ชื่อผู้วิจัย นายพูนสิทธิ์ บุตรเสน
สถานที่ดำเนินการวิจัย โรงเรียนบ้านไทรงามโนนภูดิน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ เขต 1
ปีที่วิจัย 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงทดลอง (One Group Pretest - Posttest Design)
มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลการเรียนของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังเรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านไทรงามโนนภูดิน จำนวน 35 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จำนวน 7 ชุด 2) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนในชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จำนวน 7 ชุด ชุดละ 10 ข้อ เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก รวมจำนวน 70 ข้อ 3) แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 7 แผนการจัดการเรียนรู้ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scales) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ E1/E2 ค่าความเที่ยงตรง ค่าความยาก ค่าอำนาจจำแนก และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยสถิติทดสอบ Dependent samples t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1) ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80 คือ มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 91.16/91.03
2) ดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เท่ากับ 0.7308 แสดงว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น 0.7308 หรือคิดเป็นร้อยละ 73.08
3) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจเท่ากับ 4.09 อยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน มีความพึงพอใจมากที่สุด เท่ากับ 4.24 อยู่ในระดับ มาก รองลงมาคือ ด้านชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เท่ากับ 4.04 อยู่ในระดับ มาก และน้อยที่สุดคือ ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ เท่ากับ 4.00 อยู่ในระดับ มาก