ยว แผ่นขนมปัง หรือแครกเกอร์ ได้ฝึกการพับ ม้วน แผ่นเกี๊ยวให้เป็นรูปร่างตามที่กำหนด การใช้นิ้วมือจุ่มน้ำแล้วลากเป็นรูปวงกลม หรือลากเป็นเส้นตรงบนแผ่นเกี๊ยว การจับแปรงทาไข่บนขอบขนมปัง จะเห็นว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหารทั้ง 4 ชุด เปิดโอกาสให้เด็กปฐมวัยได้ฝึกพัฒนาความแข็งแรง และเสริมสร้างความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี ผ่านการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และการลงมือปฏิบัติจริง จากความต้องการภายในของเด็กเอง เพราะกิจกรรมประกอบอาหาร เป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่ ดึงดูดความสนใจของเด็ก สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในวัยนี้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง ได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตาซ้ำ ๆ จนพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กให้สูงขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด ของนิติธร ปิลวาสน์ (2557 : ออนไลน์) ที่กล่าวว่า เด็กจะได้รับการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ จากกิจกรรมประกอบอาหาร เช่น การประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือและตา จากการที่เด็กได้หั่นผัก ตักน้ำตาลหรือเกลือใส่ลงในกระทะ เทเครื่องปรุงทั้งหมดลงในหม้อ การเทน้ำส้มลงไปในแก้ว การปั้นแป้งทำขนมบัวลอย กิจกรรมต่าง ๆ นี้เป็นเรื่องของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้เป็นอย่างดี และสอดคล้องกับแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการ (2548 : 54) กุลยา ตันติผลาชีวะ (2551 : 104) และนลินี เชื้อวนิชชากร (2555 : 156) ที่กล่าวว่า การส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยนั้น สามารถทำได้โดยให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะในการใช้มือหยิบจับ สัมผัส กับวัตถุ สื่อ และอุปกรณ์ที่หลากหลาย ตลอดจนการเคลื่อนไหวของมือ ให้ประสานสัมพันธ์กัน เช่น ทำกิจกรรมศิลปะ เล่นเกมการศึกษา ช่วยเหลือตนเองทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

จากที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เป็นนวัตกรรมที่เหมาะสม ในการใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี เพราะเปิดโอกาสให้เด็กรับประสบการณ์ตรง จากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ได้ลงมือกระทำกับสื่อ วัสดุ เครื่องปรุง และอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า

ตาได้ดู หูได้ฟัง มือได้สัมผัส ลิ้นได้ชิมรส และจมูกได้ดมกลิ่นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กมีโอกาส ได้ใช้มือ นิ้วมือ และสายตาในการประกอบอาหารทั้งคาวและหวานอย่างหลากหลาย ส่งผลให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารสูงขึ้นกว่าก่อนเรียน

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้

1. จากผลการวิจัยที่พบว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหาร สามารถพัฒนาความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยให้สูงขึ้นได้ ครูจึงควรนำชุดกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้และเลือกใช้วัสดุเครื่องปรุงที่มีในท้องถิ่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง หรืออาจจะให้เด็กหรือผู้ปกครองมีส่วนร่วมจัดหาวัสดุเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร

2. ในขั้นตอนการปรุงอาหารให้สุกซึ่งต้องใช้ความร้อน ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยสูง การจัดวางควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเด็ก ครูควรจะเป็นผู้ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หรือครูเป็นผู้ลงมือทำเองเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

3. หากมีขั้นตอนที่ต้องใช้ของมีคม เช่น มีด หรือกรรไกร จะต้องมีข้อตกลงหรืออธิบายขั้นตอนในการใช้ให้เด็กเข้าใจจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

4. การสร้างข้อตกลงในการประกอบอาหาร เนื่องจากการประกอบอาหารเป็นกิจกรรม ที่ต้องอาศัยขั้นตอนที่ชัดเจน การกำชับเรื่องข้อตกลงและวินัยขณะปฏิบัติกิจกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ข้อเสนอแนะในการในการวิจัยครั้งต่อไป

1. ควรนำชุดกิจกรรมการประกอบอาหารที่สร้างขึ้น ไปทดลองใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการ ด้านอื่น ๆ เช่น พัฒนาการทางภาษา พัฒนาการทางสังคม เป็นต้น ซึ่งจะได้ทราบว่าชุดกิจกรรมการประกอบอาหารมีผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ หรือไม่เพียงใด เพื่อจะได้สร้างชุดกิจกรรมประกอบอาหารให้เหมาะสมกับพัฒนาการในเรื่องดังกล่าวได้

2. ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย กับการใช้นวัตกรรมในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อจะได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ที่หลากหลายขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเด็กให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546.

กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

________. (2548). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 (สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี).

พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

________. (2550). คู่มือดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ สำหรับครูและศึกษานิเทศน์. นครปฐม: สถาบันพัฒนาครู

คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา.

กุลยา ตันติผลาชีวะ. (2551). การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย.

กรุงเทพฯ: เบรน-เบส บุ๊คส์.

จุฑามาศ เรือนก๋า. (2553). การสร้างชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

สำหรับเด็กปฐมวัย. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ และคณะ. (2553). ระบบสื่อการสอน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นวพร เรืองสมบัติ. (2553). การสสร้างชุดกิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย.

วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ยุทธ ไกยวรรณ์. (2545). พื้นฐานการวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สุวีริยาศาส์น.

โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม. (2554). หลักสูตรสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546

(ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554). ชุมพร.

________. (2556). รายงานประจำปีของสถานศึกษา Self Assessment Report : SAR

ระดับปฐมวัย ประจำปีการศึกษา 2556. ชุมพร

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

อายุ 3-5 ปี ตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย. กรุงเทพฯ: พริกหวาน

กราฟฟิค.

________. (2555). รายงานผลการติดตามและประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา

เด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ระยะยาว พ.ศ. 2550-2559 ช่วงครึ่งแผน พ.ศ. 2550-2555.

กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิคจำกัด.

สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ. (2551). 20 วิธีจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม

ค่านิยมการเรียนรู้โดยการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ:

โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.

โพสต์โดย นรา : [19 ต.ค. 2559 เวลา 10:59 น.]
อ่าน [9180] ไอพี : 202.29.178.242
หากข้อความนี้ไม่เหมาะสม คลิก คลิกปุ่มนี้ หากเห็นว่าข้อความนี้ไม่เหมาะสม
 
 

โพสต์โดย

คุณ -

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เปิดอ่าน 23,786 ครั้ง
กระบอกน้ำสแตนเลสกับกระบอกน้ำอลูมิเนียม แบบไหนปลอดภัยมากที่สุด ?
กระบอกน้ำสแตนเลสกับกระบอกน้ำอลูมิเนียม แบบไหนปลอดภัยมากที่สุด ?

เปิดอ่าน 9,891 ครั้ง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไขข้อสงสัยทุกคำถามที่อยากรู้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไขข้อสงสัยทุกคำถามที่อยากรู้

เปิดอ่าน 9,624 ครั้ง
ชื่นชมลูก ช่วยพัฒนา
ชื่นชมลูก ช่วยพัฒนา

เปิดอ่าน 163,220 ครั้ง
งานแกะสลักไม้
งานแกะสลักไม้

เปิดอ่าน 74,763 ครั้ง
รับชมย้อนหลัง รายการ เคลียร์ คัด ชัดเจน ตอน "โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล" โดย ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.
รับชมย้อนหลัง รายการ เคลียร์ คัด ชัดเจน ตอน "โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล" โดย ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.

เปิดอ่าน 23,219 ครั้ง
ความวุ่นวายของการรายงาน จนครูไม่เป็นอันสอน
ความวุ่นวายของการรายงาน จนครูไม่เป็นอันสอน

เปิดอ่าน 14,187 ครั้ง
วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม
วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม

เปิดอ่าน 19,657 ครั้ง
ขยันอย่างไร?...จึงจะประสบความสำเร็จ
ขยันอย่างไร?...จึงจะประสบความสำเร็จ

เปิดอ่าน 3,433 ครั้ง
Toyota Yaris 2022 เพื่อนซี้โฉมใหม่ที่ลงตัวมากกว่าเดิม
Toyota Yaris 2022 เพื่อนซี้โฉมใหม่ที่ลงตัวมากกว่าเดิม

เปิดอ่าน 13,972 ครั้ง
เตือน! โทรไม่ติดวางสายก่อน 6 วิ ไม่งั้นเสียเงิน
เตือน! โทรไม่ติดวางสายก่อน 6 วิ ไม่งั้นเสียเงิน

เปิดอ่าน 12,828 ครั้ง
สมองเสื่อมหรือ... ขี้ลืมธรรมดาๆ
สมองเสื่อมหรือ... ขี้ลืมธรรมดาๆ

เปิดอ่าน 89,454 ครั้ง
ประวัติย่อของคณิตศาสตร์ : พีธาคอรัส (Pythagorus)
ประวัติย่อของคณิตศาสตร์ : พีธาคอรัส (Pythagorus)

เปิดอ่าน 32,668 ครั้ง
รู้จัก "อีบิดดิ้ง-อีมาร์เก็ต" ระบบจัดซื้อ "พันธุ์ใหม่"
รู้จัก "อีบิดดิ้ง-อีมาร์เก็ต" ระบบจัดซื้อ "พันธุ์ใหม่"

เปิดอ่าน 15,221 ครั้ง
ชาอู่หลง ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ
ชาอู่หลง ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ

เปิดอ่าน 26,403 ครั้ง
อนาคตหนังสือเรียนไทยในยุคก้าวไกลของ IT
อนาคตหนังสือเรียนไทยในยุคก้าวไกลของ IT

เปิดอ่าน 18,851 ครั้ง
ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
เปิดอ่าน 11,153 ครั้ง
เตือนเด็กต่ำกว่า 16 ใช้มือถือ เสี่ยง 5 เท่า เนื้องอกสมอง
เตือนเด็กต่ำกว่า 16 ใช้มือถือ เสี่ยง 5 เท่า เนื้องอกสมอง
เปิดอ่าน 12,343 ครั้ง
ปรับลดเวลาเรียนเป็นสิ่งที่ดีมาก...ถ้าปรับหลักสูตรด้วย
ปรับลดเวลาเรียนเป็นสิ่งที่ดีมาก...ถ้าปรับหลักสูตรด้วย
เปิดอ่าน 36,917 ครั้ง
พัฒนาการทางเทคโนโลยีการศึกษา
พัฒนาการทางเทคโนโลยีการศึกษา
เปิดอ่าน 13,259 ครั้ง
"อัญชัน"..ผมงามและช่วยในการมองเห็น - ดินดีสม เป็นนาสวน
"อัญชัน"..ผมงามและช่วยในการมองเห็น - ดินดีสม เป็นนาสวน

รายการหลัก

หน้าแรก
ข่าว/บทความ
สมุดเยี่ยม
กระดานสนทนา
เว็บลิงค์
ผู้จัดทำเว็บครูบ้านนอก
ข้อมูลบุคคล
ภาพกิจกรรม
ผู้สนับสนุน

สมาชิก

เข้าสู่ระบบ
คุณครูต้องรู้ไว้
รวมแบบฟอร์มต่างๆ

เว็บน่าสนใจ

เว็บไซต์ สพฐ.
กระทรวงศึกษาธิการ
เครื่องมือวิทยาศาสตร์
เครื่องมือวัด
เครื่องมืออุตสาหกรรม
เกมส์
แหล่งรวมเกมส์

แหล่งรวมเกมส์
สพป.มุกดาหาร



 เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ คลายเครียด

เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้
      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ