ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การแถลงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ


ข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ 23 เม.ย. 2558 เวลา 19:55 น. เปิดอ่าน : 8,182 ครั้ง
การแถลงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ

Advertisement

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ รอบ 6 เดือน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2558 เวลา 10.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน และดำเนินการควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาไทยในระยะยาว โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ยึดนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินการ

โดยสรุปผลงานของกระทรวงศึกษาธิการที่สำคัญ 6 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ถือเป็นภารกิจหลัก โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งแก้ไขปัญหา

· การอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ โดยได้ดำเนินการเชิงรุกในการสำรวจไปในทุกเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาไปยังตัวนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งมีเป้าหมายให้ปีการศึกษา 2558 นี้ เป็นปีปลอดเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ รวมทั้งยังได้ปรับการเรียนการสอนภาษาไทยในชั้นเรียน โดยเน้นการแจกลูกสะกดคำให้เป็นไปตามหลักภาษาไทยที่ถูกต้อง เสริมด้วยการจัดทำแบบฝึกอ่านภาษาไทยให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ซึ่งได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการนิเทศเพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนให้กับครูทั่วประเทศ

· การปรับปรุงหลักสูตรและการทดสอบทางการศึกษา ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้นำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย เน้นการเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รวมทั้งปรับลดการทดสอบทางการศึกษา O-Net จากเดิม 8 กลุ่มสาระให้เหลือ 5 กลุ่มสาระ เพื่อให้การทดสอบให้เป็นไปตามความจำเป็นและยังคงมาตรฐานในระดับสากลไว้ โดย 3 กลุ่มสาระที่ลดลงไป ได้ให้โรงเรียนและสถานศึกษารับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

· การปรับลดกิจกรรมที่ดึงครูและนักเรียนออกจากห้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหาอย่างมากและส่งผลกระทบต่อเวลาเรียนของนักเรียนในชั้นเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการทบทวนกิจกรรมทั้งหมด และบูรณาการกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกันเข้าด้วยกัน รวมทั้งตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับหลักสูตรออกทั้งหมด ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีการศึกษาใหม่นี้ จะปรับกิจกรรมให้ได้เหลือร้อยละ 10 ของเวลาเรียนทั้งหมด

· การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยการจัดทำโครงการนำร่องกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปสู่พื้นที่การศึกษา 20 เขต 300 โรงเรียน ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดเอกภาพและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการศึกษา รวมทั้งได้จัด Reform Lab และ Coaching Lab เพื่อพัฒนาผู้บริหารในเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครูซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างมาก เนื่องจากแนวทางการปฏิรูปที่ตรงจุดมากที่สุด

2. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เรื่องนี้ เป็นปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ

· ขยายผลโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนได้รับประโยชน์แล้ว 15,369 โรง ครอบคลุมนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,015,974 คน และกำลังขยายผลการดำเนินโครงการไปสู่การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและมีความเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

3. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

ครู เป็นปัจจัยสำคัญของระบบการศึกษาไทย ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ดังนี้

· แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาที่มีความขาดแคลน โดยผลักดันให้คุรุสภาออกประกาศเพื่อกำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาวิชาชีพที่ขาดแคลน ซึ่งจะเป็นการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีคุณวุฒิสาขาขาดแคลนสามารถขอหนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพจากคุรุสภาสำหรับใช้ในการสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด

· ปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายและการเลื่อนวิทยฐานะ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้กับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้ครูใช้เวลาในการสอนมากกว่าการใช้เวลาไปกับการทำผลงานทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพของตน

· ปรับปรุงระบบการพัฒนาครู โดยพัฒนาระบบการพัฒนาครูจากเดิมที่มุ่งเน้นการจัดการฝึกอบรมตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์น้อยและสิ้นเปลืองงบประมาณ มาเป็นระบบการจัด Coaching Team ไปทำการฝึกอบรมให้กับครูในพื้นที่โดยตรง ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงรุกและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมากกว่า

· พัฒนาระบบการผลิตครู กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อนำโครงการคุรุทายาทกลับมาใช้ใหม่ โดยพัฒนาให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้ในระยะยาว

· การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้สินขั้นวิกฤต โดยจะช่วยประสานให้ผู้เกี่ยวข้องชะลอการฟ้องรองดำเนินคดี การบังคับคดี และให้มีการชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเป็นเวลา 3 ปีโดยพักดอกเบี้ย ระยะปานกลาง เป็นการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้วิกฤติหรือมีหนี้ค้างมากกว่า 12 เดือน และระยะยาว เป็นการช่วยเหลือผู้ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี โดยการพิจารณาลดดอกเบี้ย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงินและสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตที่ดี



4. การผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาประเทศ

ในอนาคตกำลังคนสายอาชีวศึกษาและสายเทคโนโลยีจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจากทิศทางของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับ Mega Project ที่สำคัญ เช่น ระบบราง ระบบการบริหารจัดการน้ำ และระบบเศรษฐกิจดิจิตอล นั้น เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเพิ่มกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนี้

· ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการจัดการศึกษาทวิภาคี เพื่อผลิตกำลังคนอาชีวศึกษารองรับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยการขยายผลการดำเนินงานตามกรอบงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู รวมทั้งเพิ่มทักษะวิชาชีพให้แก่นักเรียน โดยการฝึกอาชีพตามหลักสูตร และฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน

· จัดหลักสูตรการศึกษาแบบทวิศึกษา โดยจัดหลักสูตรสายสามัญควบคู่สายอาชีพอาชีวศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะได้คุณวุฒิทั้งสองสาย โดยมีระยะเวลาการจบการศึกษาใกล้เคียงกับการเรียนตามหลักสูตรปกติ ซึ่งจะทำให้เป็นการส่งเสริมศักยภาพให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ รองรับการพัฒนา SMEs ของประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการศึกษาต่อ

· จัดทำและดำเนินโครงการทุนช่างเทคนิคและนักปฏิบัติ หรือ TTS (Technician & Technologist Scholarship) โดยการปรับเปลี่ยนจากโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือ ODOS เดิม ซึ่งจะเป็นการจัดสรรทุนให้กับผู้เรียนสายอาชีพ เพื่อส่งเสริมการศึกษาต่อรองรับการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการภาคเอกชน เขตเศรษฐกิจ และท้องถิ่น อย่างแท้จริง

· แก้ไขปัญหาความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษาสายอาชีวศึกษา โดยการจัดทำหลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา (Pre.Voc.Ed.) เพื่อให้นักเรียนก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาอาชีวศึกษาได้มีโอกาสพบปะและฝึกระเบียบวินัยและการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเบาใจ ลดความเป็นห่วง และส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

5. การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

เรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่ประสานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นและเป็นประธานกรรมการเอง ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางที่สำคัญ คือ

· ระยะเร่งด่วน กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนเป็นหลัก เนื่องจากการศึกษาและการเรียนรู้เกิดขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนโดยตรง

· ระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการจัดทำแนวทาง การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบโดยให้ความสำคัญกับ การปฏิรูปการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงระบบการทดสอบทางการศึกษา ระบบการผลิตและพัฒนาครู ปรับปรุงกฎหมายการศึกษา และพัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล ให้มีความทันสมัยและเอื้อต่อการจัดการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากในอนาคต

6. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

การพัฒนาด้านการศึกษาเป็นพื้นฐานและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับทุกเสาหลักของประชาคมอาเซียนทั้งเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง เสาหลักด้านเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น

· การวางยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไปจนถึงการดำเนินการภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรียกว่า Post 2015 โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาเซียนศึกษาในภูมิภาค 13 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมเสริมความรู้ทั้งด้านภาษาอาเซียน วัฒนธรรมและประเพณีอาเซียน รวมทั้งจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน อย่างต่อเนื่อง

· ระหว่างวันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2558 กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 48 ซึ่งจะมีรัฐมนตรีด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ และประเทศสมาชิกสมทบ 8 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 19 ประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสานความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกัน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาในระดับภูมิภาคและเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ

ผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการตามที่ได้กล่าวไปแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้กล่าวในที่นี้ และหมายรวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในกระทรวงให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน และมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ มีเป้าหมายสำคัญที่สุด ก็เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งหมายถึงการพัฒนาลูกหลานของเราให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้ มีกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการดำเนินชีวิต มีคุณธรรมจริยธรรม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งมีความพร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในประเด็นความพึงพอใจการบริหารงานขององค์กรหลัก โดยกล่าวว่า มีความพึงพอใจในการทำงานของทุกองค์กรหลัก เพราะเห็นถึงความทุ่มเทและเสียสละในการทำงาน โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งรับผิดชอบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนตลอดจนมีโรงเรียนกระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น ที่ผ่านมามีความทุ่มเทในการทำงาน ส่งผลให้งานสำเร็จหลายประการ เช่น การตั้งเป้าหมายให้ปีการศึกษา 2558 เป็นปีปลอดเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นต้น ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีความคืบหน้าการดำเนินงานในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตรการศึกษาแบบทวิศึกษา การจัดการศึกษาทวิภาคี ตลอดจนการจัดสหกิจศึกษาที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ติดตามและเฝ้ามองการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการวิจัย ทุนการศึกษาต่างๆ แต่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้านการบริหารงานมากนัก เพราะมีสภามหาวิทยาลัยบริหารงานอยู่แล้ว และสำหรับหน่วยงานอืนๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาเป็นอย่างดี

ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และองค์การค้าของ สกสค. ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากทั้ง 3 หน่วยงานมีความเกี่ยวข้องกับผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในแง่ของการดูแลจริยธรรมคุณธรรม การอบรมครู การออกใบประกอบวิชาชีพของคุรุสภา การดูแลสวัสดิการและขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สกสค. ส่วนองค์การค้าของ สกสค.ดำเนินการผลิตสื่อการเรียนการสอน หนังสือเรียนต่างๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้นและไม่ให้เกิดผลกระทบกับการศึกษาในอนาคต



ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับภาคเอกชนในการสร้างกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศในรูปแบบทวิภาคี ว่า ความร่วมมือดังกล่าวทำให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถส่งนักศึกษาอาชีวศึกษากว่า 60,000 คนเข้าไปทำงานในสถานประกอบการกว่า 8,000 แห่ง และนักศึกษาระดับอุดมศึกษากว่า 20,000 คน ในสถานประกอบการกว่า 10,000 แห่ง ดังนั้น ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มั่นใจว่าไม่ว่าจะเรียนอาชีวะหรืออุดมศึกษาก็จะได้รับการศึกษาที่ดี ตรงกับความต้องการงานของสถานประกอบการ และมีงานทำอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้ขอรับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ทั้งในด้านการจัดสหกิจศึกษาและทวิภาคีในสถานประกอบการต่างๆ การสร้างกำลังคนอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) และการพัฒนาด้านการถ่ายทอดและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา ในปี 2558 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้งรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ มาโดยตลอด โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต ตั้งพระนามรางวัลว่า ได้ดำเนินงาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” หรือ “Princess Maha Chakri Award” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมีการคัดเลือกครูเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลในเดือนตุลาคมนี้



พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ดำเนินการจัดงานแถลงข่าวผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ชื่อ “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” นั้น ขอรายงานความก้าวหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมจัดงานซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง



การจัดงาน "มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย" มีกำหนดจัดงานในห้วงเดือนพฤษภาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ และแผนงานการเดินหน้าประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยรูปแบบการจัดงานเป็นนิทรรศการมีชีวิต ประกอบด้วย 9 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน โซนที่ 2 การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โซนที่ 3 การพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการ โซนที่ 4 การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โซนที่ 5 การขยายโอกาสทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โซนที่ 6 การศึกษาเพื่ออาชีพ โซนที่ 7 การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โซนที่ 8 การศึกษาตามแนวทางพระราชดำริ โซนที่ 9 การศึกษาเดินหน้าประเทศไทย ทั้งนี้ ได้นำนิทรรศการโซนต่างๆ รูปแบบฉบับย่อมาจัดแสดงไว้ด้านหน้าห้องประชุมด้วย

 

 

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

 

DOWNLOAD ไฟล์แถลงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการในรอบ 6 เดือน


การแถลงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

:: เรื่องปักหมุด ::

ครม.อนุมัติร่างกฎ ก.ค.ศ.การให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)

ครม.อนุมัติร่างกฎ ก.ค.ศ.การให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)

เปิดอ่าน 25,301 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการการเมือง
ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการการเมือง
เปิดอ่าน 6,048 ☕ คลิกอ่านเลย

มาตรฐานตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษ ของครู-ผู้บริหารสถานศึกษา
มาตรฐานตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษ ของครู-ผู้บริหารสถานศึกษา
เปิดอ่าน 6,764 ☕ คลิกอ่านเลย

18 นโยบายหลักด้านการศึกษา
18 นโยบายหลักด้านการศึกษา
เปิดอ่าน 17,365 ☕ คลิกอ่านเลย

รมว.ศธ.มอบนโยบายก่อนเปิดภาคเรียน
รมว.ศธ.มอบนโยบายก่อนเปิดภาคเรียน
เปิดอ่าน 10,001 ☕ คลิกอ่านเลย

รมว.ศธ.มอบนโยบาย สพฐ.
รมว.ศธ.มอบนโยบาย สพฐ.
เปิดอ่าน 8,808 ☕ คลิกอ่านเลย

ครุศาสตร์  จุฬาฯ เชิญชมTeachers as Learners รายการเพื่อครูโดยเฉพาะ  เริ่ม 2 มิ.ย.นี้
ครุศาสตร์ จุฬาฯ เชิญชมTeachers as Learners รายการเพื่อครูโดยเฉพาะ เริ่ม 2 มิ.ย.นี้
เปิดอ่าน 8,550 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

6 วิธีสร้างเครดิตการเงินดี ขอสินเชื่อผ่านง่าย
6 วิธีสร้างเครดิตการเงินดี ขอสินเชื่อผ่านง่าย
เปิดอ่าน 10,424 ครั้ง

ชมคลิป "บัวขาว" ชนะน็อคยก 3 ศึกมวยไทยไฟต์ 2012 รอบแรก
ชมคลิป "บัวขาว" ชนะน็อคยก 3 ศึกมวยไทยไฟต์ 2012 รอบแรก
เปิดอ่าน 14,421 ครั้ง

โปรแกรม SnagIt
โปรแกรม SnagIt
เปิดอ่าน 25,960 ครั้ง

วิธีลดลอยแผลขรุขระบนใบหน้า
วิธีลดลอยแผลขรุขระบนใบหน้า
เปิดอ่าน 10,577 ครั้ง

นอร์แมน โจเซฟ วู้ดแลนด์ ผู้ร่วมคิดค้น"บาร์โค้ด" เสียชีวิตแล้ว วัย 91 ปี
นอร์แมน โจเซฟ วู้ดแลนด์ ผู้ร่วมคิดค้น"บาร์โค้ด" เสียชีวิตแล้ว วัย 91 ปี
เปิดอ่าน 12,100 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ