.....เทคนิคการสอนแบบโครงงานอย่างง่าย
ตอนการออกแบบโครงงาน
การสอนแบบกิจกรรมโครงงานคุณครูอาจเกิดความไม่มั่นใจว่าจะเริ่มต้นกันอย่างไร เริ่มที่ตรงไหน ข้าพเจ้าขอนำเสนอการออกแบบโครงงานอย่างง่าย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการออกแบบการทำโครงงานเป็นการออกแบบ รูปแบบโครงงานที่ทำ ประกอบด้วย ขั้นตอนต่างๆ อย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นการวางแผนรูปแบบการสอนแบบโครงงาน ที่ครูผู้สอนแต่ละคนจะพิจารณาตามความเหมาะสม ในการนำเสนอครั้งนี้จะขอเสนอ 6 ขั้นตอน และขอชี้แจงเกี่ยวกับ ความหมายของแต่ละหัวข้อ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การคิดและเลือกหัวข้อเรื่องการตั้งชื่อโครงงาน
ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบการทำโครงงาน การวางแผนรูปแบบโครงงานที่ทำประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
1. การตั้งชื่อโครงงาน
2. การเขียนความเป็นมาของโครงงาน
3. การเขียนวัตถุประสงค์ของโครงงาน
4. การเขียนแผนผังความคิดของโครงงานแบบWeb
5. การเขียนแผนผังโครงงานแบบตาราง
6. การเขียนขั้นตอนการดำเนินการ
7. การเขียนผลการศึกษา
8. การเขียนประโยชน์ที่ได้รับ
9. วิธีการนำเสนอผลการศึกษา
10. การเขียนแหล่งอ้างอิง
11. การเขียนความรู้สึกที่มีต่อการทำโครงงานชิ้นนี้
ขั้นตอนที่ 3 การลงมือทำโครงงาน ลงมือปฏิบัติงานตามที่วางแผนไว้ในขั้นตอนที่ 2
ขั้นตอนที่ 4 การเขียนรายงานโครงงาน เขียนรายงานโครงงานจากข้อมูลที่ไปศึกษาค้นคว้ามาตรวจสอบกับสมมุติฐานลงในแบบบันทึก
ขั้นตอนที่ 5 การนำเสนอผลงาน เขียนบรรยายวิธีการนำเสนอผลงาน
ขั้นตอนที่ 6 การวัดผลประเมินผล เขียนความรู้สึกที่มีต่อการทำโครงงานแลกเปลี่ยนตรวจสอบกับเพื่อน
ผู้ปกครอง ครู
คำชี้แจงเกี่ยวกับความหมายของแต่ละหัวข้อมีดังนี้
การตั้งชื่อโครงงาน กำหนดปัญหาหรือหัวข้อที่ต้องการศึกษาค้นคว้าคำตอบ ถ้าผู้เรียนระดับชั้นต้นๆควรจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ควรเป็นคำถามหรือข้อความที่กะทัดรัดชัดเจน สื่อความหมายได้ตรง ผู้อ่าน อ่านแล้วสนใจชวนให้ติดตามเนื้อหาสาระ
การเขียนความเป็นมาของโครงงาน หมายถึง กล่าวถึงสาเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้นักเรียนเกิดความสงสัย ใคร่รู้ อยากรู้คำตอบของสิ่งที่ต้องการศึกษา เป็นการอธิบายว่าเหตุใดจึงเลือกทำโครงงานชิ้นนี้ มีเหตุจูงใจอะไร มีความสำคัญอย่างไร มีหลักการหรือทฤษฎีอะไรที่เกี่ยวข้อง
การเขียนวัตถุประสงค์ของโครงงาน หมายถึง การกำหนดสิ่งที่ต้องการทราบว่าเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา ควรมีความหมายเฉพาะเจาะจง และสามารถวัดได้เป็นการบอกขอบเขตของงานที่จะทำได้ชัดเจนขึ้น คิดทบทวนไตร่ตรองหาเหตุผลประกอบการตัดสินใจว่าต้องการอะไรจากการทำโครงงานครั้งนี้ เขียนสิ่งที่ตนเองต้องการ พูดคุยกับเพื่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น
การเขียนแผนผังความคิดแบบ Web หมายถึง เป็นการเขียนเพื่ออธิบายจากหัวข้อใหย่สู่หัวข้อย่อยๆ ของแต่ละเรื่อง ปัญหาที่ต้องการศึกษา แตกแขนงให้เห็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกัน ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา
การเขียนแผนผังโครงงานแบบตาราง หมายถึง การนำตารางแผนผังโครงงานที่ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นเสมือนแผนการดำเนินงานโครงงานมาใส่ไว้เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของคำถาม สมมุติฐาน วิธีการศึกษา แหล่งศึกษา
คำถาม ดอกกุหลาบมีเกสรตัวผู้หรือไม่
สมมุติฐาน มีเพราะกุหลาบมีเมล็ดอยู่ในกระเปาะของดอก
วิธีการศึกษา สอบถามผู้รู้ค้นคว้าทดลองพิสูจน์จากของจริง
แหล่งศึกษา ผู้รู้ หนังสือเกี่ยวกับพืช ดอกกุหลาบจริง
ระยะเวลาที่ใช้ศึกษา กำหนดเป็นจำนวนวัน สัปดาห์ หรือเดือนแล้วแต่ความเหมาะสม
ผู้รับผิดชอบ กำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละหัวข้อให้ชัดเจน
การเขียนขั้นตอนการดำเนินงาน หมายถึง การบรรยายสภาพให้เห็นขั้นตอนการทำงานของนักเรียนตั้งแต่ต้นจนจบเป็นโครงงานสำเร็จ จะต้องอธิบายว่าออกแบบอย่างไร จะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง รวมทั้งระบุวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ ครูชี้นำให้ดังนี้
1. นักเรียนถามตัวเองว่ามีวิธีใดบ้างที่จะศึกษาเรื่องนั้นๆได้
2. นักเรียนเลือกวิธีการที่เหมาะสมและสามารถทำได้ในข้อจำกัดที่มีอยู่
3. กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการศึกษาและระยะเวลา
4. กำหนดวิธีการนำเสนอผลงาน
การเขียนผลการศึกษา หมายถึง คำตอบของคำถามที่ตั้งไว้แต่ละหัวข้อว่าหลังจากไปศึกษาแล้วได้
คำตอบว่าอะไร
การเขียนประโยชน์ที่ได้รับ หมายถึง การเขียนบรรยายความคาดหวังที่นักเรียนมีต่อโครงงาน การบรรยายผลที่ได้รับจากการศึกษาโครงงานชิ้นนี้ ว่าผู้ศึกษาได้ศึกษาแล้วตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ให้ประโยชน์ด้านใดบ้าง เช่น ได้รับความรู้เพิ่มขึ้น ได้ทราบคำตอบของปัญหาที่ศึกษาอย่างละเอียดชัดเจนจนเป็นที่พอใจ
วิธีการนำเสนอผลการศึกษา หมายถึง การนำผลการศึกษาออกเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่เหมาะสมกับเรื่องที่ศึกษาและมีความเป็นไปได้ ซึ่งผู้เรียนจะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลหรือผลสรุปของการศึกษาค้นคว้า อาจนำเสนอในรูปของรายงาน การจัดบอร์ดแสดงสิ่งที่ศึกษาท หรือการแสดงในรูปของละครหรือด้วยวาจา เป็นต้น
การเขียนแหล่งอ้างอิง หมายถึง หนังสือหรือเอกสารหรือบุคคลที่นักเรียนไปศึกษาค้นคว้า แล้วได้นำความรู้มาตอบคำถามของโครงงาน การเขียนเอกสารอ้างอิงควรบอกรายละเอียดที่จำเป็นให้ครบถ้วน เช่น
1. ถ้าเป็นหนังสือตำรา ต้องบอกชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ชื่อโรงพิมพ์ ปีพ.ศ.ที่พิมพ์ นักเรียนได้เขียนข้อมูลจากหน้าที่เท่าไร
2. ถ้าเป็นสิ่งพิมพ์ เช่น วารสาร หนังสือพิมพ์ ต้องบอกชื่อผู้เขียนคอลัมน์ ชื่อวารสารหรือหนังสือพิมพ์ วัน/เดือน/ปี ที่ตีพิมพ์
3. ถ้าเป็นบุคคล บอกชื่อ นามสกุล อายุ อาชีพ สถานที่ของผู้ที่สามารถติดต่อได้ ความชำนาญที่มี
การเขียนความรู้สึกที่มีต่อการทำโครงงานชิ้นนี้ หมายถึง ให้นักเรียนเขียนบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อนทำโครงงาน ขณะทำโครงงาน และหลังทำโครงงาน ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับ หรือความคาดหวังที่
นักเรียนมีต่อโครงงาน
เมื่อ คุณครู ได้ศึกษาทำความเข้าใจแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่ยากเกินความพยายามของท่าน และหากมีข้อสงสัยปรึกษาได้ที่ กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
ขอบคุณที่มาข้อมูล
Advertisement